ไม่พบผลการค้นหา
องค์การเภสัชกรรม เสนอแนวทาง 4 ข้อ เพื่อปลดล็อก 'กัญชา' เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งสามารถนำมาต่อยอดเป็นนวัตกรรมยาได้ ด้านอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ย้ำประเทศไทยไม่ควรเสียเวลาอีกต่อไป

นายแพทย์โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ มอง 'กัญชา' เป็นยาเสพติดให้โทษเท่านั้น แต่เมื่อดูงานในประเทศแคนาดา ทำให้มุมมองต่อกัญชาเปลี่ยนไป เพราะ 'กัญชา' มีประโยชน์ทางการแพทย์มากมาย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวด ซึ่งในประเทศไทย มีผู้ป่วยกลุ่มนี้ 1- 2 แสนราย เช่น อาการเจ็บปวดจากการทำเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง และอาการลมชักในเด็กเล็ก นอกจากนี้ ยังสามารถนำมาต่อยอดเป็น 'นวัตกรรมยา' ได้อีกด้วย เนื่องจาก ตำรับยาแผนโบราณของไทย ก็มีส่วนประกอบคือ 'กัญชา'

สำหรับ 4 แนวทางปลดล็อก 'กัญชา' เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ คือ 

1. รอการพิจารณาประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งยังไม่แน่ใจว่า สนช. ชุดปัจจุบันจะประชุมทันหรือไม่ น่าจะเป็นแนวทางที่ช้าที่สุด  

2. สนช. กำลัง ร่างพระราชบัญญัติฯ ขึ้นมาใหม่อีกฉบับ หลังผลสำรวจพบว่า ประชาชนสนับสนุนให้ปลดล็อกกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งอาจจะร่างเสร็จสิ้นภายในเดือน ต.ค. 2561

3. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) จะเสนอนายกรัฐมนตรี ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งตามข่าวระบุว่า เตรียมนำเสนอวันพรุ่งนี้ (19 ต.ค.) 

4. คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ จะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศกำหนดเปลี่ยนเฉพาะ 'สารสกัดจากกัญชา' มาเป็นยาเสพติดประเภทที่ 2 เช่นเดียวกับ 'มอร์ฟีน' เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

หากใช้แนวทางนี้คาดว่าจะสามารถนำ 'สารสกัดจากกัญชา' มาทดลองใช้ได้ทันทีประมาณเดือน ม.ค. 2562 ซึ่งถือว่าเร็วที่สุด แต่อาจจะถูกค้านจากกลุ่มแพทย์แผนไทย เพราะสุดท้าย 'ใบกัญชา' ก็ยังถือเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายเหมือนเดิม

อย่างไรก็ตาม นายแพทย์โสภณ ยังไม่เห็นด้วยกับการเปิดเสรีกัญชาเพื่อสันทนาการ เพราะอาจมีปัญหาเรื่องการควบคุม และการใช้กัญชาเกินขนาด จึงอยากให้ดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป เน้นทางการแพทย์ในระยะต้น เพราะมีความจำเป็นต่อผู้ป่วยมากกว่า พร้อมยกตัวอย่าง กรณีของแคนาดา ที่ใช้เวลากว่า 17 ปี จึงจะเปิดเสรีกัญชาเพื่อสันทนาการ

ด้าน ศาสตราจารย์ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การปลดล็อก 'กัญชา' เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ถือเป็นอีกข้อพิสูจน์หนึ่งของรัฐบาล ว่าเห็นความสำคัญของผู้ป่วย หรือข้อความในกฎหมายมากกว่ากัน พร้อมย้ำว่า ประเทศไทย ไม่ควรเสียเวลาอีกต่อไปแล้ว เพราะหากยังไม่ปลดล็อก 'กัญชา' ก็จะทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสการรักษาไปทุกๆ นาที

'แคนาดา' กลายเป็นประเทศที่ 2 ในโลกใบนี้ ประกาศว่า การขายและเสพกัญชาเพื่อสันทนาการ สามารถกระทำได้อย่างถูกกฎหมาย ตั้งแต่วันพุธที่ผ่านมา (17 ต.ค.) ก่อนหน้านี้ อุรุกวัย เป็นชาติแรกที่อนุญาติให้การเสพกัญชาถูกกฎหมาย โดยรัฐบาลแคนาดา หวังว่า จะลดการขายและการเสพอย่างผิดกฎหมาย และผลักดันให้คนซื้อจากผู้ขายที่ถูกกฏหมาย

สำนักงานสถิติแห่งชาติแคนาดา ระบุว่า ปีนี้จะมีชาวแคนาดารวม 5.4 ล้านคน ซื้อกัญชาจากผู้จำหน่ายถูกกฎหมาย หรือร้อยละ 15 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ทั้งนี้ ชาวแคนาดาที่สูบกัญชา มีอยู่ทั้งสิ้น 4.9 ล้านคน

ทางด้าน นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีของแคนาดา เปิดเผยว่า เคยให้สัญญาในช่วงหาเสียงเมื่อ 3 ปีก่อน ในการออกกฎหมายฉบับนี้ โดยยืนยันว่า กัญชาไม่ดีต่อสุขภาพ ไม่ได้ดีต่อลูกหลาน แต่ต้องการให้กฎหมายนี้ควบคุม และปกป้องการจำหน่ายแบบผิดกฎ และตกไปอยู่ในมือของแก๊งอาชญากรรม จนควบคุมกันไม่ได้

เป็นที่คาดกันว่า การจำหน่ายกัญชาจะสร้างรายได้จากภาษี 400 ล้านดอลลาร์แคนาดา และกระตุ้นเศรษฐกิจแคนาดา ได้มากถึง 1,100 ล้านดอลลาร์แคนาดา สำหรับกฎหมายระบุว่า ชาวแคนาดาซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 หรือ 19 ปี จะซื้อกัญชาได้ 30 กรัม และปลูกกัญชาเองที่บ้านได้ 4 ต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง