ไม่พบผลการค้นหา
ตัวแทนองค์กร Protection international ปกป้องสิทธิเยาวชนที่จะทำกิจกรรม "ชูสามนิ้ว-ผูกโบว์ขาว-โชว์กระดาษเปล่า" ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา พร้อมระบุการห้ามเยาวชนทำกิจกรรมโดยปรามทั้งทางวาจาและร่างกาย อาจเข้าข่ายขู่เข็ญ-ใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น

ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน Protection international (PI) เปิดเผยว่า ต้องเข้าใจก่อนว่า การชูสามนิ้วไม่มีกฎหมายฉบับไหนกำหนดเป็นความผิด แต่หากพฤติกรรมของครูมีความรุนแรง เช่น ขู่ให้กลัว จะมีความผิดตาม ม.392 ซึ่งระบุว่า ผู้ใดทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัว หรือความตกใจ โดยการขู่เข็ญ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือ ขู่ให้หยุด ม. 309 ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี

"หากครูทำร้ายนักเรียนเจ็บน้อย ม.391 ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ครูทำร้ายนักเรียนถ้าเราเจ็บเยอะ ม. 295 ผู้ใดทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับเป็นกฎหมายอาญาทั้งหมด" ปรานม กล่าว

ปรานม กล่าวว่า ถ้าอยากเรียกค่าเสียหายเป็นเงินด้วย ตามมาตรา 420 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น หรือการที่ ส.ส.ออกมาประกาศมีรางวัลให้ครูหลังจากตบนักเรียนชูสามนิ้ว ก็ผิดกฎหมายอาญา มาตรา ตาม ป.อ. มาตรา 84 นั้น เพียงใช้คำพูดยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นเกิดฮึกเหิมกระทำความผิดโดยมิได้เข้าร่วมกระทำความผิดด้วยก็เป็นผู้ใช้ตาม ป.อ. มาตรา 84 มาตรา 84 ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วานหรือยุยงส่งเสริมหรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำ หรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

เยาวชนเคลื่อนไหวมีรับรองไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

เมื่อถามว่า มองปรากฏการณ์แสดงออกของเยาวชนอย่างไร ปรานม กล่าวว่า อย่างแรกต้องเข้าใจปรากฏการณ์นี้ว่า เป็นปรากฏการณ์ที่ดีที่เยาวชนแสดงออก อย่างที่เราเรียกว่าปฏิบัติการ “ทวงคืนประชาธิปไตยและความยุติธรรมหน้าเสาธงและในโรงเรียน ซึ่งได้ถูกรับรองไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กหลายข้อ ที่ชัดคือข้อที่ 13.1 ซึ่งเด็กจะมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก สิทธินี้จะรวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา ได้รับ หรือถ่ายทอดข้อมูล ข่าวสาร และความคิดทุกลักษณะ โดยไม่ถูกจำกัดโดยเขตแดน ไม่ว่าจะโดยวาจา ลายลักษณ์อักษร หรือการตีพิมพ์ ในรูปศิลปะหรือผ่านสื่ออื่นใดตามที่เด็กเลือก และข้อ 37 ข) จะไม่มีเด็กคนใดถูกลิดรอนเสรีภาพโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือโดยพลการ คือ ไม่ให้ครูและสถาบันการศึกษาละเมิดสิทธิเด็ก

"การแสดงออกเชิงสร้างสรรค์ของเยาวชนเป็นสิ่งที่ควรถูกพูดถึงในแง่ความดีงาม เพราะเยาวชนกำลังทำหน้าที่พลเมืองที่ตื่นตัวต่อปัญหาที่ตนเองหรือพ่อแม่ครอบครัวและเพื่อนๆ ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นปัญหาของสังคมและประเทศชาติ เราควรจะภูมิใจและส่งเสริมด้วยซ้ำไป แทนที่จะทำให้ด้อยค่า ตำหนิหรือ แม้กระทั่งทำผิดกฎหมายด้วยการลงโทษและใช้ความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชน โรงเรียนและครูควรจัดพื้นที่การแสดงออกและส่งเสริมการใช้สิทธิพลเมืองและสิทธิมนุษยชนไปเลย เช่น หากครูไม่เห็นด้วยก็ควรจัดการโต้วาทีกับนักเรียน จัดกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดการพูดคุย อาทิ ห้องเรียนประชาธิปไตย หรือพื้นที่อื่นๆ โมงยามการตื่นรู้ของครูและนักเรียนร่วมกัน" ปรานม กล่าว

เยาวชนเคลื่อนไหวทำกิจกรรมทางสังคมเป็นเทรนด์โลก

ปรานม กล่าวว่า ปรากฏการณ์แบบนี้เป็นเทรนด์ของโลกเรื่องการมีส่วนร่วมของเยาวชนตอนนี้ ในปี 2561 เราจะเห็นผู้ประท้วงหลายแสน ซึ่งนำโดยนักเรียนมัธยมคนพากันออกมาเดินขบวนตามท้องถนนในเมืองหลายแห่งทั่วสหรัฐฯ ในการรณรงค์ เรียกร้องให้รัฐบาลควบคุมการซื้อขายและครอบครองอาวุธปืนอย่างเข้มงวดขึ้น หลังเกิดเหตุกราดยิงในโรงเรียนหลายแห่งติดต่อกัน หรือเดือนมีนาคมปีนี้ที่ผ่านมา นักเรียนมัธยมที่ซิลีนำเดินขบวนประท้วงทั่วประเทศเรื่องโครงสร้างที่เหลื่อมล้ำภายในประเทศ

"หากเรามีพื้นที่ปลอดภัยให้เยาวชนสามารถแสดงออกอย่างสันติได้ จะได้ไม่โตไปแล้วไปสนับสนุนการทำรัฐประหารแล้วส่งผลให้มีระบบการเมืองที่ผู้ที่ทำรัฐประหารกลายพันธ์มาเป็นนักการเมืองที่ถลุงใช้งบประมาณ จนผู้คนต้องฆ่าตัวตายเพราะรัฐไม่ดูแล การเมืองที่ไม่มีระบบการตรวจสอบนักการเมือง เอาเวลาไปเอาอกเอาใจกลุ่มผลประโยชน์มากกว่าจะตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ประชาชาชนรู้สึกไม่มีอำนาจเบื่อหน่ายและ ถอยห่างจากการเมืองมากกว่าเดิม เราก็จะอยู่ในระบบการเมือง เศรษฐกิจและสังคมที่สร้างประโยชน์ให้แก่คนไม่กี่คนเหมือนที่เราเป็นอยู่ตอนนี้ จนประชาชนและคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาแสดงออกว่า #ให้มันจบที่รุ่นเรา " ปรานม กล่าว

ผู้ใหญ่ต้องเข้าใจและทบทวนว่าทำไมเยาวชนถึงออกมาเคลื่อนไหว

ปรานม กล่าวว่า ผู้ใหญ่ต้องเข้าใจโดยการเริ่มตั้งคำถามและทบทวนว่า ทำไมเยาวชนและนักเรียน นักศึกษาออกมาแสดงออก นักเรียนและเยาวชนอาจจะตระหนักว่าการใช้ชีวิตอย่าไร้เสรีภาพก็เท่ากับไร้ชีวิต เพราในทุกวันพวกเขาต้องอยู่ในระบบการศึกษาไทย ที่ไม่ได้ส่งเสริมระบบการสร้างตัวตนแห่งการเรียนความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพทั้งด้านอารมณ์ความรู้สึกและทักษะอื่นๆ ในชีวิต เพราะระบบการศึกษาแบบอำนาจนิยม เน้นการกล่อมเกลา ยิ่งเน้นเป้าหมายคือ ผลิตคนที่สยบยอมต่ออำนาจนิยมและทุนนิยม ยังสร้างให้นักเรียนที่จะต่อมาเป็นคนในสังคม คุ้นชินกับระบบการบังคับและถูกบังคับบัญชาตามลำดับชั้นบัญชา คล้ายอย่างมากกับระบบที่ใช้ในกองทัพและระบบราชการ เมื่อมีรัฐบาลที่อำนาจมาจากกองทัพและพอครูเป็นข้าราชการ ซึ่งถูกกล่อมเกลามาแบบอำนาจนิยมและเป็นผู้ใช้อำนาจเสียเอง เราเลยปรากฏการณ์ที่ครูบางคนเป็นผู้ใช้อำนาจและความรุนแรงในโรงเรียนกับนักเรียน ซึ่งโรงเรียนไทยมีปัญหาความรุนแรงมาก และไม่เคยมีการแก้ไขมาก่อนที่จะมีปรากฏการณ์นี้อีก

ปัญหาความรุนแรงพบได้ในกิจกรรมประจำวันของนักเรียนไทย

ปรานม กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงพบได้ในกิจกรรมประจำวันของนักเรียนไทย ตั้งแต่ระดับประถม-มหาวิทยาลัย รูปแบบหลักของกิจกรรมเหล่านี้คือการสั่งให้ทำและทำโทษหากไม่ทำตาม เช่น การแต่งกาย-ทรงผม, เข้าแถวเคารพธงชาติ, หรือ“วิธีการ” เรียนการสอนที่เน้นฟัง-เชื่อ นอกจากนี้ในกิจกรรมประกอบหลักสูตรอื่น เช่น พิธีไหว้ครู, เชียร์กีฬา, ลูกเสือ-เนตรนารี, ร.ด. กระทั่ง ในการรับน้องประชุมเชียร์ ก็ล้วนสอดแทรกหรือมีแนวโน้มไปในทิศทางของการกล่อมเกลาให้ยอมรับคำสั่ง – ทำตามผู้ออกคำสั่ง อย่างไม่ตั้งคำถาม หรือจำนนต่อการถูกบังคับเช่นเดียวกัน จะทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายเข้าใจสิทธิของเด็กรับฟังและทบทวนว่าเรามีส่วนในการสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติอย่างไร

"เราอาจจะไม่ต้องเข้าใจเด็กและเยาวชนทั้งหมดก็ได้ แต่เราร่วมกันเรียกร้องและปกป้องสิทธิเด็กในการมีส่วนร่วม แสดงออกและความเป็นพลเมืองอย่างเข้มข้นว่าจะต้องไม่มีใครต้องถูกคุกคาม ทำร้ายดูหมิ่นศักดิ์ศรี อุ้มฆ่า ถูกฟ้องร้องและการคุกคามในรูปแบบอื่น เพียงเพราะแสดงออกและชุมนุมบอกความต้องการของตนเองผู้ใหญ่ต้องเข้าใจและแก้ไขระบบอำนาจนิยมและขจัดความไม่เป็นประชาธิปไตยในโรงเรียนและในสังคมและประเทศไทยไปด้วย"

ปรานมยกตัวอย่างปรากฏการณ์มีการรายงานจากสื่อว่าฝั่งรัฐบาลออกมาโต้ว่าการชูสามนิ้ว เป็นการแสดงออกของลูกเสือ อันนี้คือ คิดว่าการตอบโต้เช่นนี้หากจริงของรัฐบาล เองกลายเป็นเด็กในแง่ของความไม่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ และเหตุผลและขาดทักษะในการรับฟัง ไม่เข้าใจการแสดงออกของคนรุ่นใหม่โดยใช้วัฒนธรรมป็อป และเบาบางทางสติปัญญาในการแก้ไขปัญหาที่เยาวชนเรียกร้อง เพราะบุคคลที่มีอำนาจในรัฐบาลอาจจะโตมาและกำลังใช้อำนาจแบบกล่อมเกลา ซึ่งชัดเจนว่าไม่ใช่ระบบการศึกษาที่เหมาะสมกับสังคมไทยตอนนี้

"ผู้ใหญ่เหล่านี้ต้องทบทวนและหาข้อผิดพลาดของตนเอง เช่น ภายหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ไม่ถึงเดือน คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศรื้อหลักสูตรการศึกษาใหม่ นัยว่าเพื่อให้สอดคล้องกับแนวนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยได้ประกาศให้วิชา “หน้าที่พลเมือง” เป็นวิชาบังคับ ต้องเรียน 40 ชั่วโมงต่อปีสำหรับเด็กระดับประถมถึงมัธยมต้น และ 80 ชั่วโมงต่อปีสำหรับเด็กมัธยมปลาย อันนี้คือข้อผิดพลาดผู้ใหญ่ทั้งหลายที่อยู่ในอำนาจควรแก้ไขและยอมรับผิดว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่เรื้อรังและสมควรที่จะยุติ การใช้อำนาจของตน เพราะเราไม่ได้ต้องการสังคมที่ผู้คนจำนน" ปรานม กล่าว

นอกจากนี้ ปรานมระบุด้วยว่าว่า เราต้องการพัฒนาสังคมที่ผู้คนมีความใส่ใจห่วงใจและแข็งขันกับการใช้สิทธิพลเมืองของตนเพื่อพัฒนาชีวิตของตัวเองและสังคมไปพร้อมๆ กันว่าท้ายที่สุดแล้ว สังคมไทยจะได้อะไรจากเรื่องนี้ ต้องมีการถอดบทเรียนอย่างไรบ้าง

"เราต้องอดทนอดกลั้น เพื่อจะที่หาทางออกในความขัดแย้ง เราต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจ สร้างพื้นที่ปลอดภัยปราศจากการคุกคามใดๆ เพื่อที่เราจะปฎิวัติทางวัฒนธรรมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมทางสังคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปลี่ยนแปลงและปลดปล่อยความกดดันและตึงเครียดที่เยาวชนคนรุ่นใหม่และผู้คนพบเจออยู่ในระบบที่สร้างความบีบคั้น เพราะการใช้ความรุนแรงเชิงอำนาจ วิกฤตเศรษฐกิจปัญหาปากท้อง การไม่ได้รัฐสวัสดิการการคุกคามแย่งชิงที่ดินและทำลายสิ่งแวดล้อมและภาวะโรคระบาดทั่วโลกทั้งหลายทั้งปวงตอนนี้"

สร้างกระบวนการเรียนรู้ของเยาวชนแบบสร้างตัวตน แทนกระบวนการกล่อมเกลาแบบอำนาจนิยม-ทุนนิยม

ปรานม กล่าวทิ้งท้ายว่า หากเป็นเรื่องการศึกษา ควรเป็นเรื่องการสร้างตัวตนแห่งการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน (learning subject) แทนกระบวนการกล่อมเกลาแบบอำนาจนิยมและทุนนิยม ต้องร่วมสร้างระบบแบบไหนที่ผู้เรียนต้องคิดเองได้ทำเองเป็น และสามารถสร้างความรู้ใหม่ได้ด้วยตนเองหลังสำเร็จการศึกษาเราจะมีสมาชิกใหม่ของสังคมเหล่านั้น ที่คิดเอง-แสวงหาความรู้ด้วยตนเองได้แล้ว ก็จะเป็นกลไกและพลังที่สำคัญที่จะตรวจสอบถ่วงดุลความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคมที่ดำรงอยูา ถึงจะเปลี่ยนผ่านและพัฒนาเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนทุกคนได้

"สิ่งหนึ่งที่อยากฝากไว้คือ หากเราปกป้องสิทธิและเสรีภาพเราต้องปกป้องสิทธิและเสรีภาพที่จะแสดงออกอย่างสันติ ของทุกคน ทุกเยาวชนและนักเรียน เราไม่ควรระทำการรุนแรงทางวาจาและการปฏิบัติ หรือการโพสต์บูลลี่ ไปล้อเลียน ทำให้ด้อยค่า หรือดูถูกการแสดงออกของเด็กและเยาวชนคนไหน ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่น้องเสนอ

อย่างเมื่อวาน มีการล้อเลียนดูถูกเรื่องน้องปลดแอ๊ก จากฝั่งที่เรียกตัวว่ารักประชาธิปไตย อันนี้เราแต่ละคนต้องทบทวน ประชาธิปไตยต้องไปด้วยกันกับสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์"