ไม่พบผลการค้นหา
นายกรัฐมนตรี ปัดรัฐบาลถังแตก หลังครม.เคาะโครงการบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เข้ากองทุนผู้สูงอายุ ชี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดถึงคนที่มีรายได้น้อยจริง ๆ ส่วนช็อปช่วยชาติ รัฐบาลไม่ได้มุ่งหวังให้มีการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย เพียงแต่ต้องการลดค่าใช้จ่ายสำหรับพี่น้องประชาชน

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ตอนหนึ่งว่า สัปดาห์นี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการนโยบายสำคัญ 2 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะส่งผลดีโดยตรงกับผู้มีรายได้น้อย และระดับกลาง ดังนี้

1. โครงการบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เข้ากองทุนผู้สูงอายุ เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นนโยบายที่ส่งเสริมการเสียสละ หรือการบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากผู้สูงอายุที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ฐานะดี ไม่เดือดร้อน เพื่อนำไปบริหารจัดการในรูปแบบกองทุน แล้วนำมาเป็นส่วนเพิ่มให้กับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย และยังเดือดร้อนอยู่ ถือว่าเป็นการทำบุญร่วมกันตามนิสัยคนไทย และวัฒนธรรมไทย ๆ ที่ชอบช่วยเหลือผู้ที่ขัดสน รัฐบาลเพียงเข้ามาสร้างกลไกให้บุญกุศลเหล่านั้น เกิดเป็นมรรค เป็นผล ตรงไปยังผู้ที่สมควรจะได้รับ ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ให้นั่นเอง เป็นการช่วยให้ผู้สูงอายุที่ลำบากอยู่ มีรายได้ในการดำรงชีพมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สำหรับผู้ที่เสียสละ นอกจากจะอิ่มบุญแล้ว ท่านยังจะได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติ เพื่อเป็นความภาคภูมิใจ ตอบแทนการทำความดีในครั้งนี้ อีกทั้งก็จะยังได้รับสิทธิในการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 1 เท่าของเงินที่บริจาค มองดูแล้วเดือนหนึ่งก็ไม่มากนัก แต่ถ้าคูณเป็นปีก็หลายพันบาทอยู่ครับ ทุกคนก็สามารถแสดงความจำนงจะบริจาคได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560 เป็นต้นไป จะบริจาคเป็นปี เป็นเดือน เป็นงวด ก็แล้วแต่ความสมัครใจ เงินส่วนนี้ก็จะไปเพิ่มเติมให้กับคนอื่น ๆโดยเฉลี่ยมากขึ้น ก็คงไม่ใช่สาเหตุเพราะรัฐบาลไม่มีสตางค์ แต่เราจะทำอย่างไรถึงจะให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้ถึงคนที่มีรายได้น้อยจริง ๆ ที่เรียกว่าความเป็นธรรมครับ

2. มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2560 หรือ ช็อปช่วยชาติ ตามนิยามที่พี่น้องสื่อมวลชนตั้งให้ ก็จะเป็นการซื้อสินค้าหรือรับบริการในประเทศเท่านั้น แล้วนำมาขอรับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินคนละ 15,000 บาท สินค้านั้น ต้องไม่ใช่สุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ น้ำมัน ก๊าซสาหรับเติมยานพาหนะ เป็นต้น รายละเอียดตามที่เป็นข่าวไปแล้ว เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 3 ธันวาคม ศกนี้ ทั้งนี้ ก็อย่าลืมขอหลักฐานเป็นใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ ได้แก่ มีชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ และชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการ ในใบกำกับภาษี เป็นต้น  

สำหรับโครงการนี้ เราไม่ได้มุ่งหวังให้มีการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย เพียงแต่ต้องการลดค่าใช้จ่ายสำหรับพี่น้องประชาชน ที่มักจะมีการจับจ่ายใช้สอยสิ่งของที่จำเป็นสำหรับชีวิต ซ่อมแซมอุปกรณ์ประจำบ้าน ซ่อมรถ ซ่อมเครื่องมือประกอบอาชีพ หรือเป็นของขวัญปีใหม่ในช่วงปลายปีอยู่แล้ว ก็ขอให้พิจารณาใช้จ่ายอย่างประหยัด คนมีมากก็ใช้มาก คนมีน้อยก็ใช้น้อยเท่าที่จำเป็น อย่างพอเพียง ให้เหมาะสมกับฐานะ อย่าไปคิดว่า รัฐบาลจะแจกแต่เพียงอย่างเดียว ลดให้ อะไรให้ บางครั้งนี่อาจจะเป็นนิสัยต่อไป ถ้าเราเข้าใจในระบบของธุรกิจ ก็ทราบดีว่าการที่เรามีการซื้อของมากขึ้น การผลิตก็จะมากขึ้น แรงงานในแต่ละกลุ่มกิจกรรม วันนี้ก็ในกลุ่ม SME หรือกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย รายใหญ่ ก็ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงาน เขาก็ได้ค่าแรงด้วย ถ้าไม่มีคนซื้อก็ไม่มีคนผลิต เมื่อไม่มีคนผลิต ก็เดือดร้อนไปทั้งหมด ทั้งผู้ประกอบการ แล้วก็แรงงานก็เดือดร้อน เพราะฉะนั้นอย่าไปหลงเชื่อคำบิดเบือนต่าง ๆ เลยครับ