ไม่พบผลการค้นหา
ดัชนีสันติภาพโลกประจำปี 2018 ระบุว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีรัฐบาลที่เป็นเผด็จการมากขึ้น ขณะที่ไทยถูกจัดอันดับที่ 113 ประเทศที่มีสันติภาพที่สุดในโลก หลังการรัฐประหารทำให้ความรุนแรงทางการเมืองและการประท้วงรุนแรงลดลงด้วยการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก

สภาบันเศรษฐกิจและสันติภาพ (IEP) เผยแพร่ดัชนีสันติภาพโลก (GPI) ประจำปี 2018 ซึ่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสันติภาพด้านต่างๆ ของแต่ละประเทศ เช่น จำนวนนักโทษต่อจำนวนประชากร 100,000 คน การนำเข้าอาวุธ เสถียรภาพทางการเมือง ความเสี่ยงต่อภัยก่อการร้าย การเพิ่มศักยภาพกองทัพ เป็นต้น โดยประเทศที่สันติที่สุดในโลก 5 อันดับแรกได้แก่ ไอซ์แลนด์ นิวซีแลนด์ ออสเตรีย โปรตุเกส และเดนมาร์ก

สตีฟ คิลเลอเลีย ผู้ก่อตั้ง IEP ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Asian Correspondent ว่า ความเหลื่อมล้ำด้านสันติภาพในโลกค่อนข้างกว้างมาก ประเทศที่มีคะแนนสันติภาพ มักมีค่าเงินมั่นคง อัตราดอกเบี้ยต่ำ เศรษฐกิจความผันผวนต่ำ เรตติ้งเครดิตดีขึ้นหรืออยู่ในระดับเดิม

GPI ระบุว่า ความรุนแรงในช่วงปี 2017 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกถึง 14.8 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณร้อยละ 12.4 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดทั่วโลก และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีจำนวนผู้ลี้ภัยเพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ 1 ของประชาโลก

อย่างไรก็ตาม ในปี 2017 ประเทศต่างๆทั่วโลกให้ความสำคัญกับกองทัพน้อยลง 88 ประเทศจ่ายงบประมาณสำหรับกองทัพลดลง ขณะที่อีก 44 ประเทศเพิ่มขึ้น และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา งบประมาณสำหรับกองทัพใน 102 ประเทศลดลงจากเดิม ต่างจากที่หลายคนเข้าใจ

รัฐบาลในเอเชียแปซิฟิกเป็นเผด็จการมากขึ้น

ในเอเชียแปซิฟิก มี11 ประเทศที่คะแนนสันติภาพรวมลดลงจากปีก่อน ส่วนอีก 8 ประเทศดีขึ้น แต่คะแนนรวมด้าน “ความรุนแรงด้านการเมือง” เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5 ซึ่งมาจากการที่รัฐบาลของแต่ละประเทศมีความเป็นเผด็จการมากขึ้น

คะแนนสันติภาพของฟิลิปปินส์ลดลงอย่างมาก หลังมีสงครามปราบปรามยาเสพติดและการสู้รบระหว่างกองทัพฟิลิปปินส์และกลุ่มติดอาวุธมาอูเตในเมืองมาราวีที่กินเวลานานถึง 5 เดือน ส่วนคะแนนสันติภาพของเมียนมาก็ลดลงมากเช่นกัน แม้อองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐเมียนมาเคยประกาศว่าเธอจะให้ความสำคัญกับกระบวนการสันติภาพในเมียนมาเป็นอันดับต้นๆ โดยคะแนนสันติภาพที่ลดลงเกิดมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งในรัฐยะไข่ที่ทำให้มีชาวโรฮิงญาต้องลี้ภัยไปยังบังกลาเทศกว่า 700,000 คน จนสหประชาชาติกล่าวว่าเป็นการลบล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา และเรื่องโรฮิงญาก็กระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองและความสัมพันธืกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย

นอกจากนี้ ความขัดแย้งในพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้ยังทำให้ความสัมพันธ์ของจีนกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคตึงเครียดขึ้น แต่บทบาทในการช่วยเจรจากับเกาหลีเหนือให้ปลดอาวุธนิวเคลียร์ถือเป็นสัญญาณบวกต่อสันติภาพในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซีย ติมอร์-เลสเต และไทยได้คะแนนสันติภาพดีขึ้น

ไทยสงบขึ้น หลังคสช.จำกัดเสรีภาพในการชุมนุม

ปีนี้ ไทยถูกจัดให้อยู่อันดับ 113 ประเทศที่มีสันติภาพมากที่สุดในโลกจากทั้งหมด 163 ประเทศ ขึ้นมาจากอันดับ 120 เมื่อปีที่แล้ว เป็นกลุ่มประเทศสีเหลืองคือมีสันติภาพปานกลาง ซึ่งมีคะแนนด้านจำนวนผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งภายนอก บทบาทในความขัดแย้งภายนอกประเทศ ประชากรพลัดถิ่น และการส่งออกอาวุธ ต่ำเพียง 1.0 เต็ม 5.0 ขณะเดียวกัน คะแนนความรุนแรงทางการเมืองปีนี้ก็ลดลงจากปีก่อน 0.1 คะแนนมาอยู่ที่ 3.0 เต็ม 5.0 และลดลง 3.5 ในช่วงปี 2014 ที่มีการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

อย่างไรก็ตาม คะแนนประชากรนักโทษต่อประชากร 100,000 คนของไทยอยู่ในระดับสูงมากที่ 4.8 ซึ่งคะแนนส่วนนี้สูงขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่มีการรัฐประหารเป็นต้นมา จากช่วงปี 2013 ที่คะแนนด้านนี้อยู่ที่ 3.8 แต่คะแนนการประท้วงและคะแนนความรุนแรงทางการเมืองลดลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วง 2 ปีหลังมานี้คะแนน 2 ด้านนี้ของไทยลงมาอยู่ที่ 3.0 จากการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมอย่างเข้มงวดในรัฐบาลคสช. เมื่อเทียบกับช่วงก่อนรัฐประหารปี 2014 ที่คะแนนการประท้วงรุนแรงอยู่ที่ 4.0

นอกจากนี้ คะแนนด้านผลกระทบจากการก่อการร้ายเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาของไทยก็ยังสูงถึง 3.6 จากเหตุการณ์ไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้

ที่มา: Global Peace Index, Asian Correspondent