ไม่พบผลการค้นหา
ผู้สร้างทั้งในและนอกประเทศ ประกาศจะผลิตงานภาพยนตร์และสารคดี อ้างอิงจากเหตุการณ์จริงของทีมหมูป่าติดถ้ำหลวง รอการตอบรับจากผู้ที่เกี่ยวข้องก่อน ขณะที่กระทรวงวัฒนธรรมไทย เตรียมตั้งกรรมการดูแล ตรวจสอบความถูกต้อง ตลอดจนการใช้สถานที่ ห่วงภาพลักษณ์ประเทศ

รายงานข่าวระบุว่า มีผู้สร้างภาพยนตร์และสารคดีต่างประเทศได้ติดต่อกระทรวงวัฒนธรรมของไทยแสดงเจตจำนงค์จะผลิตภาพยนตร์และสารคดีเกี่ยวกับเรื่องการช่วยเหลือทีมฟุตบอลเยาวชนหมูป่าออกจากถ้ำหลวง ขณะที่นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ระบุว่า ได้เตรียมจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อขอให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลการผลิต โดยจะทำหน้าที่ทั้งดูแลในเรื่องของเนื้อหา การคุ้มครองในด้านข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเด็กและโค้ช บุคคลอื่นๆที่เกี่ยวข้องรวมไปถึงภาพลักษณ์ของประเทศไทย

ลอสแองเจลิสไทมส์ ระบุว่า ข่าวนี้ออกมาในขณะที่ความสนใจของสาธารณะมุ่งไปสู่ประเด็นว่าสื่อจะปฏิบัติต่อเด็กที่ได้รับการช่วยเหลือออกจากถ้ำอย่างไร สื่อต่างประเทศบางรายถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าได้พยายามหาทางเข้าถึงตัวและสัมภาษณ์เด็กทั้งที่ทางการไทยได้ออกคำเตือนไม่ให้ทำเช่นนั้นเพื่อปล่อยให้เด็กๆ ได้ฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจเสียก่อน

ล่าสุดผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายนายประจญ ปรัชญ์สกุลได้ออกมาเตือนอีกครั้งในวันนี้ พร้อมทั้งสั่งให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดในเรื่องการดูแลไม่ให้มีการแสวงหาประโยชน์จากเยาวชนในกลุ่ม และก่อนหน้านี้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่า ไทยมีกฎหมายให้ความคุ้มครองเยาวชน สื่อต่างประเทศอาจจะไม่เข้าใจกฎหมายไทย แม้จะไม่ตั้งใจ แต่หากพบว่าทำไม่ถูกต้องก็สามารถเอาผิดพวกเขาได้

กระทรวงวัฒนธรรม ระบุว่า ที่ผ่านมาได้มีผู้ผลิตต่างประเทศ 5 รายแจ้งความจำนงค์กับทางการไทยเพื่อจะขอผลิตภาพยนตร์และสารคดีเกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติการการช่วยเหลือ นอกจากนั้นสื่อหลายรายรายงานว่า ยังมีผู้สร้างชาวไทยอีกรายที่ประกาศจะผลิตงานในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน รวมแล้วล่าสุดมีผู้ประกาศตัวจะผลิตแล้วรวม 6 ราย

ทั้งนี้เดอะการ์เดียนระบุว่า ผู้ผลิตสองในห้ารายแรกเป็นอเมริกัน หนึ่งในนั้นคือเพียวฟลิกส์ (Pure Flix) ผู้สร้างที่มาจากกลุ่ม God’s Not Dead อีกรายคือเครซี ริช เอเชียนส์ (Crazy Rich Asians) โดยผู้กำกับจอน ชู ที่เหลือยังไม่ปรากฎชื่อ ส่วนผู้ผลิตในประเทศไทยคือทอม วาลเลอร์ ประกาศว่า เขาเตรียมจะผลิตงานที่เน้นในเรื่องความพยายามของฝ่ายไทยและผู้ที่มีบทบาทอื่นๆที่ไม่ปรากฎชื่อ

ฮอลลีวู้ดรีพอร์ตเตอร์เวบไซต์รายงานว่า ก่อนหน้านี้ทีวีดิสคัฟเวอรีก็ได้นำเสนอสารคดีความยาวเป็นชั่วโมงต่อผู้ชมในสหรัฐฯไปเมื่อ 13 ก.ค.ที่ผ่านมาชื่อ Operation Thai Cave Rescue

รายงานระบุด้วยว่า คณะกรรมการของกระทรวงวัฒนธรรมจะดูแลไม่เพียงในเรื่องเนื้อหาและความเหมาะสมของข้อมูลเกี่ยวกับตัวบุคคลต่างๆ แต่ยังมีความเป็นห่วงกันด้วยในเรื่องของผลกระทบที่จะเกิดต่อสภาพธรรมชาติที่เป็นสถานที่ถ่ายทำ ทางการไทยระบุว่าพร้อมจะสนับสนุนการผลิตไม่ว่าสารคดีหรือภาพยนตร์ หากผู้ผลิตทำตามกฎหมายไทย

อย่างไรก็ตามเวบไซต์ฮอลลีวู้ดรีพอร์ตเตอร์ยังรายงานว่า การผลิตภาพตร์อิงเรื่องราวการกู้ภัยจริงเช่นนี้สิ่งสำคัญที่ผู้ผลิตจะต้องมีก่อนอื่นใดคือ ‘ต้องเข้าใจเรื่องสิทธิของผู้ที่ร่วมในปฏิบัติการ’ กล่าวคือ จะต้องได้รับการยินยอมก่อนจะลงมือทำอย่างอื่น

ดานา บรูเนตตี ผู้ผลิตภาพยนตร์เรื่อง Captain Phillips เรื่องราวที่อิงเรื่องจริงของการกู้ภัยจากการจี้เครื่องบินเมื่อปี 2009 กล่าวว่า กฎข้อแรกของการผลิตภาพยนตร์ประเภทนี้คือ ผู้้ผลิตต้องได้รับความยินยอม และในขณะนี้ยังไม่มีผู้ผลิตรายใดมีกรรมสิทธิ์ในเรื่องนี้ในเรื่องถ้ำหลวง ดังนั้นที่ประกาศกันไป เขาเห็นว่าเป็นแต่เพียงการประกาศตัวออกมาแข่งขันกันเท่านั้น