ไม่พบผลการค้นหา
นักวิจัยทีดีอาร์ไอติงรัฐแก้ปัญหาคนจนต้องมีตัวชี้วัด อย่าทำให้ใครต้องตกหล่น เผยไทยมีคนพิการรับสิทธิสงเคราะห์จากรัฐมากถึง 1.8 ล้านคน แต่ในโครงการจดทะเบียนคนจนกลับมีเพียง 3.77 แสนคน

นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยผลการศึกษาโครงการแก้จนของรัฐบาล ตามที่รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประกาศเป้าหมายของรัฐบาลที่จะแก้ไขปัญหาคนจนให้หมดประเทศไปภายในปี 2561 โดยรูปแบบของนโยบายได้มีการผูกติดกับโครงการลงทะเบียนคนจนในปีที่ผ่านมา ซึ่งได้มีผู้เข้าร่วมในโครงการและผ่านคุณสมบัติรวมกว่า 11.4 ล้านคน นั้น 

ทางคณะวิจัย เปิดเผยในเอกสารผลการศึกษาโครงการ ระบุว่า การผลักดันโครงการแก้จนครั้งนี้ ได้มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมเฉพาะผู้ที่เข้าร่วมโครงการลงทะเบียนคนจนในปีที่ผ่านมา โดยเลือกเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อยกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี ซึ่งสอดคล้องกับเส้นบ่งชี้ถึงความยากจนของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. แต่กระนั้นก็ได้มีนักวิชาการออกมาแสดงความกังวลใจว่า อาจจะมีคนจนที่ตกหล่นจากโครงการแก้จนในครั้งนี้

โดยพบว่า จำนวนคนพิการที่ได้มาลงทะเบียนในโครงการจดทะเบียนคนจนมีเพียง 3.77 แสนคน ซึ่งน้อยกว่าจำนวนคนพิการที่ลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิในการสงเคราะห์ การพัฒนาและการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ซึ่งมีมากถึง 1.8 ล้านคน (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ก.ย. 2560)

ดังนั้น ทีมนักวิจัยจึงเชื่อว่าจำนวนคนพิการที่มีปัญหาความยากจน แต่เข้าไม่ถึงโครงการแก้จนในครั้งนี้ มีจำนวนมาก เนื่องจากข้อมูลสถิติของผู้พิการที่มาลงทะเบียนที่มีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาทต่อปี ที่มีมากถึง 91.5% ของผู้ที่เข้าร่วมลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยและรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั้งหมดนั้นมีประมาณ 3.4 แสนคน จึงทำให้เชื่อได้ยาก ว่ากลุ่มคนพิการที่ไม่ได้มาลงทะเบียนประมาณ 1.42 ล้านคนจะเป็นผู้ที่มีรายได้เกินกว่า 1 แสนบาทต่อปีทั้งหมด

ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐควรที่จะต้องดำเนินการเป็นอันดับแรก คือ การมุ่งเน้นในเรื่องของการตามหากลุ่มคนที่ตกหล่นจากโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มประชากรที่มักจะถูกละเลยและเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐ เพราะก้าวแรกจะเป็นก้าวที่กำหนดทิศทางและอนาคตความสำเร็จของโครงการ การเข้าถึงกลุ่มคนที่ตกหล่นจากโครงการให้ครบถ้วนจะนำไปสู่การเริ่มต้นแก้ไขปัญหาความยากจนของไทยได้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ บทความและการศึกษาในโครงการนี้ดำเนินการโดยนายนณริฏ พิศลยบุตร, นายวัชรินทร์ ตันติสันต์ นายศุภชัย สมผล และนางสาววิชญา พีชะพัฒน์ นักวิจัยทีดีอาร์ไอ

อย่างไรก็ตาม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่ธนาคารออมสิน ซึ่งเป็น 1 ใน 8 สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และได้ให้นโยบายไว้ 4 เรื่องแก่ธนาคารออมสิน ได้แก่ 1) ขอให้สานต่อนโยบายบัตรคนจนของกระทรวงการคลัง 2) การดูแลกลุ่มคนชั้นกลางในเมืองที่อยากเป็นนายจ้างของตัวเอง 3) ให้ความสำคัญกับกลุ่มสตาร์ทอัพ 4) การดูแลคนชรา 

ขณะที่ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง กล่าวว่า ต้องการให้ธนาคารออมสินดูแลเรื่องการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ในระยะที่ 2 ตามนโยบายรัฐบาล ในการพัฒนาคุณภาพและเพิ่มศักยภาพให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และหลุดพ้นจากความยากจน โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 จะสรรหาผู้ดูแลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ Account Officer (AO) หรือหมอประชารัฐสุขใจ ทำหน้าที่สำรวจสภาพข้อเท็จจริง สอบถามความประสงค์ และให้คำแนะนำแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสามารถวิเคราะห์การให้ความช่วยเหลือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรายบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพและจัดทำเป็นข้อมูล หรือบิ๊กดาต้า เพื่อประเมินผลโครงการได้ต่อไป

โดยคาดว่าไม่เกิน 6 เดือน การดำเนินการจะแล้วเสร็จ ซึ่งมีเป้าหมายว่า โครงการคนจนเฟส 2 จะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่คนจน และจะทำให้ภายในปีนี้ คนจนหลุดพ้นจากใต้เส้นความยากจนให้ได้ 25 % ของคนที่มาลงทะเบียนทั้ง 11.4 ล้าน หรือประมาณ 2.85 ล้านคน