ไม่พบผลการค้นหา
พล.อ.ประวิตร แสดงความเสียใจกรณีนักมวยเด็กเสียชีวิตจากเลือดคั่งในสมอง พร้อมสั่ง ก.ท่องเที่ยวฯ พิจารณาความเหมาะสมเพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับนักกีฬา ด้าน กสม. เสนอแก้ไขกฎหมายกีฬามวย ให้สอดคล้องอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองน���ยกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่า ได้แสดงความเสียใจกับ “น้องเล็ก” เยาวชนไทยอายุ 13 ปี ที่เสียชีวิตจากการชกมวยไทยการกุศลที่ผ่านมา พร้อมทั้งแสดงความกังวลและให้ความสำคัญร่วมกัน ถึงการพัฒนาการกีฬาทุกประเภทที่ต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของนักกีฬามากขึ้น

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ได้กำชับให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้พิจารณาความเหมาะสม ของ พ.ร.บ.กีฬามวย พ.ศ. 2542 ที่ สนช.ได้เสนอร่าง ( แก้ไข ) ให้ ครม.พิจารณา โดยขอให้พิจารณาความรอบคอบของการพัฒนากีฬามวย ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับการดูแลความปลอดภัยของนักกีฬามากขึ้น โดยเฉพาะนักกีฬากลุ่มเด็กและเยาวชน ควรพิจารณาการใช้วิทยาศาสตร์ทางการกีฬาเข้ามาช่วยเสริมสร้างพัฒนาการต่อสมรรถภาพร่างกายในวัยอันควร ก่อนการเป็นนักกีฬาแทน

ขณะเดียวกัน การแข่งขันในวัยดังกล่าว จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม และมาตรการความปลอดภัยที่รัดกุมจากนายสนาม เพื่อมิให้ร่างกายได้รับผลกระทบ จนอาจเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีก

กสม. เสนอแก้ ก.ม.กีฬามวย ให้สอดคล้องอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

ด้านนางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานด้านสิทธิผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก การศึกษา และการสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่โลกออนไลน์มีการเผยแพร่เรื่องราวสลดที่เกิดขึ้นกับนักมวยเด็กรายหนึ่ง คือ 'เพชรมงคล ป.พีณภัทร' (ด.ช.อนุชา ทาสะโก) วัย 13 ปี ซึ่งเสียชีวิตจากอาการเลือดคั่งในสมองจากการขึ้นชกมวยที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า ตนขอแสดงความเสียใจเป็นอย่างยิ่งต่อครอบครัวของ นักมวยเด็กคนดังกล่าวจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากการชกมวย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นกรณีตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นปัญหาของการชกมวยในวัยเด็กที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ โดยเฉพาะการบาดเจ็บทางสมองที่ก่ออันตรายถึงแก่ชีวิต

นางฉัตรสุดา ระบุว่า ความเสี่ยงต่อชีวิตและการได้รับบาดเจ็บทางร่างกายที่นักมวยเด็กต้องเผชิญ เป็นปัญหาที่ทุกภาคส่วนรวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแวดวงกีฬามวยต้องให้ความสำคัญและไม่นิ่งนอนใจ เนื่องจากกีฬามวยเด็กถือว่าขัดต่อหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child - CRC) ซึ่งระบุว่า เด็กเป็นกลุ่มเปราะบางของสังคม จะต้องได้รับการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานให้มีชีวิตรอด และต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการถูกทำร้าย การล่วงละเมิด และการแสวงหาประโยชน์ในทุกรูปแบบ

นอกจากนี้ การชกมวยเด็กที่เป็นลักษณะมวยอาชีพและได้รับค่าตอบแทน ยังขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26 (6) ที่ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการใช้ จ้าง หรือวานเด็กให้ทำงาน หรือกระทำการอันอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต หรือขัดขวางต่อพัฒนาการของเด็ก และ (7) ที่ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการบังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กเล่นกีฬา หรือให้กระทำการใด เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการค้าอันมีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็กหรือมีลักษณะเป็นการทารุณกรรมต่อเด็ก

อย่างไรก็ดี เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ตนเห็นว่าการชกมวยของเด็กควรมีการป้องกันการบาดเจ็บบริเวณศีรษะ ทั้งนี้ ขอเสนอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 หลักการของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ฉบับที่ 138 และ 182) ที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้ เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับความคุ้มครองในชีวิตและร่างกาย มีพัฒนาการการเติบโตที่สมบูรณ์แข็งแรง และไม่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์อันน่าสลดเช่นนี้อีก

AFP-มวยเด็ก-นักมวยเยาวชน-ต่อยมวย-กีฬามวยเด็ก.jpg

'ลดาวัลลิ์' วอนสังคมตระหนักความปลอดภัยในเด็ก

ในขณะที่ นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รู้สึกสลดใจข่าวการเสียชีวิตถูกชกจนเลือดคั่งในสมองของเด็กนักมวยคนหนึ่ง อายุแค่ 13 ปี และฝึกซ้อมชกมวยมาตั้งแต่อายุ 8 ปี แม้ว่าอาชีพชกมวยเป็นอาชีพสุจริตเป็นที่นิยมของคนส่วนหนึ่งในสังคม และเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่ในฐานะที่เป็นคนทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิเด็กตลอดมา 

โดยส่วนตัวมีความเห็นว่า เด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปีควรได้รับการส่งเสริมให้ศึกษาเล่าเรียนอย่างเต็มที่ และได้รับการปกป้องคุ้มครองไม่ให้สมองกระทบกระเทือนจากการเล่นในชีวิตประจำวัน จากการแข่งขันกีฬาทุกประเภท และจากอุบัติเหตุต่างๆ เนื่องจากสมองของเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 15 ปีกำลังเจริญเติบโต หากสมองของเด็กได้รับการกระทบกระเทือนอย่างแรงบ่อยครั้งก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้สมองเสื่อม ย่อมส่งผลต่อระบบความจำความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ได้ และผู้ใหญ่ทั้งหลายควรตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับเด็กทุกคนอยู่เสมอ ควรหลีกเลี่ยงการใช้เด็กเพื่อประโยชน์ในธุรกิจของตนเองอย่างไม่เหมาะสม ขาดการคำนึงถึงภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก รวมทั้งอย่าใช้ความรุนแรงต่อเด็ก หรือล่วงละเมิดทางเพศเป็นต้น 

นางลดาวัลลิ์ กล่าวอีกว่า ในระดับรัฐบาลก็ต้องมีนโยบายพัฒนาเด็กในทุกด้านทั้งทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญาและให้ความความปลอดภัย คุ้มครองสิทธิที่เด็กทุกคนพึงได้รับ ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กขององค์การสหประชาชาติ และต้องกำชับให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กอย่างเคร่งครัด

(ภาพประกอบเป็นเหตุการณ์ชกมวยในไทยเมื่อปี 2555)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: