ไม่พบผลการค้นหา
ทีโอทีปลุกชีวิตตู้โทรศัพท์ที่รอวันล่มสลายให้กลายเป็นพื้นที่แห่งการแบ่งปันความสุขและยกระดับคุณภาพชีวิต

ตู้โทรศัพท์สาธารณะอันเงียบสงัดเหมือนคนที่ไร้ลมหายใจกลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง ด้วยโครงการแบ่งปัน Share out ของบริษัททีโอที ที่เปิดรับบริจาคเสื้อผ้าข้าวของเครื่องใช้จากพนักงานนำมาแยกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชนที่ขาดแคลน

ก่อนเวลาเที่ยงตรง แสงแดดอ่อนๆ ลมหนาวพัดมาเบาๆ ตามนัดจากกรมอุตุนิยมวิทยา ตู้โทรศัพท์ทีโอทีในซอย 5 ถนนแจ้งวัฒนะ คึกคักไปด้วยผู้คนทุกช่วงวัยตั้งแต่เด็กเล็กจนคุณลุงคุณป้า ‘ทรงศักดิ์ แด่สุวรรณ’ จากสถาบันนวัตกรรม บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) เจ้าของไอเดียเปลี่ยนซากตู้โทรศัพท์เป็นสถานที่ยกระดับคุณภาพชีวิต เดินจัดข้าวของพร้อมกับชี้แจงกฎกติกาให้กับประชาชนรับฟัง

“เข้าแถวเลยครับ หยิบได้คนละ 2 ชิ้นเท่านั้นนะ” เขาประกาศก่อนหันมาให้สัมภาษณ์วอยซ์ออนไลน์

ทีโอที.jpg

(ทรงศักดิ์ แด่สุวรรณ)

ทรงศักดิ์ เล่าว่า ที่ผ่านมาทีโอทีมีโครงการรับบริจาคเสื้อผ้าและสิ่งของเหลือใช้เพื่อนำไปมอบให้กับผู้ประสบภัยพิบัติตามพื้นที่ต่างๆ เป็นประจำทุกปี แต่เนื่องจากปีนี้ไม่มีภัยพิบัติ ประกอบกับได้พบเจอสภาพความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของชุมชนริมคลองเปรมประชากร จึงคิดว่าน่าจะนำเสื้อผ้าและของใช้มามอบให้ โดยเลือกดัดแปลงตู้โทรศัพท์ที่เลิกใช้แล้วเป็นสถานที่จัดกิจกรรม

“น้ำใจกับความขาดแคลนพบกันได้ ชาวบ้านมีของใช้ มีเสื้อผ้าใส่ ลดค่าใช้จ่ายให้พวกเขาได้บ้าง เล็กๆ น้อยๆ จะเอาไปใส่หรือเอาไปขายต่อก็เป็นเรื่องของเขา ตู้โทรศัพท์เองก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์อีกแล้ว เราพยายามสร้างคุณค่าให้กับมัน เพราะรับใช้สังคมมายาวนาน ไม่อยากให้ตายไปเปล่าๆ อยากให้บริการสังคมต่อไปอีกสักระยะ”

หลังจากได้ไอเดียทรงศักดิ์ ประชาสัมพันธ์ให้กับพนักงานบริษัทผ่านทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ รวมถึงแจกใบปลิวให้กับประชาชนโดยรอบพื้นที่ โดยโครงการดังกล่าวจัดมาแล้ว 2 ครั้ง และครั้งที่ 3 จะมีขึ้นในวันที่ 19 ธ.ค. 

TOT share out

“ผลตอบรับดีมากชาวบ้านทุกคนมีความสุขที่ได้ของกลับไป เด็กบางคนได้ตุ๊กตาตัวใหม่ เดินกลับบ้านยิ้มไม่หุบเลย พนักงานเองให้การตอบรับดี บริจาคเสื้อผ้ามาจำนวนมาก ต้องคัดแยกเป็นระยะ และเอาของที่ดีที่สุดมาให้ สำหรับผมการแบ่งปันนอกจากสบายใจกับผู้ให้แล้ว ยังช่วยลดความแตกต่างเหลื่อมล้ำลงได้บ้างด้วย ทั้งในแง่เศรษฐกิจและอารมณ์ความสุข”

ภายหลังจัดกิจกรรมเพียงแค่ครั้งแรก หลายชุมชนในต่างจังหวัดต่างติดต่อขอนำไอเดียไปปรับใช้ ซึ่งทรงศักดิ์ดีใจและเห็นว่าหากมีตู้บริจาคเหล่านี้ตามชุมชนทั่วประเทศจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการแบ่งปันและความสงบสุขในสังคม 

TOT share out

ลัดดาวัลย์ คงวงษ์ แม่บ้านที่อาศัยอยู่ชุมชนคลองเปรมเลือกหยิบแว่นตากันแดดและทัพพีตักข้าวจากตู้โทรศัพท์ หลังเห็นว่าเป็นของใช้ที่มีประโยชน์ที่สุดสำหรับตัวเองในเวลานี้

“เอาแว่นตาให้แฟนเพราะต้องขับรถกลางแดด ส่วนทัพพีเอาไว้ใช้ในครัว” เธอบอกและว่า “น้ำใจเป็นเรื่องยิ่งใหญ่สำหรับสังคม ชุมชนเราหลายคนมีรายได้เพียงแค่วันละ 300 บาท สิ่งของพวกนี้ช่วยจุนเจือลดค่าใช้จ่ายในครอบครัวลงได้บ้าง เราอยากให้มันมีไปเรื่อยๆ ทุกเดือน”

ทีโอที.jpg

จันทร์เกี้ยว ราวิชัย พนักงานทำความสะอาด ไม่รู้สึกรังเกียจกับสิ่งของบริจาคและเห็นว่าเป็นโครงการที่ดีมาก

“คนยากคนจนเยอะ เศรษฐกิจไม่ดี หาเช้ากินค่ำ ได้ของบ้างเล็กๆ น้อยๆ ก็มีความสุข ขอบคุณมากค่ะ สำหรับการแบ่งปัน” สาวใหญ่วัย 57 ปียิ้มกว้าง 

น้องแนน ดวงตาเป็นประกาย ยืนกอดตุ๊กตาม้ายักษ์สีแดงสดใสด้วยความเขินอาย บอกว่า จะเอาตุ๊กตาไปให้น้องเล่น และหวังว่าน้องจะมีความสุขที่ได้รับมัน “หนูต้องสนุกแน่ๆ ค่ะ”

ทีโอที.jpg

เมื่อถึงเวลาสิ้นสุดกิจกรรม ทรงศักดิ์และทีมงานยิ้มอย่างชื่นมื่น เก็บข้าวของที่หลงเหลืออยู่บางส่วนขึ้นรถและพร้อมนำสมบัติเหลือใช้ของผู้คนมากหน้าหลายตามาแบ่งปันให้กับชุมชนในโอกาสต่อไป

ทั้งนี้ "ตู้โทรศัพท์สาธารณะ เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อปี 2522 โดยบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) นำโทรศัพท์แบบหยอดเหรียญเข้ามาติดตั้งในเขตโทรศัพท์นครหลวงจำนวน 100 เครื่อง ก่อนเจริญก้าวหน้าต่อยอดเพิ่มจำนวนมากกว่าสองแสนตู้ทั่วประเทศ ปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสาร โทรศัพท์สาธารณะไม่สร้างกำไรให้กับทีโอทีและไม่จำเป็นกับประชาชนหลายคนอีกแล้ว โดยอยู่ระหว่างทยอยปลดระวาง และหลงเหลืออยู่ราว 30,000 เครื่องทั่วประเทศ เป็นโทรศัพท์ที่อยู่ในกทม.ราว 10,000 เครื่อง

TOT share out



TOT share out


วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog