ไม่พบผลการค้นหา
กรมราชทัณฑ์จับมือกรมสรรพาวุธทหารบก จัดโครงการ 'ไทยประดิษฐ์' คัด 16 ผู้ต้องขังคดีผลิตอาวุธปืน เข้าฝึกอบรมพัฒนาฝีมือ สร้างโอกาส สร้างอาชีพ

พล.ท.อาวุธ เอมวงศ์ เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก เปิดเผยในงานเปิดโครงการ "มิติใหม่อบรมผู้ต้องขังผลิตอาวุธปืน สนับสนุนอุตสาหกรรม ป้องกันประเทศภายใต้ชื่อ ไทยประดิษฐ์" ตามนโยบายของมติสภากลาโหม ซึ่งเป็นโครงการฝึกอาชีพผู้ต้องขังในวันนี้ (15 ม.ค 2561) ว่า โครงการนี้ได้คัดเลือกผู้ต้องขังคดีอาวุธที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งกรมราชทัณฑ์ส่งรายชื่อผู้ต้องขังจากทั่วประเทศรวมส่วนกลางกว่า 230 คน มาให้คัดเลือก ผ่านการทดสอบทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ รวมถึงการตรวจสอบทางจิตเวช จนเหลือผู้ต้องขังที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 16 คน เพื่อเข้ารับการฝึกอบรมทั้งหมด 14 วัน (ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.-2 ก.พ. 2561) และใช้สถานที่เรือนจำกลางบางขวาง ต.สวนใหญ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี ฝึกอบรม

โดยหลักสูตรการฝึกอบรม มี 2 ส่วน ได้แก่ ภาคทฤษฎี ซึ่งจะเป็นหลักสูตรพื้นฐาน สอนเรื่องการคิดต้นแบบ การออกแบบ ที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ส่วนภาคปฏิบัติ จะให้ฝึกการทำชิ้นงาน วิธีการใช้เครื่องมือทดสอบต่างๆ

"เหตุที่คัดเลือกผู้ต้องขังเข้ารับการฝึกอบรมเพียง 16 คน เพราะเราต้องการคนที่สามารถทำงานได้ ซึ่งในคนกลุ่มนี้ มีทั้งคนที่มีความรู้เรื่องอาวุธอยู่แล้ว และสามารถต่อยอดได้ กับอีกกลุ่มคือสมัครใจ ชอบอาวุธ และสามารถต่อยอดได้" พล.ท.อาวุธ กล่าว

_X3A8242.jpg

ด้าน พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า โครงการนี้จะเป็นมิติใหม่สำหรับการยอมรับผู้ต้องขัง เพราะปัจจุบันมีผู้ต้องขัง 320,000 คน ในเรือนจำและทัณฑสถาน 143 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งพบว่า มีจำนวนไม่น้อย เมื่อออกไปแล้ว ยังกลับเข้าสู่กระบวนการกระทำผิดซ้ำ และส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากการขาดโอกาสการได้รับการยอมรับจากสังคม จะไปประกอบอาชีพใดๆ ก็มักจะถูกตีตราจากสังคม ดังนั้น โครงการนี้จึงเปรียบเหมือนการชี้ทางสว่าง เปิดมิติใหม่ให้แก่ผู้ต้องขัง เพื่อให้บอกพวกเขารับรู้ว่า สังคมยังให้โอกาสอยู่ 


"สิ่งที่เราต้องการไม่ใช่การลงโทษเพื่อแก้แค้น แต่เราต้องการลงโทษเพื่อแก้ไข ดังนั้น เมื่อคนเหล่านี้ได้รับการลงโทษและแก้ไขแล้ว เมื่อพวกเขาออกจากเรือนจำและทัณฑสถานไป เขาอาจเป็นพลเมืองดีของสังคม เป็นแรงงานสำคัญของประเทศ และประกอบสัมมาอาชีพไม่ย้อนกลับเข้าเรือนจำซ้ำอีกได้" พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าว



_X3A8374.jpg

นอกจากนี้ กรมราชทัณฑ์จะมีกระบวนการดูแลป้องกันไม่ให้ผู้ต้องขังที่ผ่านการอบรมกลับไปเกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธผิดกฎหมาย โดยจะมีการทำข้อมูลสถิติ รวมถึงการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ส่งรายชื่อข้อมูลบุคคลต้องโทษให้ และหากบุคคลเหล่านี้ทำผิดคิดได้ ก็จะมีช่วยเหลือให้เขามีที่ยืนในสังคมต่อไปด้วย 

"มาตรการดูแลหลังจากออกจากเรือนจำ ก็มีทั้งขู่ทั้งปลอบ ทั้งไม้แข็งไม้นวม ส่วนผู้ต้องขังที่จะได้รับการพักการลงโทษ ก็จะต้องดูความประพฤติ เช่น ช่วยกิจการงานราชการดีหรือไม่ มีผลการเรียนก้าวหน้าชัดเจนหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์ ไม่ใช่สิทธิของผู้ต้องขัง และจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเรือนจำและกรมราชทัณฑ์ ในการเสนอพักการลงโทษ" อธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าว

สำหรับผู้ต้องขังที่เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ ส่วนใหญ่มีระยะเวลาพ้นโทษภายใน 3 ปี ซึ่งแต่ละคนจะมีเวลาพ้นโทษไม่เท่ากัน ด้วยเหตุนี้ กรมสรรพาวุธทหารบกและกรมราชทัณฑ์จึงจะออกประกาศนียบัตรร่วมกันและทำบันทึกไว้ให้ ส่วนโอกาสที่คนเหล่านี้จะสามารถต่อยอดการทำงานกับหน่วยงานราชการได้หรือไม่ จะขึ้นกับระเบียบของราชการและความพร้อมส่วนบุคคล อีกทั้ง เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการนำร่อง จึงต้องรอประเมินผล เพื่อวิเคราะห์และนำไปใช้กับโครงการอื่นๆ ของกรมฯ ต่อไป

_X3A8319.jpg

ทั้งนี้ โครงดังกล่าวเกิดขึ้นตามมติสภากลาโหม โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้แนวคิดแก้ไขผู้กระทำผิดด้วยการฝึกงานและทักษะอาชีพกับผู้ต้องขังในคดีพระราชบัญญัติอาวุธปืนและคดีที่เกี่ยวข้อง โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงกลาโหม และกรมราชทัณฑ์ พิจารณาคัดเลือกผู้ต้องขังในคดีผลิตอาวุธเข้ารับการฝึกอบรม เพื่อให้สามารถผลิตเป็นอาวุธที่ใช้งานได้ และเป็นการใช้เวลาระหว่างถูกคุมขังให้เกิดประโยชน์ สร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว 

ขณะที่ กรมราชทัณฑ์ ร่วมกับกรมสรรพาวุธทหารบกคัดเลือกผู้ต้องขังที่เหมาะสม เข้ารับการอบรมในโครงการดังกล่าว เป็นการนำเอาภูมิปัญญาที่มีอยู่ในตัวผู้ต้องขังเกี่ยวกับการผลิตอาวุธปืนและการแก้ไขดัดแปลงมาผสานเข้ากับเทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่เป็นสากล จากผู้เชี่ยวชาญด้านทหาร เพื่อสร้างงานและสร้างโอกาสใหม่ให้เกิดขึ้นกับการพัฒนาประเทศ

อย่างไรก็ตาม สถาบันประเมินข้อมูลด้านสุขภาพของมหาวิทยาลัยวอชิงตันของสหรัฐฯ เผยแพร่ ผลสำรวจสถานการณ์ด้านอาวุธปืนทั่วโลก เมื่อปี 2558 พบว่า ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอาวุธปืนถึง 7.48 คนต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งมากกว่าอัตราการเสียชีวิตจากปืนในสหรัฐฯ กว่า 2 เท่า เนื่องจากสหรัฐฯ มีสถิติผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนที่ 3.55 ต่อประชากร 100,000 คน 

เมื่อเทียบกับประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยมีอัตราเสียชีวิตจากปืนสูงที่สุด รองลงมาคือฟิลิปปินส์ ซึ่งมีอัตราเสียชีวิตจากปืนที่ 4.64 คนต่อประชากร 100,000 คน ตามมาด้วยกัมพูชา ซึ่งมีอัตราเสียชีวิตจากปืนเพียง 1.58 ส่วนเมียนมา ซึ่งเป็นประเทศที่ยังมีการต่อสู้ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กับกองทัพรัฐบาลในหลายพื้นที่ มีอัตราการเสียชีวิตจากปืน 1.10 ต่อประชากร 100,000 คน