ไม่พบผลการค้นหา
สื่อนอกโฟกัสรัฐบาลทหารผลักดันระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ขณะต่างชาติลงทุนในไทยต่ำกว่าเวียดนาม เมียนมา กัมพูชา เมินแผนไทยแลนด์ 4.0 และเขตเศรษฐกิจพิเศษแนวชายแดน หวั่นคนท้องถิ่นต้าน

เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ Asia Times เผยแพร่รายงานเมื่อวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน ชี้ว่า ผลงานของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ล้มเหลวมาแล้ว 2 เรื่อง คือ ไทยแลนด์ 4.0 กับเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ล่าสุด ไทยเดินหน้าแผนใหม่ คือ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ทว่าโครงการซึ่งครอบคลุมพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ดังกล่าว จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพียงใด ที่ผ่านมา เม็ดเงินลงทุนไหลเข้าประเทศเพื่อนบ้านมากกว่าไทย และยังมีคำถามว่า ชาวบ้านในพื้นที่จะคัดค้านหรือไม่

รายงานกล่าวว่า รัฐบาลทหารไทยไม่สามารถดึงดูดการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ตามตัวเลขของ UNCTAD นั้น ในปี 2016 ประเทศไทยได้รับเม็ดเงินลงทุน 1.5 พันล้านดอลลาร์ฯ ต่ำกว่าแทบทุกประเทศในภูมิภาค

เมื่อปีที่แล้ว เวียดนามได้รับเงินลงทุน 12.6 พันล้านดอลลาร์ฯ, มาเลเซีย 9.9 พันล้านดอลลาร์, ฟิลิปปินส์ 7.9 พันล้านดอลลาร์ฯ, เมียนมา 2.1 พันล้านดอลลาร์ฯ, และกัมพูชา 1.9 พันล้านดอลลาร์ฯ

ถึงแม้ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ตัวเลขเอฟดีไอของไทยในปี 2016 สูงกว่าอังก์ถัดถึง 2 เท่าตัว คือ 3.1 พันล้านดอลลาร์ฯ แต่เมื่อปี 2013 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้บริหารเต็มปีนั้น เงินนอกไหลเข้าไทยสูงถึง 15.9 พันล้านดอลลาร์ฯ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลประยุทธ์มีผลงานอย่างหนึ่ง นั่นคือ ออกกฎหมายและระเบียบต่างๆเพื่อเอื้อต่อการเข้าลงทุนของต่างชาติ กระทั่งดัชนีความสะดวกในการทำธุรกิจที่จัดทำโดยธนาคารโลกได้จัดไทยขึ้นสู่อันดับที่ 26 เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนจากอันดับที่ 48 เมื่อปี 2016 นับเป็นการไต่อันดับแบบก้าวกระโดดที่สุดในรอบ 15 ปี

รายงานบอกว่า ระบอบทหารของไทยผลักดันโครงการมาแล้วหลายอย่าง เพื่อดึงดูดเงินลงทุนทางตรงจากนอกประเทศ แผนการแรก คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งมุ่งจัดตั้งอุตสาหกรรมการผลิตตามแนวชายแดนเพื่อส่งออกสินค้าไปยังประเทศข้างเคียง คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา และมาเลเซีย โดยใช้แรงงานราคาถูกจากเพื่อนบ้าน

ปัญหาคือ พื้นที่ชายแดนของไทยขาดสาธารณูปโภค จึงมีนักลงทุนสนใจน้อย

แผนการที่สอง คือ ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งมุ่งส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรมไฮ-เทค 10 สาขา โดยเก็บภาษีอัตราพิเศษเพื่อจูงใจ แต่แผนการนี้มีคนสนใจน้อยเช่นกัน เพราะฟังดูเป็นนามธรรม และไทยไม่มีกำลังแรงงานที่จะรองรับเทคโนโลยีชั้นสูง

ล่าสุด เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2016 รัฐบาลประยุทธ์ประกาศนโยบายระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) มุ่งส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรม 10 สาขาเช่นกัน ครอบคลุมเขตอีสเทิร์นซีบอร์ดที่พัฒนามาตั้งแต่ทศวรรษ 1980

นักวิชาการและหน่วยงานด้านการพัฒนาให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า แนวคิดอีอีซีนับว่ามาถูกทาง เพราะเป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิม ทั้งปิโตรเคมี ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า อีกทั้งมีสาธารณูปโภครองรับ ทั้งท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ทางรถไฟ และไฟฟ้า แหล่งน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสีย

รัฐบาลประยุทธ์มีแผนทุ่มเงิน 1.9 ล้านล้านบาท พัฒนาท่าเรือ ทางรถไฟ ทางหลวง และสนามบินอู่ตะเภา ขณะคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เสนอแรงจูงใจด้านภาษี เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 13 ปี, เก็บภาษีเงินได้ส่วนบุคคลสำหรับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติในอัตราเพียงร้อยละ 17

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ข้อมูลว่า เมื่อปีที่แล้ว ไทยสูญเสียรายได้จากภาษี 6.5 พันล้านดอลลาร์ฯเนื่องจากมาตรการจูงใจของบีโอไอและสิทธิพิเศษต่างๆที่ให้แก่นักลงทุนต่างชาติ

อย่างไรก็ตาม รายงานบอกว่า ยังคงมีคำถามข้อใหญ่ที่ว่า ชาวบ้านในพื้นที่จะต่อต้านโครงการหรือไม่หลังจากมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนปีหน้า

“รัฐบาลไม่รับฟังความเห็นของประชาชน ไม่เปิดรับการมีส่วนร่วมในกระบวนการอีอีซี ในยุครัฐบาลทหาร ไม่มีใครกล้าออกมาคัดค้าน แต่หลังเลือกตั้งสถานการณ์จะไม่เหมือนกัน” ศรีสุวรรณ จรรยา นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมกล่าว.


Photo: AFP (file)