ไม่พบผลการค้นหา
เวลคัม ทู ยุคดิจิทัล! การปรับตัวของ ‘หมอดู’ ศาสตร์จากโบราณกาลสู่โลกยุคใหม่ ด้วยการเปิดไพ่ทำนายผ่านเฟซไทม์ ให้คำปรึกษาผ่านไลฟ์เฟซบุ๊ก ตลอดจนหุ่นยนต์หมอดูสุดล้ำด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ตรวจจับความรู้สึกลูกค้าได้

‘การดูดวง’ แม้ไม่มีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์อย่างชัดเจนว่าถือกำเนิดเมื่อไหร่ แต่เราต่างรับรู้ได้ว่ามันเป็นศาสตร์ทางความเชื่อที่อยู่คู่กับมนุษยชาติมาอย่างช้านานนับหลายพันปี ยึดโยงอยู่กับหลักต่างๆ ทั้งทางวัฒนธรรม ความเชื่อจักรวาล เรื่อยไปจนถึงความเชื่อทางศาสนา และเกิดขึ้นผ่านหลากวิธี ไม่ว่าจะเป็นไพ่ยิปซี ไพ่ทาโรต์ ดูดวงจากใบชา หรือการตรวจดวงชะตาผ่านเส้นลายมือ

ปัจจุบัน การดูดวงเป็นสิ่งที่ทั่วโลกยึดเป็นอาชีพทำกิน ทั้งยังเป็นอาชีพทำเงินได้ดีด้วย โดยประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเชื่อ และความนิยมในการดูดวงไม่น้อย หากกล่าวว่าหมอดูไม่ต่างจากจิตแพทย์ประจำสังคมสักเท่าไหร่ ก็คงเป็นความคิดที่ไม่เกินจริงนัก

ทั้งนี้ ในโลกที่เทคโนโลยีปั่นป่วน (disruptive technology) มีบทบาทในธุรกิจทุกภาคส่วน ธุรกิจดูดวง ก็ถือเป็นหนึ่งในเรื่องที่มีการโอบรับนำเทคโนโลยีมาใช้เช่นกัน จึงจะเห็นได้ว่า ตามฟีดโซเชียลมีเดียประเทศไทย การดูดวงออนไลน์เป็นเรื่องที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะทั้งสะดวกสบาย ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่ทำทุกอย่างได้สำเร็จรูปผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟน

จากก่อนหน้านี้ที่การดูดวงต้องดั้นด้นไปเจอหมอดู นัดคิว นั่งรอ และต้องอาศัย ‘ดวง’ อีกนั่นแหละว่าจะได้ดูหมอหรือไม่

“เมื่อก่อนการดูดวงทีหนึ่งคือ ลำบาก ต้องถ่อไปหาหมอที่อยู่บ้างไม่อยู่บ้าง มันลึกลับนะ ‘อะดวง’ เลยพยายามลดช่องว่างให้ (การดูดวง) ง่ายขึ้น และเป็นคอมมูนิตี้สำหรับคนชอบดูดวง” แม่หมอมิกิ - อิศฤาย์ วิรัชติ อายุ 24 ปี อดีตแม่หมอประจำเพจเฟซบุ๊กอะดวง ซึ่งปัจจุบันมีคนตามเกือบ 6 แสนคน บอกกับวอยซ์ ออนไลน์

Untitled-2.jpg
  • แม่หมอมิกิ - อิศฤาย์ วิรัชติ อดีตหมอดูประจำเพจเฟซบุ๊กอะดวง

มิกิเล่าว่า ส่วนตัวเป็นคนอิน และชอบเรื่องการดูดวงอยู่แล้ว จึงมองว่าการดูดวงนั้น เป็นตัวช่วยในการไกด์ไลน์ชีวิต ไกด์ไลน์การตัดสินใจ ว่าควรตัดสินใจทำอะไรตอนไหน อย่างไร

ด้วยวิธีการดูดวงของเพจอะดวงที่ง่ายแสนง่าย เพียงติดต่อทีมงานผ่านไลน์แอดหรือเพจ โอนเงินค่าดูดวง ส่งสลิปพร้อมคำถาม และรอหมอดูเปิดไพ่ส่งคำตอบกลับมา โดยสามารถเลือกแม่หมอ-พ่อหมอที่ต้องได้ด้วย ทำให้มีลูกค้าจำนวนมากเข้ามาใช้บริการ

“ลูกค้าแค่ทิ้งคำถาม เราก็ดูให้เขาผ่านการเปิดไพ่ ซึ่งมันมีข้อดี-ข้อเสีย การดูดวงถ้าได้เจอหน้าลูกค้าก็จะได้เปิดไพ่ด้วยตัวเอง ได้คราฟต์ ถามได้เยอะกว่า แต่บางคนก็ไม่ได้อยากถ่อไปไง อยากจ่ายเงินแล้วให้หมอตอบและคุยผ่านออนไลน์ดีกว่า บางคนเขาก็เป็นคนอินโทรเวิร์ต ส่วนตัวมองว่า ทั้งสองแบบแม่นเท่ากัน ลูกค้าเราเองก็ฟีดแบ็กว่าเราทำนายแม่น”

นอกจากนั้น เพจอะดวงเคยทำการไลฟ์สดดูดวง โดยให้แฟนเพจกดไลก์-กดแชร์ จากนั้นหมอดูจะเปิดไพ่ทาโรต์ให้คนละหนึ่งคำถาม ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมาก มีคนกดชม 3,000-4,000 คน/ไลฟ์

ลูกค้าส่วนใหญ่แน่นอนว่าคือ ผู้หญิง กับคำถามยอดฮิตที่แม่หมอมิกิเจอ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของความรัก และฮิตสุดๆ กับคำถามที่ว่า แฟนเก่าจะกลับมาไหม?

“ลูกค้าบางคนเขามีคำตอบในใจ แต่หมอดูที่ดีคือหมอดูที่จริงใจ ไม่มโน เปิดไพ่ทุกอัน ไม่คิดเองหรือพยายามให้คำปรึกษา หมอดูที่ดีคือหมอดูที่แม้จะเป็นคำตอบที่น่าเสียใจ ก็ต้องตอบ ต้องไม่โกหกลูกค้า”


ความนิยมของการดูดวงออนไลน์เริ่มมีมากขึ้น แม่หมอมิกิบอกจากประสบการณ์ที่ทำมาราว 1 ปี ว่าจากแต่ก่อนที่อะดวงเป็นเพจแรกๆ ที่ดูดวงออนไลน์ หลังๆ บรรดาหมอดูออฟไลน์ที่เคยไม่เห็นด้วยกับการดูหมอออนไลน์ก็เข้ามาในโลกออนไลน์มากขึ้น เพราะมองว่าเป็นช่องทางหนึ่งในการเข้าถึงลูกค้า ทั้งโซเชียลมีเดียก็เข้าถึงและใช้งานง่าย

แม่หมอมิกิที่ดูดวงเฉพาะผ่านออนไลน์สรุปรายได้ต่อเดือนว่า ถ้าดูเป็นจ็อบเสริม ก็ตกอยู่ที่เดือนละ 20,000-30,000 บาท แต่ถ้าเป็นหมอดูที่ดูประจำเป็นงานหลัก เดือนๆ หนึ่งทำรายได้ได้สูงถึง 60,000 บาท เลยทีเดียว

ไม่เพียงแต่การดูดวงออนไลน์เท่านั้น แต่ปัจจุบัน ‘หุ่นยนต์’ สามารถดูดวงให้เราได้แล้วเหมือนกัน ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงแค่ตู้กดใบเซียมซีที่มีฤาษีหมุนไม้เท้าอยู่ข้างในแต่อย่างใด

BUDDHA-I-02.jpg
  • บุดด้า ไอ (Buddha I) หุ่นยนต์ดูดวงของบริษัทสตาร์ตอัพโลวอต แลบ (Lovot Lab) จากประเทศเกาหลีใต้

ปี 2017 สตาร์ตอัพโลวอต แลบ (Lovot Lab) ผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีที่เน้นดีไซน์สวยงามล้ำสมัยจากเกาหลีใต้ ประเทศที่มีตลาดการดูดวงที่ใหญ่อีกหนึ่งแห่งของโลก เปิดตัวบุดด้า ไอ (Buddha I) หุ่นยนต์เอไอไซส์เด็กเล็กนั่งขัดสมาธิ ทำนายดวงรูปแบบคุกกี้เสี่ยงทาย บุดด้า ไอจะอ่านสีหน้า ท่าทาง เพศ พร้อมคาดเดาอายุด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ก่อนมอบคำทำนายสั้นๆ ที่เป็นเมสเสจที่ดึงมาจากโลกอินเทอร์เน็ต

ด้านเสิร์ชเอนจินรายยักษ์ของโลกอย่างกูเกิลก็ได้มีการเปิดรายงานไปช่วงกลางปีที่ผ่านมาในงาน Google I/O 2018 โดยมีงานพัฒนาหนึ่งเกี่ยวกับ Deep Learning (อัลกอริธึมที่สร้างให้หุ่นยนต์เรียนรู้และเข้าใจเหมือนมนุษย์) ที่ทำการทำนายว่าผู้ป่วยจะเสียชีวิตในเวลาใดในอนาคต ซึ่งผลก็คือ การทำนายของอัลกอริธึมดังกล่าวมีความแม่นยำสูงมากทีเดียว

แม้การดูดวงจะมีความรู้สึกเชิงจิตวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้อง และอีกไกลกว่าที่หุ่นยนต์จะทำนายได้เทียบเท่ามนุษย์ แต่การพัฒนาดังกล่าวก็คลาดสายตาไม่ได้เหมือนกัน

On Being
198Article
0Video
0Blog