ไม่พบผลการค้นหา
การมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนในการชุมนุมไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ และเด็กมีสิทธิในการชุมนุมไม่ต่างจากประชาชนกลุ่มอื่น ๆ โดยมีรัฐธรรมนูญไทย กฎหมายการคุ้มครองเด็ก และข้อตกลงระหว่างประเทศที่รับรองสิทธินี้อยู่ นั่นคือ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) มาตรา 12, 13, 15 ว่าด้วยการรวมกลุ่มโดยสันติ โดยต้องมีขอบเขต เช่น การชุมนุมต้องเป็นการชุมนุมโดยสงบ เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย

สิทธิในการแสดงออกและรวมกลุ่มนี้ไม่ใช่สิทธิเด็ดขาด และถูกจำกัดได้ อย่างไรก็ตาม การที่รัฐจะจำกัดสิทธิในการชุมนุมนั้นจะต้องมีหลักเกณฑ์ โดยเฉพาะหลักเกณฑ์พื้นฐาน 3 ประการ คือ หลักกฎหมาย (Legality) หลักความจำเป็น (Necessity) และหลักความได้สัดส่วน (Proportionality) กล่าวคือ รัฐต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าการจำกัดสิทธิในการชุมนุมนั้นชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นไปตามอำเภอใจและมีความสมเหตุสมผล เป็นการใช้อำนาจเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันภัยร้ายแรงที่กำลังจะเกิดขึ้น และได้สัดส่วนกับสิ่งที่เป็นภัย เพื่อผลประโยชน์ในด้านความมั่นคงและความปลอดภัยของประชาชน นอกจากนี้ก็ยังมีหลักเกณฑ์อื่น ๆ ที่ควรปฏิบัติตามอีก เช่น หลักความชอบธรรม หรือหลักความเป็นสากล โดยต้องคำนึงถึงว่า รัฐไม่ใช่ผู้ที่ “ให้สิทธิ” แต่เป็นผู้ที่มีหน้าที่ “ประกันสิทธิ” ให้แก่ประชาชนในการชุมนุม


สถานการณ์การชุมนุมของเด็กเละเยาวชนในปัจจุบัน

สถานการณ์การชุมนุมในช่วงที่ผ่านมามีมิติที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง จากข้อมูลของภาคประชาสังคม พบว่า ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 จนถึงเดือนสิงหาคม 2564 มีการรวมกลุ่มทั้งสิ้นกว่า 1,800 ครั้งทั่วประเทศ ซึ่งแทบไม่มีการลงข่าวเผยแพร่ในทางสาธารณะเลย และมีประชาชนอย่างน้อย 1,300 คนถูกดำเนินคดีไปในจำนวนนี้

มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีกว่า 180 คนได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิในการรวมกลุ่ม และได้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับเด็กไปแล้วกว่า 115 คนในช่วงระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเด็กอายุน้อยที่สุดที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 มีอายุเพียง 14 ปี และเด็กอายุน้อยที่สุดที่ถูกฟ้องโดยเจ้าหน้าที่ภายใต้ พรก.ฉุกเฉินฯ มีอายุเพียง 12 ปีเท่านั้น

นอกจากนี้ก็ยังมีข้อมูลว่า เยาวชนจำนวนหนึ่งได้รับผลกระทบและเกิดบาดแผลทางร่างกายจากการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ ทั้งการใช้กระสุนยาง แก๊สน้ำตา และรถฉีดน้ำแรงดันสูง

ผู้ชุมนุมในช่วงที่ผ่านมานี้ไม่ใช่กลุ่มเดิมกับผู้ที่ไปร่วม Flash Meetings ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เด็กกลุ่มปัจจุบันที่ออกมาชุมนุมเป็นกลุ่มมีฐานะทางเศรษฐกิจยากจน ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ได้เข้าเรียน ไม่มีงานทำ ทำให้เกิดความกดดันและต้องเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองและเข้าร่วมชุมนุม วิธีการสื่อสารของผู้ชุมนุมกลุ่มนี้ก็เป็นวิธีการใหม่ เช่น มีการสื่อสารผ่านแอปพลิเคชัน Tiktok มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาทำความเข้าใจต่อไป

6 ต.ค. ดินแดง

หลักเกณฑ์ในการบริหารจัดการการชุมนุม และกรอบการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่

เครื่องมือในกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องและถูกนำมาใช้ในการบริหารจัดการการชุมนุมคือ พรก.ฉุกเฉิน ซึ่งคลุมเครือในหลักการจำกัดสิทธิในการชุมนุม และยังเป็นกฎหมายไทยที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดในเวทีโลก จึงเห็นว่าควรยกเลิกการบังคับใช้หรือปฏิรูปเสียที ไม่เพียงเท่านั้น การบังคับใช้ในปัจจุบันยังมีการเอามาตรา 9 ของพรก.ฉุกเฉิน มาขยายต่อ เช่น การออกประกาศจำกัดสิทธิของสื่อมวลชน แต่ยังถือเป็นเรื่องดีที่บางกรณีศาลมีคำสั่งห้ามไม่ให้ฝ่ายบริหารออกประกาศมาจำกัดสิทธิได้อีก พรก.นี้ ฝ่ายบริหารได้ใช้ในการขยายอำนาจตนเองมาก และนอกจากพรก.ฉุกเฉิน ก็ยังมีกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องและนำมาใช้ในการฟ้องดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมร่วมด้วยอีก เช่น พรบ.การชุมนุมสาธารณะ พรบ.จราจร พรบ.เครื่องมือกระจายเสียง และกฎหมายอาญา

ตามหลักเกณฑ์แล้ว การใช้กฎหมายฉุกเฉินต้องปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และมีพันธกรณีพิเศษที่ต้องแถลงให้เลขาธิการสหประชาชาติทราบด้วยทุกครั้ง แต่เชื่อว่า รัฐไทยไม่เคยได้แจ้งให้สหประชาชาติทราบในทุกครั้งที่มีการใช้และต่ออายุ ไม่ว่าจะเป็นการใช้กฎหมายฉุกเฉินในกรณีสามจังหวัดชายแดนใต้ หรือในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากนี้ก็ยังมีข้อกำหนดอื่น ๆ ที่ต้องปฏิบัติตาม ICCPR ซึ่งรวมไปถึงการให้ความเห็น (General Comment) ซึ่งแถลงโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนภายใต้ ICCPR ขององค์การสหประชาชาติฉบับที่ 34 เรื่องการแสดงออกและการรวมกลุ่ม และฉบับที่ 37 เรื่องการชุมนุม ที่ระบุว่าการสลายการชุมนุมจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการชุมนุมที่รุนแรงเท่านั้น ทั้งนี้รัฐธรรมนูญมาตรา 26 ของไทยมีความสอดคล้องกับความเห็นทั้งสอบฉบับ

ตำรวจ กระสุนยาง ม็อบ คาร์ม็อบ 1 สิงหาคม 64 -6DCB-463A-B1FD-646282F396C8.jpeg

ในประเด็นการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ตามหลักการสากล หากอ้างอิงตามหลักการใช้อาวุธขององค์การสหประชาชาติ (UN) ในการปราบปรามหรือใช้กำลังสลายการชุมนุม ก่อนจะไปถึงขั้นตอนของการใช้อาวุธในการควบคุมการชุมนุม จะต้องใช้ De-Escalation Technique หรือวิธีการลดระดับของการชุมนุมในรูปแบบอื่นๆ เสียก่อน เช่น การตักเตือนด้วยวาจา การเจรจา การใช้รถฉีดน้ำหรือแก๊สน้ำตา ซึ่งเป็น Less Lethal Weapon (อาวุธที่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตน้อยกว่า) และการใช้อาวุธเหล่านี้ก็ต้องมีหลักในการใช้

เช่น ต้องเล็งไปที่ผู้ที่กำลังก่อความรุนแรงเท่านั้น ไม่ใช่ใช้กับผู้ชุมนุมทุกคนเป็นการทั่วไปอย่างไม่แยกแยะ และต้องลดภัยที่อาจจะเกิดตามมาจากการใช้อาวุธนั้นให้มากที่สุด หรือ แก๊สน้ำตาต้องใช้เป็นลำดับสุดท้ายหลังการเจรจา และต้องให้เวลาหลังการประกาศก่อนการสลายการชุมนุมหรือก่อนการใช้แก๊สน้ำตา เป็นต้น

ส่วนกระสุนยางนั้นไม่ถือเป็น Less Lethal Weapon แต่เป็น Firearm (อาวุธปืน) การใช้จึงต้องใช้อย่างจำกัดมาก เล็งเป้าหมายเฉพาะบุคคลที่รุนแรงด้วยความจำเป็นในการป้องกันตัวหรือป้องกันภัยที่อาจนำไปสู่ความตายหรือบาดเจ็บอย่างสาหัสเท่านั้น และต้องพึงระลึกไว้ว่า การใช้อาวุธปืนในการสลายการชุมนุม มิชอบเสมอ และถ้ารู้ว่ามีเด็กในที่ชุมนุมก็ต้องห้ามใช้อาวุธเช่นนั้น

นอกจากนี้ หากจะใช้อาวุธปราบปรามการชุมนุม เจ้าหน้าที่ก็จะต้องจัดให้มีแพทย์อยู่ในบริเวณใกล้เคียงด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ไทยอาจยังไม่ชัดเจนนักในการปฏิบัติการตามหลักการเหล่านี้ และพรก.ฉุกเฉินเองไม่ได้ระบุเรื่องเหล่านี้เลย แต่กลับมาบังคับครอบคลุมทุกกฎหมายรองที่ใช้ จึงเป็นสิ่งที่น่ากังวล นอกจากนี้ พฤติการณ์ที่ผลักดันให้ผู้ชุมนุมอยู่ในที่แคบแล้วใช้แก๊สน้ำตานั้นก็ถือว่าไม่เหมาะสมและไม่ควรกระทำ

นอกจากประเด็นดังกล่าว ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ ได้ย้ำเตือนว่า รัฐมีความรับผิดชอบ (State Accountability) คือ 1. รัฐต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ 2. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ควรเข้าไปตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐได้ทันที และ 3. จะต้องเชื่อมโยงกับกลไกขององค์การสหประชาชาติ

6 ต.ค. ดินแดง

หลักเกณฑ์การปฏิบัติหากเกิดการจับกุมเด็กและนำเด็กเข้าสู่กระบวนการศาล

การจับกุมเด็กและเยาวชนที่มาร่วมชุมนุมโดยทั่วไปแล้วจะต้องมีหมายจับ ห้ามใช้ตรวนในการควบคุมตัว และการกักตัวต้องแยกกับผู้ใหญ่ หรือตามหลักการแล้วก็ไม่ควรกักตัวเลย ในการดำเนินกระบวนการเหล่านี้จะต้องมีสหวิชาชีพเข้ามามีส่วนร่วมด้วยตั้งแต่ต้น และภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังจับกุมนั้นสำคัญมาก จะต้องให้เด็กเข้าถึงทนายความและผู้ปกครอง ถึงแม้ว่ายังไม่ได้นำตัวเด็กขึ้นศาลเยาวชน แต่ควรที่จะนำเด็กเข้าสู้กระบวนการทางศาลโดยพลันภายใน 24 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่จะต้องใช้มาตรการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเด็ก ใช้หลัก non-custodial (ไม่ควบคุมตัว) และต้องดูเรื่องพื้นฐานของเด็กว่าเป็นใครอย่างไรประกอบด้วย

หากต้องให้เด็กขึ้นศาล เจ้าหน้าที่รัฐต้องพิจารณาว่ามีวิธีอื่นอีกหรือไม่ สามารถคุ้มครองเด็กโดยวิธีใดๆ ได้อีกไหม ซึ่งศาลเยาวชนจะมีแนวทางที่ไม่ต้องกักตัวเด็ก สามารถปล่อยตัวชั่วคราวได้ทันทีโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ใด ๆ และเจ้าหน้าที่รัฐก็จะต้องไม่ลืมที่จะใช้นโยบายและเครื่องมืออื่น ๆ นอกจากการใช้กฎหมายและกฎหมายอาญา เช่น พรบ.คุ้มครองเด็ก และพรบ.พัฒนาเด็กและเยาวชน นอกจากนี้ก็ยังมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการในเรื่องการฟื้นฟูเยียวยาเด็กที่ผ่านกระบวนการเหล่านี้ด้วย


6 ต.ค. ดินแดง

ข้อเสนอต่อประเด็นสิทธิเด็กในการชุมนุมอย่างสงบ

ศาสตราจารย์กิตติคุณวิทิต มันตาภรณ์ มีข้อเสนอแนะถึงสิ่งที่ต้องมีการปรับปรุงพัฒนาอย่างเร่งด่วนเพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่และสหวิชาชีพส่งเสริมสิทธิพลเมืองของเด็กได้ดียิ่งขึ้น โดยกล่าวว่า ตัวแปรสำคัญ (Agent of Change) ในการทำงานด้านสิทธิเด็กที่ต้องมีการพัฒนาเพื่อก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง มีดังนี้

เจ้าหน้าที่รัฐ: ตำรวจผู้เข้าปราบปรามการชุมนุมจะต้องให้ความร่วมมือและทำงานร่วมกับหน่วยงานเอกชนและภาคประชาสังคม โดยจัดให้มีการฝึกอบรม พัฒนาความสัมพันธ์กับตำรวจให้ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด สร้างศักยภาพให้ตำรวจให้มีกำลังใจในการทำงานที่ดี เช่น เสนอให้ UNICEF ทำงานกับตำรวจที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน การเรียนการสอนจะต้องพูดถึงการปฏิบัติต่อเด็กด้วย

ต้องมีแผนและนโยบายระดับสูงให้กับตำรวจฝ่ายปฏิบัติ จัดเตรียมเครื่องมือที่เหมาะสมในการปฏิบัติ ตำรวจเองก็ต้องได้รับการคุ้มครองโดยจัดให้มีอุปกรณ์ในการป้องกันตนเองที่ดี จะเป็นการป้องกันและลดการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่เองในการโต้ตอบ และควรเน้นการเอื้ออำนวยความสะดวกแก่กันและกัน เวลาตำรวจปฏิบัติหน้าที่ต้องชี้แจงแนวทางว่าจะไปไหน อย่างไร

ผู้บังคับบัญชาต้องมีคำสั่งที่ละเอียดว่าสิ่งใดทำได้และสิ่งใดทำไม่ได้ เนื่องจากการอ้างกฎหมายบางครั้งไม่พอ เช่น ในกรณีที่มีเด็กในที่ชุมนุมต้องทำอะไรและไม่ทำอะไร ควรจัดให้ตำรวจได้รับการฝึกอบรมการเจรจากับเด็ก เรียนรู้จิตวิทยาในการสื่อสารต่อเด็กในที่ชุมนุม

นอกจากนี้ ผู้บังคับใช้กฎหมายดำเนินคดีกับเด็กจะต้องหาแนวทางการจัดการคดีด้วยวิธีอื่นๆ ไม่ให้เป็นคดี ให้การคุ้มครองปกป้องพิเศษ ไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายอาญาอย่างเดียว ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมงแรกหลังจับกุมก่อนที่เด็กจะถึงศาลถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก

ภาครัฐต้องชี้แจงกับสังคมว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ได้ให้การคุ้มครองสิทธิทางกฎหมายขั้นพื้นฐานกับเด็กหรือไม่ การจับกุมเป็นไปโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอกหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงในการซ้อมทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมต่อเด็กในช่วงเวลาดังกล่าว เด็กจะต้องเข้าถึงทนายและผู้ปกครอง การจะควบคุมตัวเด็กได้ก็ต้องมีหมายจับ และห้ามใช้ตรวนในการควบคุมตัว

ม็อบ 10 สิงหาคม 64 ตำรวจ กระสุนยาง แก๊สน้ำตา ดินแดง FB9294B7-E0B4-47C4-B167-42022DD9F4BA.jpegม็อบ ดินแดง 11 สิงหาคม ทะลุฟ้า 068535E5-AD02-4612-B080-BC548C9A9CF4.jpeg

ผู้ชุมนุม: การที่เด็กและเยาวชนผู้มาร่วมชุมนุมทราบสิทธิของตนเองจะช่วยให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น เมื่อออกไปร่วมการชุมนุมก็ควรที่จะบอกทางบ้านและไม่พกพาอาวุธในการไปชุมนุม และควรแจ้งว่าจะไปชุมนุมในสถานที่ใด ทิศทางใด ไม่ใช่การปกปิด เพื่อประโยชน์ในการรักษาสิทธิของตน

ศาล: สามารถใช้ดุลยพินิจในทุกขั้นตอนของกระบวนการที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน จำหน่ายเด็กและเยาวชนออกจากกระบวนการทางอาญาให้เร็วที่สุด

หน่วยงานเอกชน หน่วยงานอิสระ และภาคประชาสังคม: จะต้องมีการสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น และต้องเป็นอิสระ มีตัวกลางในการตรวจสอบข้อมูลก่อนเผยแพร่ การตรวจสอบองค์กรตำรวจต้องเกิดขึ้นทั้งจากภายในและภายนอกเพื่อให้เกิดความโปร่งใส องค์กรภายนอกควรจัดทำรายงานกรณีศึกษา ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจสถานการณ์ที่บริเวณดินแดงมากขึ้น

สำหรับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบรายงานสถานการณ์สิทธิและผู้ตรวจการรัฐสภา มีความเห็นว่ายังไม่มีบทบาทสำคัญเพียงพอ จะต้องตั้งคนทำงานเฉพาะกิจเรื่องเด็ก ทำงานรับคำร้องเรียนและตรวจสอบเรื่องร้องเรียน ไปจนถึงการถ่วงดุลอำนาจ และต้องมีการใช้กลไกอื่น ๆ เข้ามาช่วยคุ้มครองสิทธิของเด็กให้มากขึ้น เช่น การกำหนดหรือตั้งผู้พิทักษ์เด็ก การใช้พรบ.คุ้มครองเด็กและพรบ.ศาลเยาวชน ใช้คำสั่งคุ้มครอง (Protection Order) ไม่ใช่มาตรการทางอาญา เป็นต้น

สถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษา: ต้องช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจให้เด็กทราบสิทธิของตนเอง หากผู้ปกครองและครูอาจารย์ไม่ช่วยพัฒนาในเรื่องนี้ ก็ต้องจัดให้มีการอบรมพ่อแม่ผู้ปกครองและครูผู้สอน ในโรงเรียนครูอาจารย์ก็ต้องมีประชาธิปไตยในการเรียนการสอน ให้เด็กวิจารณ์ได้ และผู้ใหญ่ต้องสื่อสารด้วยวิธีที่ดีเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับเด็ก

ศาสตราจารย์กิตติคุณวิทิต มันตาภรณ์ ทิ้งท้ายว่า สถานการณ์ที่ดินแดงในขณะนี้นั้น ถือเป็นผลลัพธ์ ไม่ใช่สาเหตุ ต้องมีการตั้งคำถามว่าทำไมเด็กกลุ่มนี้จึงออกมาดินแดงช่วงนี้ ตอนนี้ ในลักษณะนี้ ซึ่งคำตอบก็คือพวกเขาขาดประชาธิปไตยตั้งแต่ต้น รู้สึกว่าเสียงของพวกเขาไม่ถูกรับฟัง และเป็นเด็กกลุ่มยากจนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสภาพการเมืองและเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ จึงเกิดการปฏิบัติเพื่อคัดค้านอำนาจเผด็จการ

เราจะต้องพิจารณาว่า พวกเราทำอะไรได้บ้างเพื่อสร้างความหวังและช่วยเหลือพวกเขา หรือจะใช้เทคโนโลยีและแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นสื่อสารออกไปในวงกว้างอย่างไร ในการผลักดันเรื่องนี้ เราต้องไม่ท้อแท้ ไม่มองแต่การสร้างความเปลี่ยนแปลงระดับมหภาคเพียงอย่างเดียว แต่ควรทำในระดับจุลภาคด้วย คือ ทำสิ่งเล็ก ๆ เท่าที่ทำได้ ค่อย ๆ เปลี่ยนความคิดและความเข้าใจกันและกันไปทีละเล็กทีละน้อย และตัดวัฏจักรความรุนแรงทางลบที่ตัวเราเองก่อน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย คือ การเปลี่ยนแปลงเชิงปฏิรูป (Transformative Change) เพื่อสร้างความหวัง

รถฉีดน้ำ สลายการชุมนุม ม็อบ ดินแดง 29 สค_17.jpg

เรียบเรียงโดย ณฐพร ส่งสวัสดิ์ อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม