ไม่พบผลการค้นหา
‘แกนนำสามมิตร’ แจง หาก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ พปชร. ไม่มีปัญหาเพราะถือเป็นนายทหารคนเดียว และไม่ถือเป็นการสืบทอดอำนาจ แนะพรรคการเมืองเลิกสร้างความขัดแย้ง หันมาแข่งกันด้วยนโยบาย

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ประธานคณะกรรมการรณรงค์การหาเสียงเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พร้อมด้วยกรรมการ อาทิ นายภิรมย์ พลวิเศษ, นายธนกร วังบุญคงชนะ, และนายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ร่วมประชุม

นายสมศักดิ์ เปิดเผยผลการประชุมว่า ประเด็นที่คณะกรรมการเป็นห่วงคือการสืบทอดอำนาจหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่งพรรคการเมืองบางพรรคกล่าวย้ำในประเด็นนี้และเกรงว่าจะเอาประเด็นนี้มาพูดในช่วงใกล้เลือกตั้ง เพราะพรรคการเมืองเหล่านี้ไม่พยายามเสนอนโยบาย แต่หาเรื่องสร้างความขัดแย้ง

อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้มีความพยายามในการสืบทอดอำนาจ เห็นได้จากการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกที่ไม่ใช่สายบูรพาพยัคฆ์สายเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ แต่เป็น พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท และ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ที่มาจากสายอื่น หรือแม้กระทั่งว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต 350 เขต และแบบบัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐก็ไม่ใช่ทหารชั้นนายพล

"ขออย่าให้เอาเรื่องการสืบทอดอำนาจมาพูดอีก เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในสังคม และจะเพื่อที่จะใช้เวลาทำงานให้พี่น้องประชาชนกินดีอยู่ดี เพราะบ้านเมืองเสียโอกาส เสียเวลาทำงานมาหลายปีแล้ว" นายสมศักดิ์ กล่าว

ส่วนแคนดิเดตนายกฯ จะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะพิจารณาให้ใครมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็นเพียงทหารคนเดียวไม่ได้มีปัญหาอะไร หาก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดต จะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย คือ อาจจะมีคนช่วยหาเสียง แต่อาจกระทบต่อคะแนนเสียง ส.ส. เขต

ขณะที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งภาคอีสาน มั่นใจว่าจะได้ ส.ส. ไม่ต่ำกว่า 50 ที่นั่ง นายสมศักดิ์ บอกว่า เมื่อมีการประเมินจำนวนที่นั่งจะมีการวิจารณ์กันตามมา แต่แนวทางการหาเสียงของพรรคนอกจากการนำเสนอนโยบายแล้ว ต้องทำความเข้าใจให้ประชาชนรับทราบ ว่าพรรคไม่ได้สืบทอดอำนาจ

นายสมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า การแบ่งเขตและกลไกต่างๆ ในกฎหมาย ไม่ได้ทำให้พรรคพลังประชารัฐได้เปรียบ และมีหลายจุดที่เสียเปรียบกว่าพรรคอื่น ทั้งเรื่องผู้สมัครหน้าใหม่จำนวนมาก และจะตั้งพรรคช้ากว่าที่อื่น

ส่วนกรณีนายสิระ เจนจาคะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เขตหลักสี่ ลงพื้นที่แจกข้าวและวีลแชร์ อาจเข้าข่ายหาเสียงหรือซื้อเสียงล่วงหน้าหรือไม่นั้น นายสมศักดิ์ บอกว่า ยังไม่ได้มีการหารือกันเรื่องนี้

ที่ประชุม พปชร. เห็นชอบแผนหาเสียงเน้นลงพื้นที่ - แบ่งความรับผิดชอบเป็นภาค

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกคณะกรรมการรณรงค์การหาเสียงเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยหลังการประชุมสรุปการลงพื้นที่รับสมัครสมาชิกพรรคที่จังหวัดแพร่และเชียงรายว่า ชาวบ้านตื่นตัวทางการเมืองและสนใจการเลือกตั้ง นอกจากนี้ ยังสะท้อนปัญหาราคาพืชผลการเกษตรและชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่ดีนักเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งตอนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ก็ได้แก้ปัญหาไปบ้างแล้ว

ทั้งนี้ที่ประชุมยังได้ให้ความเห็นชอบแผนการหาเสียงที่เน้นการลงพื้นที่และตั้งเวที่ปราศรัย ตามนโยบายกลาง และแนวทางส่วนตัวของผู้สมัคร ส.ส. แต่ละเขตพื้นที่ ซึ่งแบ่งการรับผิดชอบเป็นภาค คือ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ดูแลภาคอีสาส, นายอนุชา นาคาศัย ดูแลภาคกลาง, และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ดูแลภาคเหนือ


ธนกร.jpg

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกคณะกรรมการรณรงค์การหาเสียงเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐ

ส่วนการเจาะพื้นที่ภาคอีสานซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย นายธนกร เปิดเผยว่า ตอนลงพื้นที่ในฐานะกลุ่มสามมิตร เห็นว่าชาวบ้านยังติดกับพรรคการเมืองเก่าๆ แต่ตอนนี้เมื่อลงพื้นที่ในฐานะพรรคพลังประชารัฐเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน เริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ โดยประชาชนชื่นชอบและตอบรับนโยบายของพรรค เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นอย่างดี เชื่อว่าในอนาคตถ้ามีนโยบายที่ดี พี่น้องประชาชนจะให้โอกาส

ส่วนวันที่ 5 - 7 ธ.ค.นี้ นายสมศักดิ์ และแกนนำของพรรคจะลงพื้นที่จังหวัดพิจิตรและจังหวัดสุโขทัย เพื่อเปิดศูนย์ประสานงานพรรค และรับสมัครสมาชิกพรรค

ข่าวที่เกี่ยวข้อง