ไม่พบผลการค้นหา
เสียงบ่นพึมพำพ่วงตัดพ้อดังระงม หลังทราบคำตัดสินของศาลที่ให้ยกฟ้องบริษัทผู้นำเข้า “เครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดปลอม” มาขายให้กับกองทัพซื้อไปเครื่องละล้านบาทเศษ ในทำนองว่า ชาตินี้จะมีใครต้องรับผิดชอบกับการซื้อแท่งพลาสติกเปล่าๆ กลวงๆ ติดเสาอากาศเด็กเล่น บ้างไหมเนี่ย

ทำไมเราต้องเสียเงินภาษีไปกับของอะไรพวกนี้ แทนที่จะเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านอื่นๆ

ยังไม่รวมถึงคนที่ได้รับความเดือดร้อน เพราะถูกเครื่องนี้ชี้ตัว จนกลายเป็นคดีความ ต้องเสียทั้งเงินทั้งทองเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง

ใครจะเยียวยาคนเหล่านั้น

ก่อนจะไปลงในรายละเอียด อยากให้ข้อมูลปูพื้นไว้ก่อนว่า เครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดฉาวที่ถูกเรียกว่า “ไม้ล้างป่าช้า” นี้ มีอยู่ 3 ยี่ห้อด้วยกัน คือ GT200 (ที่เรารู้จักกันดี) Alpha 6 และ ADE-651 โดยทั้งหมดจะหน้าตาจะคล้ายๆ กัน ต่างกันนิดหน่อยในรายละเอียด เช่น มีกระบอกใส่การ์ดแยกหรือใส่การ์ดในตัวเลย และคันที่ถือโค้งหรือตรง แต่สิ่งที่เหมือนกันคือมีผู้ผลิตเป็นชาวอังกฤษ และเป็นของเก๊ลวงโลกเหมือนๆ กัน

สำหรับเครื่องที่เป็นของกลางในคดีล่าสุด คือ Alpha 6 ไม่ใช่ GT200

ตัด ADE-651 ออกไป เพราะส่วนราชการไทยไม่ได้ซื้อมาใช้ กว่า 1,398 พันเครื่องที่ถูกนำเข้ามาในไทย เสียเงินไปกว่า 1.13 พันล้านบาท เป็น Alpha 6 ราว 40% ส่วนที่เหลืออีก 60% คือ GT200

ที่น่าสนใจคือ 90% ของ GT200 จัดซื้อโดยกองทัพบก และเกือบทั้งหมด เกิดขึ้นสมัย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทยคนปัจจุบัน พี่คนกลางของสามหนุ่มบูรพาพยัคฆ์ เป็น ผบ.ทบ. ระหว่างปี 2550 – 2553

เหตุผลที่ศาลแขวงดอนเมือง “ยกฟ้อง” บริษัทแจ๊คสันฯ ในข้อหาฉ้อโกง ก็เพราะศาลมองว่า เอกชนรายนี้เป็นเพียงผู้นำเข้า ไม่มีพยานหลักฐานที่ยืนยันว่า มีส่วนรู้เห็นกับการทำแคตตาล็อกอวดอ้างคุณสมบัติเกินจริง ที่ว่าตรวจสารเสพติดได้ 10 ชนิด วัตถุระเบิด 7 ชนิด ทำงานโดยไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ ใช้แค่ไฟฟ้าสถิตในร่างกาย

ทั้งที่จริงๆ เป็นแค่พลาสติกแข็ง 2 ชิ้นประกบกัน ภายในไม่มีวงจรไฟฟ้า และเมมโมรีการ์ดก็เป็นเพียงกระดาษแข็ง

แม้อัยการจะบอกว่า ยังมีคดีลักษณะนี้รอส่งฟ้องศาลอีกนับสิบ แต่ในเมื่อศาลวางบรรทัดฐานไว้เช่นนี้แล้ว น่าสนใจเหมือนกันว่า ในคดีอื่นๆ อัยการจะพลิกมุมกฎหมายหรือข้อเท็จจริง เพื่อเอาผิดผู้เกี่ยวข้องอย่างไร

อีกคดีที่น่าติดตามและตั้งคำถาม คือการไต่สวนเพื่อเอาผิดนายทหารผู้เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อ GT200 กว่า 40 นาย ที่ ป.ป.ช.รับไว้เป็นคดีตั้งแต่ปี 2555 มีคำสัญญาว่าใกล้จะสรุปสำนวนให้ที่ประชุม ป.ป.ช.พิจารณาชี้มูลหลายครั้งหลายหน ทว่าถึงปัจจุบัน ความคืบหน้าของคดีกลับเงียบหายไปกลับสายลม

และเชื่อหรือไม่ว่า ผู้ผลิตและขาย GT200 อย่างแกรี่ โบลตัน เจ้าของบริษัท โกลบอล เทคนิคัล จำกัด (ชื่อเครื่อง GT ก็มาจากชื่อย่อบริษัท) ได้ถูกศาลอังกฤษตัดสินให้จำคุกในคดีฉ้อโกงไปตั้งแต่ปี 2556 และอีกไม่นานก็จะได้ออกจากคุก

ทว่าการตรวจสอบเพื่อเอาผิดผู้เกี่ยวข้องในไทย กลับยังไปไม่ถึงไหน

ในอดีตเวลาพูดถึง “ค่าโง่” มักจะหมายถึงโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่รัฐทำสัญญาเสียเปรียบ จนสุดท้ายถูกเอกชนเรียกค่าเสียหาย ทั้งๆ ที่โครงการก็สร้างไม่เสร็จ ไม่มีใครได้ใช้ประโยชน์อะไร เสียงบประมาณไปฟรีๆ เช่น ค่าโง่ทางด่วน ค่าโง่คลองด่าน

แต่กรณีเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดปลอม ก็น่าจะเรียกว่า “ค่าโง่” ได้เหมือนกัน แม้จะแสลงใจ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ผู้ขอให้ใช้คำว่า “ค่าซื้อความรู้ที่แพงไปหน่อย” แทน ก็ตาม

ประเด็นสำคัญ ในการตรวจสอบหาคนผิดจากการซื้อ GT200 หรือ Alpha 6 ความจริงก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร มีแค่ 3 ประเด็นหลัก

1.      เหตุใดหน่วยงานราชการต่างๆ ถึงจัดซื้ออุปกรณ์ที่ไม่มีประสิทธิภาพนี้มาใช้งาน แถมซื้อมาเป็นจำนวนมาก ไม่มีกระบวนการตรวจสอบคุณภาพก่อนหรือ

2.      วิธีการจัดซื้อจัดจ้าง ทำไมถึงใช้วิธี “พิเศษ” ไม่ใช่วิธี “ประมูล” คือไม่มีการแข่งขันด้านราคาและคุณภาพ ทำให้ได้ทั้งของปลอม และแสนแพง

3.      ราคาการจัดซื้อต่อเครื่องที่ต่างกันค่อนข้างมาก เช่น กองทัพบกจะจัดซื้อเฉลี่ยเครื่องละ 9 – 9.5 แสนบาททั้งๆ ที่ซื้อจำนวนมาก น่าจะได้ราคาถูกลง ขณะที่กรมศุลกากรจัดซื้อได้ในราคาเครื่องละ 4.2 แสนบาท เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

แต่อีกคำถาม ที่น่าถามยิ่งไปกว่า ก็คือที่สุดแล้ว จะมีใครต้องรับผิดชอบกับการเสียค่าโง่นี้ไหมนะ หรือจะสรุปเป็นแค่ความบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ หรือกระทั่งไม่สรุปอะไรเลย ปล่อยให้เรื่องราวค่อยๆ สูญหายไปจากความสนใจของสังคม

ถ้าเช่นนั้นเงินพันล้าน ก็เป็น “ค่าซื้อความรู้” ที่แพงไปหน่อยจริงๆ และที่สำคัญ คือเงินที่เอาไปซื้อ ไม่ใช่เงินของตัวผู้ซื้อเอง แต่เป็นเงินจากกระเป๋าของพวกเราทุกคน (อีกเช่นเคย)

พงศ์ บัญชา
0Article
0Video
0Blog