ไม่พบผลการค้นหา
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาดซื้อขายอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในโลก และไทยเป็นประเทศที่ทุ่มงบกลาโหมมากเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาค ทั้งยังได้งบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี

บริษัทผู้ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีด้านความมั่นคงกว่า 400 บริษัทจาก 50 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมงานอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ Defense & Security 2017 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเมื่อวันที่ 6-9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และดูเหมือนจะเป็นงานที่ประสบความสำเร็จในฐานะช่องทางพบปะเจรจาและเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายในระดับนานาชาติ โดยสื่อด้านความมั่นคงของอังกฤษ IHS Jane's ระบุว่าผู้ผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านความมั่นคงหลายแห่งยื่นข้อเสนอให้ไทยพิจารณายุทธโธปกรณ์ต่างๆ รวมถึงเสนอตัวว่าจะขยายการลงทุนด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศมายังไทย ขณะที่บางบริษัทก็ทำสัญญาซื้อขายกับไทยไปเรียบร้อยแล้ว และต้องดำเนินการส่งมอบกันต่อไปในอนาคต

เว็บไซต์สปุตนิกนิวส์ของรัสเซียรายงานว่า สำนักงานโรโซโบรอนเอ็กซ์พอร์ต ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ของรัสเซีย ร่วมลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดหาเฮลิคอปเตอร์รุ่น Mi17-V5 จำนวน 2 ลำ ให้กับรัฐบาลไทยตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา ทั้งยังมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ที่จะส่งเสริมความร่วมมือ การพัฒนา และการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีด้านยุทโธปกรณ์ร่วมกันในอนาคตด้วย แต่เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เผยกับสื่อไทยว่า กระทรวงกลาโหมยังไม่มีแผนจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ของรัสเซีย แต่กระทรวงมหาดไทยจะจัดซื้อจัดหามาใช้ในงานบรรเทาสาธารณภัย


000_Del6097248.jpg

ส่วนบริษัทโคเรีย แอโรสเปซ อินดัสทรี หรือ KAI กิจการรัฐวิสาหกิจของเกาหลีใต้ ระบุว่าจะเริ่มส่งมอบเครื่องบินฝึกซ้อมรุ่น T-50 TH ให้ไทยได้ภายในเดือนมกราคมปีหน้า หลังจากกองทัพไทยสั่งซื้อเครื่องบินรุ่นดังกล่าวเป็นล็อตที่ 2 ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ขณะที่ KAI เพิ่งจะแต่งตั้งประธานบริหารบริษัทคนใหม่ขึ้นมาแทนนายฮาซังยง อดีตประธานบริหาร ซึ่งถูกตั้งข้อหาทุจริต ฟอกเงิน และตกแต่งบัญชีของบริษัทไปเมื่อเดือนกันยายน และนายมุนแจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ยืนยันว่าจะต้องนำตัวผู้กระทำผิดทั้งหมดมาลงโทษ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบด้านลบต่อธุรกิจอากาศยานที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้เติบโต

นอกจากนี้ยังมีตัวแทนรัฐบาลและบริษัทอีกหลายแห่งที่ต้องการเสนอขายผลิตภัณฑ์ให้แก่ทางการไทย โดยบริษัทของรัฐบาลจีนต้องการขยายการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเรือรบมายังไทย ส่วนบริษัท เตอร์กิช แอโรสเปซ อินดัสตรี (TAI) อุตสาหกรรมการบินตุรกี ต้องการเสนอเฮลิคอปเตอร์โจมตีให้กองทัพไทยพิจารณา และต้องการหาบริษัทคู่ค้าในประเทศไทยที่จะช่วยกันดำเนินธุรกิจด้านนี้ด้วย ขณะที่บริษัทซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ 'ลีโอนาร์โด' ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ ร่วมกับ 'สถาบันเทคโนโลยีการป้องกันประเทศ' (สทป.) ของไทย เพื่อส่งเสริมและพัฒนาฐานซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์หรือ MRO ในไทยให้ได้มาตรฐานและสามารถรองรับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เช่นเดียวกับบริษัท Saab ของสวีเดนที่ต้องการหาหุ้นส่วนในไทยเพื่อขยายการลงทุนด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

งบกลาโหมไทยยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

IHS Jane's รายงานว่ากระทรวงกลาโหมของไทยจะสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านความมั่นคงผ่านสถาบันเทคโนโลยีการป้องกันประเทศ (สทป.) ซึ่งจะเปลี่ยนเป็น 'สำนักงานเทคโนโลยีป้องกันประเทศ' ในปีหน้า ทันทีที่ร่างพระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศผ่านการพิจารณา และต่อจากนั้น สทป. จะเป็นตัวกลางในการประสานความร่วมมือแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีกับหน่วยงานหรือบริษัทต่างประเทศ และทำหน้าที่จัดซื้อจัดหาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันประเทศให้แก่กองทัพและกระทรวงกลาโหม 

ที่ผ่านมา สทป.พัฒนายุทโธปกรณ์ต่างๆ จนมีความคืบหน้าไปมาก ในงาน Defense & Security 2017 ก็มีการจัดแสดงประสิทธิภาพของ 'ยานเกราะล้อยาง' ซึ่งเป็นยุทโธปกรณ์สำคัญของกำลังรบภาคพื้นดิน ทั้งยังมีการเปิดตัวยานเกราะสะเทินน้ำสะเทินบก หรือ AAPC ที่สามารถใช้ได้ทั้งในการรบและบรรเทาสาธารณภัย โดยเฟซบุ๊กของ วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหารของบางกอกโพสต์ ระบุว่าพลเอกประวิตร สนใจและมีคำสั่งให้ สทป.และบริษัท ช.ทวี พัฒนายานเกราะ AAPC ให้แก่กองทัพ 5 คัน แต่ก่อนที่จะจัดงาน Defense & Security 2017 สทป.ยังอยู่ระหว่างการพัฒนายานเกราะทั้งสองแบบ กองทัพไทยจึงได้สั่งซื้อยานเกราะหรือรถหุ้มเกราะรุ่น VN1 จากจีน รวม 34 คัน ในวงเงิน 2.3 พันล้านบาทไปเมื่อเดือนมิถุนายน 


000_R34GD.jpg

ส่วนงบกลาโหมของไทยในปีงบประมาณ 2561 เริ่มมีผลตั้งแต่เดือนตุลาคม มีวงเงินรวมกว่า 2.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 จากงบประมาณปีก่อน และคิดเป็นร้อยละ 7.7 ของงบประมาณทั้งหมด และบริษัทวิจัยด้านธุรกิจ Business Wire คาดว่างบกลาโหมของไทยจะเพิ่มเป็น 2.5 แสนล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยประเมินจากงบกลาโหมช่วงปี 2555-2560 ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 1.1 ทุกปี

การเพิ่มงบกลาโหมของไทยมาจากหลายสาเหตุ แต่สิ่งที่เป็นประเด็นหลักเกิดจากการแข่งขันกันเองภายในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงจีนและอินเดีย ซึ่งต้องการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์และศักยภาพทางการทหารให้ทัดเทียมหรือเหนือกว่า และ Business Wire คาดว่างบกลาโหมของไทยจะถูกนำไปใช้ในการวางระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต รถถังหลัก โครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค เครื่องบินขับไล่ กองเรือ เรือดำน้ำ เฮลิคอปเตอร์ รถหุ้มเกราะ/ยานเกราะ อากาศยานไร้คนขับ และอุปกรณ์สอดแนมต่างๆ ซึ่งจะถูกนำไปใช้ในการปราบปรามกลุ่มติดอาวุธในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ไทยได้งบกลาโหมมากเป็นอันดับ 3 ในภูมิภาค

อเล็กซิส แฮมเมอร์ ผู้อำนวยการองค์กรการค้าระหว่างประเทศด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของอังกฤษ (DSO) เปิดเผยกับ IHS Jane's ว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาดอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในโลกช่วงหลายปีที่ผ่านมา และอังกฤษต้ังเป้าว่าจะสานต่อความร่วมมือกับหุ้นส่วนในภูมิภาคให้มากขึ้นในอนาคต 

ส่วนมาตรการขยายความร่วมมือของ DSO มายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะรวมถึงการส่งต่อเทคโนโลยีให้แก่แวดวงอุตสาหกรรมในภูมิภาค และการเสนอผลิตภัณฑ์พร้อมทั้งตัวเลือกด้านการบริหารจัดการเงินทุนที่จะใช้ในการสั่งซื้อหรือนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีด้านต่างๆ ตามความต้องการของลูกค้าในแต่ละประเทศ

จากข้อมูลของสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์ม (SIPRI) ซึ่งสำรวจงบประมาณด้านกลาโหมของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อปี 2559 พบว่าสิงคโปร์ทุ่มงบด้านกลาโหมมากเป็นอันดับ 1 (9,959 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ตามด้วยอินโดนีเซีย (8,183 ล้านดอลลาร์) ส่วนไทยอยู่ที่อันดับ 3 (5,880 ล้านดอลลาร์) อันดับ 4 คือ มาเลเซีย (4,169 ล้านดอลลาร์) และอันดับ 5 คือ ฟิลิปปินส์ (3,899 ล้านดอลลาร์)