ไม่พบผลการค้นหา
กว่า 3 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. พูดถึงกำหนดการจัดการเลือกตั้งทั่วไปมาแล้ว 5 ครั้ ตั้งแต่ปี 2558 ถึงล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2561 ที่ผ่านมา ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีฟีดแบคกับคำกล่าวทั้ง 5 ครั้ง โดยพบว่า หุ้นตก 3 ครั้ง และหุ้นขึ้น 2 ครั้ง

ท่ามกลางแรงกดดันจากกลุ่มนักศึกษานักกิจกรรมคนอยากเลือกตั้งที่จัดกิจกรรมทุกสุดสัปดาห์เรียกร้องการคืนอำนาจอธิปไตยกลับสู่ประชาชน ผ่านการยุบ 'คสช.' และจัดให้การมีเลือกตั้งทั่วไปภายในปี 2561 ประกอบกับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้ง ร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.บ.การได้มาซึ่ง ส.ว. ได้ผ่านการเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวมถึงในเดือนมี.ค. นี้ มีพรรคการเมืองเข้าไปจองชื่อจดแจ้งขึ้นทะเบียนพรรคการเมืองกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) เป็นระยะๆ 

บรรยากาศแวดล้อมการเดินหน้าสู่วันเลือกตั้ง เป็นอีกหมุดหมายที่หลายฝ่ายจับตามอง ไม่ว่าจะเป็นคอการเมือง หรือ นักลงทุน นักวิเคราะห์เศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ แม้ว่าการเลื่อนกำหนดการการเลือกตั้ง จะเกิดอาการเลื่อนแล้วเลื่อนอีก และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีใครฟันธงได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร แม้ว่าล่าสุดในวันที่ 27 ก.พ. 2561 ที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะพูดออกมาแล้วว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือน ก.พ. 2562 แต่ยังมิวายถูกตั้งคำถามว่าจะเป็นไปตามนั้นหรือไม่? 

ขณะที่หลายฝ่ายมองว่าการเลื่อนเลือกตั้งอาจส่งผลกับความเชื่อมั่นของประเทศ ทั้งต่อผู้ลงทุนภาคเศรษฐกิจจริง และผู้ลงทุนในตลาดหุ้น แต่จากการเก็บข้อมูลพบว่า แม้นายกรัฐมนตรี จะมีการพูดถึงกำหนดการเลือกตั้งมาไม่น้อยกว่า 5 ครั้งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ก็ไม่ได้สร้างความหวั่นไหวกับตลาดหุ้นมากนัก 

จากการเก็บข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่รายงานข้อมูลความเคลื่อนไหวของดัชนีหลังการประกาศวันเลือกตั้ง 7 วันทำการ พบว่า มี 3 ครั้งที่ดัชนีปรับตัวลดลงหลังประกาศไทม์ไลน์เลือกตั้ง และมี 2 ครั้งที่ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 

โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดถึงกำหนดการวันเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2558 โดยระบุว่า จะมีการเลือกตั้งในช่วงปี 2559 เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ 7 วันทำการหลังคำประกาศ ปรับตัวลดลงจาก 1,613.40 จุด ไปอยู่ที่ 1,593.89 จุด (วันที่ 23 ก.พ.) หรือลดลง 19.51 จุด 

ครั้งที่ 2 นายกรัฐมนตรีพูดถึงการเลือกตั้งในวันที่ 8 ก.ค. 2559 คาดว่าจะมีการเลือกตั้งกลางปี 2560 ดัชนีอยู่ที่ 1,470.20 จุด ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,476.90 จุด (วันที่ 17 ก.ค.) ปรับเพิ่มขึ้น 6.7 จุด

ครั้งที่ 3 นายกรัฐมนตรีพูดถึงการเลือกตั้งในวันที่ 22 ก.ย. 2559 คาดว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2560 แต่ไม่กำหนดเวลา ส่งผลให้ดัชนีตกลงจาก 1,379.20 จุด ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 1,345.15 จุด หรือปรับตัวลดลง 34.05 จุด  

ครั้งที่ 4 นายกรัฐมนตรีพูดถึงการเลือกตั้งในวันที่ 2 ต.ค. 2560 โดยคาดว่าจะเกิดการเลือกตั้งในปี 2561 ดัช��ีตลาดหลักทรัพย์ ปรับตัวระดับ 1,688.64 จุด มาอยู่ที่ 1,706.95 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 18.31 จุด (วันที่ 10 ต.ค. 2560)

ครั้งล่าสุดวันที่ 27 ก.พ. 2561 นายกรัฐมนตรีคาดว่าจะมีการเลือกตั้งเดือน ก.พ. 2562 ดัชนีจากระดับ 1,830.89 จุด ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 1,808.89 จุด (วันที่ 5 มี.ค. 2561) หรือปรับตัวลดลง 22 จุด

โบรกฯ ชี้ เลือกตั้งตามกำหนด หนุนบริโภคในประเทศฟื้น

'กิจพล ไพรไพศาลกิจ' ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) มองว่า การเลือกตั้งจะมีผลอย่างมากกับภาพเศรษฐกิจไทย หากทุกอย่างเป็นไปตามไทม์ไลน์จะช่วยสร้างความคึกคักให้กับการบริโภคภายในประเทศ


“ประเด็นการเลือกตั้งจะมีผลอย่างมากกับดัชนี เพราะเป็นสิ่งที่ตลาดคาดหวังจากเม็ดเงินที่จะออกมาจำนวนมาก ทั้งเม็ดเงินจากการโฆษณา รวมถึงเม็ดเงินลงทุนที่ทางภาครัฐจะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ”

นอกจากนี้ หากการเลือกตั้งชัดเจนจะช่วยให้นโยบายต่างๆ ของภาครัฐออกมาด้วย สร้างความเชื่อมั่นกับภาคเอกชนให้กล้าลงทุน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้า ซึ่งจะเห็นจากดัชนีในช่วงที่ผ่านมา อาจไม่สะท้อนความคาดหวังจากการเลือกตั้งมากนัก เพราะการปรับเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นหุ้นที่อ้างอิงจากต่างประเทศ ทั้งในกลุ่มพลังงานที่ได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันปรับขึ้น หุ้นในกลุ่มส่งออก ที่ได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของภาคส่งออก ซึ่งดัชนีในขณะนี้ อยู่ในระดับที่สูง และมีความจำเป็นที่ต้องมีกลุ่มอื่นๆ เข้ามาช่วยผลักดันทั้งกลุ่มการบริโภคในประเทศ หรือกลุ่มธนาคาร 

เลือกตั้งมีผล แต่กำไร บจ.-ภาพรวม ศก.ฟื้น มีผลจูงใจนักลงทุนมากกว่า

การเลือกตั้งอาจเป็นฝันที่ทุกคนอยากจะเห็น แต่สิ่งที่นักลงทุนต้องติดตาม คือ การพิจารณากฏหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับ ซึ่งเมื่อ สนช. เห็นชอบให้ผ่านไปได้ด้วยดีแล้ว การเลือกตั้งก็จะเป็นไปตามที่นักลงทุนคาดหวัง 

'สุกิจ อุดมศิริกุล' กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า การส่งสัญญาณเลือกตั้งในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบกับดัชนีโดยตรง โดยผลการศึกษาของ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ พบว่า ทุกครั้งที่นายกรัฐมนตรี หรือรัฐบาล หรือ คสช.ออกมาพูดถึงการเลือกตั้งมักจะส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้น 


“จากสถิติ ทุกครั้งที่รัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรี มีการพูดถึงวันเลือกตั้งที่ชัดเจน ตลาดหุ้นมักจะตอบรับในทิศทางที่ดี ราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้น เพราะนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ชอบความชัดเจน เพื่อกำหนดกลยุทธ์การลงทุนได้”

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยการเลือกตั้งกับการปรับตัวของดัชนีไม่ได้มีผลกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนเท่านั้น เพราะปัจจัยหลักของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ จะปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลง คือ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนและภาพรวมเศรษฐกิจ ตราบใดที่กำไรบริษัทจดทะเบียนยังเติบโต เศรษฐกิจขยายตัวได้ การเลือกตั้งจะเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น แต่ปัจจัยที่จะมีผลกับตลาดหุ้นจากนี้ไปจนถึงการเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือน ก.พ. 2562 คือการเติบโตของบริษัทจดทะเบียน ภาพรวมภาวะเศรษฐกิจ

สิ่งที่อยากฝากนักลงทุนให้ติดตาม คือการเมืองหลังการเลือกตั้งจะเป็นเช่นไร หน้าตารัฐบาลจะเป็นอย่างไร และเป็นรัฐบาลที่ต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ เพราะจะมีผลกับการขับเคลื่อนนโยบายของประเทศ รวมถึงการสานงานที่รัฐบาลชุดปัจจุบันดำเนินการอยู่ รวมถึงเสถียรภาพของรัฐบาลจะมั่นคงพอให้ภาคเอกชนกลับมาลงทุนอีกครั้งหรือไม่