ไม่พบผลการค้นหา
นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล ย้ำว่าพร้อมจัดเลือกตั้ง 24 ก.พ. 2562 ส่วนรูปแบบบัตรเลือกตั้ง รอ กกต. กำหนด โดยยืนยันว่าฝ่ายสำนักงานจัดพิมพ์ทันทั้ง 350 แบบที่มีทั้งหมายเลข, โลโก้และชื่อพรรคการเมือง

นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. แถลงข่าว "พร้อมจัดการเลือกตั้งตามโรดแมป" ระบุว่า หากมี พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ออกมาวันที่ 2 ม.ค. 2562 กกต. จะประกาศวันเลือกตั้งในวันที่ 4 ม.ค. 2562 และสามารถกำหนดจัดการเลือกตั้งได้ในวันที่ 24 ก.พ. 2562 อย่างแน่นอน สวนเงาะเลือกตั้ง นอกราชอาณาจักรจะอยู่ระหว่างวันที่ 4-16 ก.พ. 2562 แล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละประเทศซึ่งสถานกงสุลแต่ละแห่งเป็นผู้กำหนด คาดว่าจะประกาศผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการได้ในเวลาไม่เกิน 20.00 น.ของวันที่ 24 ก.พ. 2562  

จะมีการประกาศรับสมัคร ส.ส.เขตรวมกันที่จังหวัดในวันที่ 14-18 ม.ค. 2562 เปิดลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งในและนอกราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 10-24 ม.ค. 2562 จะส่งหนังสือแจ้งเจ้าบ้านแสดงรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในแต่ละเขตวันที่ 3 ก.พ. 2562 ซึ่งจะมีข้อมูลผู้รับสมัครเลือกตั้งและพรรคการเมืองที่สังกัด นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับผู้สมัครแต่ละเขตผ่านทางแอปพลิเคชัน ในสมาร์ทโฟน โดยกรอกเลขประจำตัวบัตรประชาชน 13 หลักซึ่งจะมีทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองด้วย และในคูหาเลือกตั้งจะติดประกาศรายชื่อ หมายเลข และชื่อพรรคการเมืองของผู้สมัครไว้อีกด้วย 

สำหรับรูปแบบบัตรเลือกตั้งยังไม่ได้ข้อสรุป ต้องรอให้ กกต. เป็นผู้กำหนดลงมา โดยคาดว่าจะมีทั้งหมายเลข โลโก้และชื่อพรรคการเมืองด้วย โดยฝ่ายสำนักงานมีความพร้อมที่จะจัดเต็มให้ครบถ้วนทั้ง 350 แบบตามจำนวนเขตเลือกตั้ง โดยจะเริ่มจัดพิมพ์ในวันที่ 20 ม.ค. 2562 หลัง ได้ผู้สมัครครบทั้ง 357 ส่ง ไปยังต่างประเทศให้ผู้เลือกตั้งนอกราชอาณาจักรไม่เกินวันที่ 26 ม.ค. 2562 หลังได้ยอดลงทะเบียนจากสถานกงสุลในวันที่ 24 ม.ค. 2562 โดยจะมีบัตรสำรองเผื่อฉุกเฉินโดยติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยและติดตามอย่างใกล้ชิด 

นายณัฏฐ์ ระบุด้วยว่า ข้อกังวลและความต้องการที่พรรคการเมืองอยากได้ เบอร์เดียวกันในทุกเขต สามารถดำเนินการได้ด้วยการต่อตกลงกันระหว่างพรรคการเมืองเอง เพราะตามกฎหมายเลือกตั้งจะให้หมายเลขตามลำดับการยื่นใบสมัคร หากมาก่อนเวลาก็ให้ตกลงกันเอง แต่ถ้าตกลงไม่ได้ก็ใช้วิธีจับสลาก

โดยยกตัวอย่างว่า หากพรรคการเมืองที่จะส่งผู้ลงสมัครครบทั้ง 350 เขต ตกลงลำดับหมายเลขกันเองก่อน แล้วแจ้งไปยังผู้สมัครแต่ละเขตและให้ไปยื่นตามลำดับที่ตกลงกันก็จะสามารถได้หมายเลขเดียวกันทุกเขต แต่อาจมีปัญหาอยู่ที่พรรคการเมืองที่ไม่ได้ส่งผู้สมัครครบทั้ง 350 เขต บัตรเลือกตั้งก็จะกลายเป็นฟันหลอได้ ซึ่งทุกอย่างอยู่ที่พรรคการเมืองต่างๆจะดำเนินการ เพราะกฎหมายเปิดช่องให้ทำได้ ส่วนวันที่ 19 ธ.ค. 2561 นี้ที่กกต. จะประชุมกับพรรคการเมือง จะมีวาระเกี่ยวกับการหาเสียงและงบประมาณ ค่าใช้จ่ายรวมถึงเวทีดีเบตเป็นประเด็นหลัก 

โดยวันนี้ที่สำนักงาน กกต.ยังมีพิธีรับสนองพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง กกต.เพิ่มเติม 2 คน คือ นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ และ นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ ด้วย ทำให้ปัจจุบันมี กกต.ครบ 7 คนตามกฎหมายแล้ว