ไม่พบผลการค้นหา
นักเขียนชาวจีนถูกตัดสินจำคุก 10 ปี หลังแต่งนิยายเกย์ขายบนอินเทอร์เน็ต ด้านโซเชียลมีเดียจีนวิจารณ์หนักว่า บทลงโทษรุนแรงยิ่งกว่านักโทษคดีข่มขืน

ศาลมณฑลอันฮุยของจีนตัดสินจำคุก 10 ปีแก่นักเขียนผู้หญิงชาวจีนแซ่ ‘หลิว’ หรือที่นามปากกาว่า ‘เทียนอี้’ หลังจากที่เธอถูกจับกุมในปี 2017 เนื่องจากเธอแต่งนิยายชื่อว่า ‘Occupation’ ออกขาย ซึ่งในนิยายมีช่วงผู้ชายมีเซ็กส์กันด้วย โดยตำรวจอันฮุยกล่าวว่า นิยายเรื่องนี้มี “พฤติกรรมอนาจารทางเพศระหว่างผู้ชาย” และยังมีความรุนแรง การละเมิดสิทธิ์และการทำให้อับอาย

นิยายโรแมนติกระหว่างคนรักเพศเดียวกันหรือนิยายวายได้รับความนิยมอย่างมากในจีนช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้มีนักเขียนอิสระที่พิมพ์หนังสือประเภทนี้ขายเอง หรือขายนิยายออนไลน์จำนวนมาก ทุกเดือนจะมีนิยายประเภทนี้ออกมาใหม่หลายร้อยเรื่อง และนิยายที่ได้รับความนิยมมาก มักจะถูกซื้อไปสร้างเป็นภาพยนตร์หรือซีรีส์ และเมื่อไม่นานมานี้ บริษท เทรเซนต์ บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนก็พยายามเกาะกระแสนิยายวายนี้ ด้วยการประกาศจะนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ออนไลน์

นิยายวายสร้างรายได้ให้กับนักเขียนจีนจำนวนมหาศาล แต่ส่วนใหญ่ นิยายเหล่านี้จะพูดถึงความสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกันโดยแฝงกับความสัมพันธ์แบบ ‘โบรแมนซ์’ หรือมิตรภาพระหว่างเพื่อนชายหรือพี่น้องมากกว่าจะมีการแสดงออกทางเพศอย่างเปิดเผยอย่างเรื่อง Occupation อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า นิยายเรื่องนี้ขายได้มากกว่า 7,000 ฉบับ และหลิวยังทำรายได้จากการขายนิยายประเภทนี้มากกว่า 150,000 หยวนหรือประมาณ 710,000 บาท

จีนมีมาตรการปราบปรามการผลิตและจำหน่าย ‘สื่ออนาจาร’ อย่างเข้มงวดมาโดยตลอด แต่การตัดสินจำคุก 10 ปีนักเขียนคนนี้ ส่งผลให้โซเชียลมีเดียวิพากษ์วิจาร์ณเรื่องนี้กันอย่างหนักว่าบทลงโทษของคดีนี้รุนแรงเกินไป มีการแสดงความเห็นเรื่องนี้โดยติด #Tianyi มากกว่า 1.7 ล้านโพสต์ จนกลายเป็นเรื่องที่คนทั่วประเทศให้ความสนใจ

หลี่อิ๋นเหอ นักวิชาการด้านเพศและนักสังคมวิทยาชื่อดังของจีนโพสต์ว่า นักเขียนคนนี้ควรได้รับความเมตตา แม้เธอจะทำผิดกฎหมายจริง แต่โทษจำคุกเพียง 1 ปีก็ยังรุนแรงเกินไป ขณะที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบางคนแสดงความไม่พอใจที่นักเขียนนิยายวายกลับได้รับโทษมากกว่าอาชญากรคดีร้ายแรง โดยผู้ก่อเหตุข่มขืนบางคนยังได้รับโทษน้อยกว่า 10 ปี บางส่วนตั้งคำถามว่าทำไมรัฐบาลจึงต้องเข้าไปยุ่มย่ามในชีวิตส่วนตัวของประชาชน แม้จะไม่เคยอ่านนิยายของหลิว แต่หลายคนมองว่าทัศนคติของรัฐต่อเรื่องเพศล้าหลัง

เติ้งสเวผิง ทนายความจาก Capital Equity Legal Group อธิบายกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่า คำพิพากษาคดีนี้เป็นการตีความกฎหมายล้าหลังที่ออกมาตั้งแต่ปี 1998 และเมื่อหลิวสามารถขายนิยายเรื่องนี้ได้มากกว่า 5,000 ฉบับ ทำให้คดีนี้กลายเป็นคดีร้ายแรง บทลงโทษจึงแรงมาก แต่ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป อินเทอร์เน็ตทำให้อะไรเผยแพร่ออกไปอย่างรวดเร็ว จึงควรมีการมาหารือกันว่าบทลงโทษของคดีนี้รุนแรงเกินไปหรือไม่ ศาลสูงอาจพิจารณาโทษใหม่ เพราะบทลงโทษคดีอาญาต้องเหมาะสมกับผลกระทบต่อสังคม


ที่มา : CNN, BBC