ไม่พบผลการค้นหา
เลขาธิการก้าวไกล ชี้รัฐธรรมนูญฉบับ คสช. เป็นระเบิดเวลา ต้องช่วยกันเปลี่ยนผ่านการเมืองอย่างสันติ ด้วยการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ วอน ส.ว.อย่าตอกย้ำให้ประชาชนรู้สึกถึงความไร้ประโยชน์ไปมากกว่านี้

ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ระบุว่า ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มี ส.ว. บางท่านออกมาให้ความเห็นคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเปิดช่องให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลว่า การตั้ง ส.ส.ร. นั้นสิ้นเปลืองงบประมาณในการทำประชามติ, ใช้เวลานานเกินไป, และสุดท้าย หาก ส.ว. หรือ ส.ส. ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับของ ส.ส.ร. บางมาตรา ร่างรัฐธรรมนูญนั้นก็จะไม่ผ่านสภาอยู่ดี ส.ว. บางท่านถึงกับประกาศว่า จะไม่ยอม 'ตีเช็คเปล่า' ให้ ส.ส.ร. เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ตามใจชอบ โดยเฉพาะถ้าไปแตะเรื่อง ส.ว. คงยอมกันไม่ได้ พรรคก้าวไกลขอย้ำอีกครั้งว่า รัฐธรรมนูญฉบับ ค.ส.ช.เป็น 'ระเบิดเวลา' สำหรับสังคมไทย  

ชัยธวัช ต่อว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นเพียงใบอนุญาตให้คณะรัฐประหารสืบทอดอำนาจต่อไปเรื่อยๆ และอนุญาตให้อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอยู่เหนืออำนาจที่ยึดโยงกับเสียงของประชาชน อีกทั้งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้การบริหารประเทศไร้ประสิทธิภาพ เปิดช่องให้มีการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล ไม่เห็นหัวประชาชน ไม่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้จะผ่านการลงประชามติ แต่ก็เป็นการทำประชามติที่บิดเบี้ยว และประชาชนจำนวนมากลงมติเห็นชอบก็เพียงเพื่อต้องการออกจากระบอบ คสช.และให้มีการเลือกตั้งใหม่เร็วๆ

นอกจากนี้ยังระบุว่า รัฐธรรมนูญ 2560 จะยิ่งสะสมปัญหาและความขัดแย้งทางการเมืองรอวันปะทุขึ้นมา ดังนั้นต้องช่วยกันถอดสลักระเบิดเวลาลูกนี้ ด้วยการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้ประชาชนทั้งประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบระบบการเมืองที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน ผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจาการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

เลขาฯ ก้าวไกล กล่าวต่อว่า นี่เป็นวิถีทางที่ดีที่สุดในการแสวงหาฉันทามติและความปรองดองครั้งใหม่ นี่ไม่ใช่ 'ทางเลือก' แต่เป็น 'ทางรอด' ของสังคมไทย และขอฝากไปยัง ส.ว. ว่า อย่าทำตัวเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเสียเองโดยการมากำหนดว่าจะยอมหรือไม่ยอมให้แก้รัฐธรรมนูญอย่างไร ซึ่งจะทำให้ ส.ว.กลายเป็นผู้ผลักการเมืองไทยให้ไปสู่ 'ทางตัน' บทบาทของ ส.ว.เช่นนี้จะยิ่งทำให้ประชาชนตั้งคำถามดังขึ้นเรื่อยๆ ว่า "ส.ว. มีไว้ทำไม?" ทำไมประชาชนต้องยอม 'ตีเช็คเปล่า' ให้ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. มีอำนาจตัดสินใจเลือกนายกรัฐมนตรี, ปฏิรูปประเทศ, และกำหนดเรื่องรัฐธรรมนูญแทนเจ้าของอำนาจอธิปไตยตัวจริง อย่าตอกย้ำให้ประชาชนรู้สึกว่า ส.ว. ไร้ประโยชน์ไปมากกว่านี้

และการที่ ส.ส. และ ส.ว. หันมาร่วมมือกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.256 เพื่อปลดล็อกให้รัฐธรรมนูญแก้ไขรายประเด็นได้ง่ายขึ้น พร้อมกับเพิ่มหมวด 'การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่' เข้าไป เพื่อเปิดช่องให้มีการตั้ง ส.ส.ร. คือ 'ทางออก' ที่ดีที่สุดในการผ่าทางตันทางการเมืองอย่างสันติและมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เมื่อรัฐสภาผ่านร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อปลดล็อก ม.256 และเปิดทางให้มี ส.ส.ร. แล้ว ก็ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจเองผ่านการลงประชามติครั้งที่ 1 ว่าเจ้าของอำนาจอธิปไตยส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ใช่ ส.ว. ยอมให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

ถ้าประชามติครั้งที่ 1 ผ่าน และ ส.ส.ร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จ ก็ส่งตรงไปให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจเองผ่านการลงประชามติครั้งที่ 2 ว่าจะยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ส.ส.ร. หรือไม่ และกระบวนการดังกล่าวไม่ช้าเกินไป หากเทียบกับเวลาที่ประเทศชาติสูญเสียไปภายใต้ระบอบ ค.ส.ช.และกระบวนการดังกล่าวไม่แพงเกินไป หากสามารถช่วยให้ไม่ต้องเกิดความสูญเสียครั้งใหญ่จากทางตันทางการเมือง ส.ว.ต้องเคารพและฟังเสียงของประชาชน ไม่ใช่กดหัวประชาชนให้ต้องเคารพและฟังเสียง ส.ว.ที่พวกเขาไม่ได้เลือกมา