ไม่พบผลการค้นหา
เลขาธิการพรรคประชาชาติ ชี้การที่ ส.ส. เสียบบัตรลงคะแนนแทนกันเป็นการกระทำผิด ถือเป็นการโกง โดยยกคำพูดของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ที่ว่า "การโกง คือ คอร์รัปชันที่จับได้ ส่วนคอร์รัปชัน คือ การโกงที่จับไม่ได้" มาเปรียบเทียบ

พล.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณี ส.ส. พรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐ ที่เสียบบัตรลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2563 แทนกันว่า ถือเป็นการกระทำผิด ขาดความรับผิดชอบอย่างแรง โดยยกตัวอย่างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2556 ว่า "การเสียบบัตรแทนกันนั้น เป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็น ส.ส. ที่ถือว่าเป็นตัวแทนของคนไทยต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือการครอบงำใดๆ"

นอกจากนี้ พล.ต.อ.ทวี ยังบอกอีกว่า จากประสบการณ์ส่วนตัวเรื่อง "หน้าที่ความรับผิดชอบ" มีความสำคัญในทุกอาชีพ หากมีการละเลยไม่ปฏิบัติตามถือว่าเป็นการโกงและคอร์รัปชันด้วย โดยยกคำของ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เคยนิยมไว้ว่า "การโกง คือ คอร์รัปชันที่จับได้ ส่วนคอร์รัปชัน คือ การโกงที่จับไม่ได้"

เนื้อหาทั้งหมดดังนี้

ส.ส.การเสียบบัตรแทนกัน คือการโกงประชาชนที่ถูกจับได้

เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2563 องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International - TI) ได้เผยผลการจัดอันดับภาพลักษณ์คอรัปชั่นในภาครัฐของหลายประเทศทั่วโลกประจำปี 2562 (CORRUPTION PERCEPTIONS INDEX 2019) โดยสำหรับประเทศไทยพบอยู่ในอันดับที่ 101 จากทั้งหมด 180 ประเทศทั่วโลก ได้ 36 คะแนนจากเต็ม 100 ถือว่าเป็นความล้มเหลวด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐในการบริหารงานของพล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีตลอด 5 ปีเศษติดต่อกันที่ไม่สามารถแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นได้

ภาพลักษณ์การคอรัปชั่นของฝ่ายรัฐบาล ยิ่งฉาวโฉ่ เมื่อมี ส.ส.พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล คือจากพรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐ ได้ออกมารับสารภาพว่าได้มีการเสียบบัตรแทนกันขึ้นในการลงมติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ที่เพิ่งผ่านไป ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำผิด และขาดความรับผิดชอบอย่างร้ายแรง เพราะการเสียบบัตรแทนกันนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยเมื่อปี พ.ศ.2556 ว่า

เป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็น ส.ส. ซึ่งถือได้ว่าเป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือการครอบงำใด ๆ และต้องปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญ ยังขัดต่อหลักความซื่อสัตย์สุจริตที่ ส.ส. ได้ปฏิญาณตนไว้ และขัดต่อหลักการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญ ที่ให้สมาชิกคนหนึ่งมีเพียงหนึ่งเสียงในการออกเสียงลงคะแนนมีผลทำให้การออกเสียงลงคะแนน ส.ส. ในการประชุมพิจารณานั้น เป็นการออกเสียงลงคะแนนไม่สุจริต ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้แทนปวงชนชาวไทย

ประสบการณ์ส่วนตัวเห็นว่า ในเรื่อง "หน้าที่ความรับผิดชอบ" นั้นมีความสำคัญยิ่งในทุกอาชีพ หรือในความเป็นมนุษย์ หากมีผู้การละเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่รับผิดชอบต้องถือว่าเป็นการโกงและคอร์รัปชันด้วย ซึ่งการโกงและคอร์รัปชันนั้น มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เคยนิยามไว้สั้นๆ ว่า "การโกง คือ คอร์รัปชันที่จับได้ ส่วนคอร์รัปชัน คือ การโกงที่จับไม่ได้" ซึ่งผู้มีหน้าที่ความรับผิดชอบแล้วละเลยไม่ทำหน้าที่รับผิดชอบก็คือการรอวันเวลาแห่งความพินาศติดตามมา นั้นเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :