ไม่พบผลการค้นหา
โฆษกศาลยุติธรรม ยืนยันไม่นิ่งนอนใจ เผยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณายังไม่สิ้นสุดคดี ย้ำหากผิดจริง พร้อมเอาผิดทางวินัยอย่างเด็ดขาด ฐานทำลายเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา และทำลายความเป็นกลางของศาล

จากกรณี Law 360 ซึ่งเป็นเว็บไซต์บริการข่าวสารด้านกฎหมายในสหรัฐฯ รายงานว่า เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ กำลังเร่งตรวจสอบบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป. ว่าได้ละเมิดกฎหมายต่อต้านการกระทำทุจริตในต่างประเทศ หรือไม่ โดยขณะนี้ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ กำลังจัดตั้งคณะลูกขุนหลวงขึ้นในเท็กซัส

เพื่อดำเนินการสอบสวนหาหลักฐานทางการเงินเพิ่มเติม ในคดีที่บริษัทโตโยต้า ถูกกล่าวหาว่าจ่ายสินบนให้ผู้พิพากษาระดับสูงในประเทศไทยหลายราย เพื่อพลิกคำตัดสินในคดีจ่ายภาษีนำเข้าคิดเป็นมูลค่า 350 ล้านดอลลารสหรัฐฯ (ราว 11,025 ล้านบาท) อ้างอิงจากข้อมูลที่เปิดเผยโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายสหรัฐฯรายหนึ่ง และเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนสอบสวนคดีนี้


เปิดเอกสารข้อมูลการสืบสวนของยุติธรรมสหรัฐฯ

สำหรับเนื้อหาเอกสาร ระบุถึงการสืบสวนสอบสวนที่กำลังดำเนินการโดยกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ และคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (SEC) ซึ่งได้มีการเปิดเผยจากการยื่นสอบสวนโดยบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป. ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของโตโยต้าไปแล้วเช่นกัน คาดว่าได้หลักฐานมาจากผลของการสอบสวนภายในของโตโยต้าที่กระทำโดย วิลเมอร์เฮล (WilmerHale) โดยทางสำนักงานกฎหมาย เดเบวอยซ์ แอนด์ พลิมป์ตัน แอลแอลพี (Debevoise & Plimpton LLP) เป็นผู้นำเสนอผลการสอบสวนดังกล่าวให้แก่ทางการสหรัฐในเดือนเมษายน ปี 2020

บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป. สงสัยว่านักกฎหมายอาวุโสหลายคนที่ทำงานให้บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย (Toyota Motor Thailand หรือ TMT) อาจจะมีการมอบสินบนให้แก่ผู้พิพากษาศาลฎีกาของไทยหลายราย ผ่านสำนักงานกฏหมายเอกชนของไทยแห่งหนึ่ง เพื่อแลกกับผลตัดสินคดีเลี่ยงภาษีที่ยังคงอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ฎีกา อ้างอิงจากแหล่งข่าวหลายรายซึ่งคุ้นเคยกับเรื่องนี้ และเอกสารต่างๆ ที่พูดถึงการไต่สวนของบริษัท

ทั้งนี้ ผลของการสอบสวนภายในบริษัทโตโยต้านั้นพบว่าทางบริษัทโตโยต้า ประเทศไทย ได้มีการติดต่อกับบริษัท สำนักงานกฎหมาย A (มีการระบุชื่อชัดเจน) ในการสร้างช่องทางไปถึงผู้พิพากษาระดับสูงในศาลฎีกา ผ่านทางผู้พิพากษาและที่ปรึกษา ยิ่งไปกว่านั้นยังพบข้อมูลตามเอกสารด้วยว่าบริษัทโตโยต้า ประเทศไทย ได้มีการจ่ายเงินจำนวนเกือบ 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 563 ล้านบาท) ในสัญญามูลค่า 27 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 844 ล้านบาท) และมีการตกลงกันอีกว่าจะมีการจ่ายเงินอีก 9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 281 ล้านบาท) ถ้าหากบริษัทชนะการอุทธรณ์อันเกี่ยวข้องกับคดีภาษีการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์พรีอุส 


ฉีดสินบนพลิกคำตัดสิน

เว็บไซต์ Law360 รายงานด้วยว่า ในกระบวนการสอบสวนของทางรัฐบาลกลาง ได้มีการพิจารณาด้วยว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ที่บริษัทโตโยต้าประเทศไทยได้มีการจ่ายสินบนไม่ว่าจะโดยตรงหรือว่าทางอ้อมผ่านทางสำนักงานกฎหมายดังกล่าว เพื่อจ่ายไปยังผู้พิพากษาระดับสูงในศาลฎีกาและผู้พิพากษาอาวุโสศาลฎีกา (มีการระบุชื่อชัดเจน) เพื่อที่จะโน้มน้าวอดีตประธานศาลฎีกาอีกคนหนึ่งให้รับฟังข้อโต้แย้งของบริษัทโตโยต้า และเพื่อให้ศาลได้มีคำตัดสินในทางที่เป็นคุณกับบริษัทโตโยต้า ประเทศไทย ในช่วงเวลาประมาณปี 2562

ทางด้านของเว็บไซต์ Law360 เองก็ได้มีการส่งคำถามอันเกี่ยวกับกรณีของบริษัทโตโยต้า ประเทศไทย ไปยังสำนักงานกฎหมายแห่งนี้เช่นกัน แต่สำนักกฎหมายตอบกลับมาว่าให้กลับไปถามทางโตโยต้าในเรื่องนี้ นอกจากนี้ เว็บไซต์ Law360 ก็ส่งอีเมลไปสอบถามข้อมูลในส่วนของผู้พิพากษาทั้ง 2 รายเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา ทางสำนักงานศาลได้มีการตอบกลับมาว่าผู้พิพากษาทั้ง 2 คนนั้นได้รับข้อความแล้ว แต่ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นในเรื่องนี้  

ยิ่งไปกว่านั้น เว็บไซต์ Law360 รายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลเอกสารของหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายเพิ่มเติม พบว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการดำเนินการทั้งหมดในฝ่ายของบริษัทโตโยต้าประเทศไทยก็คือนาย ว. นาย ส. และนาย พ. (มีการระบุชื่อชัดเจน) โดยทั้ง 3 ราย ได้ออกจากบริษัทโตโยต้าประเทศไทย ในช่วงเวลาที่มีการสอบสวนการทุจริตภายในของบริษัทโตโยต้าไปแล้ว 

และบุคคลทั้ง 3 ไม่ได้ตอบคำถามทางอีเมลทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ในการโทรศัพท์เพื่อสอบถามข้อมูล นาย ว. ได้รับสายโทรศัพท์ติดต่อ โดยกล่าวเพียงสั้นๆ ว่าเขาไม่เข้าใจและวางสายโทรศัพท์ไป ส่วนนาย พ. รับสายโทรศัพท์และกล่าวว่าเขายังทำงานอยู่และวางสายโทรศัพท์ไป และทั้ง 2 คนไม่สามารถติดต่อได้อีกเลยในภายหลัง ขณะที่นาย ส.นั้นไม่สามารถติดต่อได้เช่นกัน


ศาลไทยขอชี้แจง

ด้าน สุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ชี้แจงข้อเท็จจริงดังนี้ ประการที่ 1 หลังจากที่ได้เคยมีการเผยแพร่ข่าวดังกล่าว ครั้งแรกช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา สำนักงานศาลยุติธรรมมิได้นิ่งนอนใจ โดยได้มีหนังสือประสานขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบกรณีดังกล่าวในสหรัฐอเมริกา ผ่านกระทรวงการต่างประเทศไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการตอบกลับจากหน่วยงานในสหรัฐอเมริกา 

ขอยืนยันว่า นับตั้งแต่ทราบเรื่องสำนักงานศาลยุติธรรมได้พยายามติดตาม ตรวจสอบ รวบรวมข้อมูลและข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศมาโดยตลอด และเมื่อมีการรายงานข่าวพาดพิงถึงชื่อและตำแหน่งของบุคคลบางราย สำนักงานศาลยุติธรรมก็จะดำเนินการตรวจสอบไปยังหน่วยงานต้นสังกัดที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอข้อมูลมาประกอบการพิจารณาดำเนินการด้วย โดยการดำเนินการอย่างไรต่อไปก็ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของข้อมูลที่ได้รับ


เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา

ประการที่ 2 หากสำนักงานศาลยุติธรรมได้รับข้อมูล หรือสามารถตรวจสอบได้ว่ามีมูลเป็นความผิด จะดำเนินการตามขั้นตอนทางวินัยต่อไป โดยไม่คำนึงว่าผู้ที่เกี่ยวข้องจะเป็นใครและมีตำแหน่งใด จะเสนอเรื่องให้คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต ) พิจารณา ขอยืนยันว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ก.ต. ได้ดำเนินการตรวจสอบและลงโทษทางวินัยอย่างเด็ดขาด กับการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา ทำลายความเป็นกลางของศาล และทำให้สังคมไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของไทย หากพบว่าผิดจริงก็จะลงโทษทางวินัยอย่างเด็ดขาด ซึ่งเป็นเช่นนี้มาโดยตลอด


คดียังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาในเนื้อหา

ประการที่ 3 สำหรับคดีที่ บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐที่จัดเก็บภาษี เป็นจำเลยเนื่องจากการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์เข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อประกอบเป็นรถยนต์รุ่นพรีอุส โดยมีคำขอให้เพิกถอนการประเมินและเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของหน่วยงานที่จัดเก็บภาษี ซึ่งโจทก์ได้ยื่นขออนุญาตฎีกาหลังจากที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนาญพิเศษมีคำพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ เป็นผลให้โจทก์ต้องรับผิดชำระภาษีอากรตามการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ 

โดยมีการอ่านคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา มีผลเพียงศาลฎีกาอนุญาตให้โจทก์ฎีกาและรับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณาเท่านั้น โดยคดียังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาในเนื้อหาหลักแห่งคดีแต่อย่างใด โดยความคืบหน้าล่าสุด ยังอยู่ระหว่างการขอขยายระยะเวลายื่นคำแก้ฎีกาซึ่งศาลอนุญาตให้ขยายได้ถึงวันที่ 13 ก.ค.นี้ หากฝ่ายจำเลยยื่นคำแก้ฎีกามาแล้ว ศาลภาษีอากรกลางจะรวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลฎีกาเพื่อพิจารณาต่อไป