ไม่พบผลการค้นหา
ในปี 63 รัฐบาลใช้เงินในการแก้ปัญหาเฉพาะที่เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งจากงบกลาง ปี 2563 พ.ร.บ.โอนงบประมาณปี 63 และ พ.ร.ก.กู้เงิน กว่า 6.6 แสนล้านบาท ขณะที่ต้นปี 64 เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ รัฐบาลเหลือเงินเท่าไหร่ เพื่อควบคุมสถานการณ์ และเยียวยาผลกระทบ

ในเดือน เม.ย. 2563 รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 หรือที่เรียกกันว่า พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน เพื่อนำไปใช้ใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1. เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคฯ 2. เพื่อช่วยเหลือ เยียวยาและชดเชยให้แก่ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคฯ และ 3. เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคฯ ล่าสุด ณ เดือน ธ.ค. 2563 เฉพาะส่วนนี้รัฐบาลอนุมัติการใช้เงินกู้ไปแล้วกว่า 4.8 แสนล้านบาท


เงินกู้ 1 ล้านล้าน เหลือกู้สู้โควิดแค่ 4.7 แสนล้าน

แต่หากแยกย่อยตามวัตถุประสงค์ ในส่วนที่ 1 ที่เกี่ยวข้องกับด้านสาธารณะสุข ไม่สามารถนำกู้เงินมาใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดูแล เยียวยา หรือ ฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ ดังนั้นเงินกู้จึงเหลือเพียง 2 ส่วนหลัก ๆ คือ สำหรับแผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ กรอบวงเงิน 5.5 แสนล้านบาท ล่าสุดสิ้นเดือน ธ.ค. 2563 อนุมัติแล้ว 3.6 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 65.88% เท่ากับเหลือเงินที่ใช้สำหรับการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อยู่แค่ 1.9 แสนล้านบาท

ในขณะที่แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท อนุมัติแล้ว 1.2 แสนล้านบาท เท่ากับปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณ 2.8 แสนล้านบาท ซึ่งหากรวมกันทั้ง 2 แผนงานจะเหลือเงินราว 4.7 แสนล้านบาทเท่านั้น


สำนักงบฯมั่นใจมีเงินเพียงพอสู้โควิด

ขณะที่ในปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลได้เตรียมงบประมาณในการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 วงเงิน 40,000 ล้านบาท และยังได้กันสำรองสำหรับงบประมาณฉุกเฉิน รองรับภัยพิบัติประเภทต่าง ๆ ในยามจำเป็นอีก 99,000 ล้านบาท รวมแล้วหากมีปัญหาไวรัสรุนแรง จะมีเงินใช้แก้ปัญหา 1.3-1.4 แสนล้านบาท ซึ่ง ‘เดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา’ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ยืนยันว่า รัฐบาลได้มีการจัดเตรียมงบประมาณ รองรับปัญหาโควิด-19 เอาไว้อย่างเพียงพอ จึงอยากให้ประชาชนมีความมั่นใจ


ภาคเอกชน เสนอรัฐกู้เพิ่มอีก 1-2 ล้านล้าน ตุนสู้โควิดรอบใหม่

อย่างไรก็ตามแม้ว่าในส่วนของ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้าน ที่ยังเหลืออยู่จะสามารถกู้ได้ตาม พ.ร.ก.ฉบับนี้ วันสุดท้าย คือ 30 ก.ย. 2564 แต่ในมุมมองภาคเอกชน ‘สุพันธุ์ มงคลสุธี’ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า ในสถานการณ์ที่ไทยต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ที่อาจรุนแรงขึ้น เพราะสถานการณ์ไม่แน่นอน และอาจลุกลาม ซึ่งเอกชนห่วงเรื่องนี้มาตลอด ดังนั้นจึงเสนอให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่มอีก 1-2 ล้านล้านบาท เพื่อความอุ่นใจ เพราะการมีเงินอยู่ในมือที่มากพอเพื่อใช้แก้ปัญหาย่อมดีกว่าเงินไม่พอ ขณะที่ดอกเบี้ยในเวลานี้ค่อนข้างถูก หากกู้มาแล้วไม่ใช้ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้เป็นภาระมากนักมาก

แม้ว่าขณะนี้รัฐบาลจะยืนยันว่ามีเงินเพียงพอสู้โควิด-19 รอบใหม่ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะรุนแรง และกินระยะเวลายาวนานแค่ไหน ซึ่งแนวทางที่รัฐบาลเลือกใช้คือการล็อกดาวน์ที่ไม่เรีกยกว่าล็อกดาวน์เฉพาะบางพื้นที่ หรือบางจังหวัด จากรอบแรกที่ล็อกดาวน์ทั้งประเทศ เพื่อลดงบประมาณที่จะใช้ในการดูแลและเยียวยาผลกระทบ แต่หากเกิดกรณีเลวร้ายที่ไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ และต้องใช้เงินอีกมหาศาลคงปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวทางก่อหนี้เพิ่มอาจจะต้องถูกนำมาใช้อีกรอบ เพราะรัฐบาลยังคงย้ำอยู่เสมอว่าหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ หรือสามารถก่อหนี้ กู้เงินเพิ่มเติมได้อยู่