ไม่พบผลการค้นหา
หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ยื่นญัตติด่วนยับยั้งการชดเชยค่าโง่ทางด่วนให้ 'ช.การช่าง' เล็งเสนอรัฐสภาตั้งกรรมาธิการวิสามัญร่วมพิจารณาทางออก พร้อมแก้สัญญาและออกกฎหมายป้องกันรัฐเสียค่าโง่ในอนาคต

นพ.ระวี มาดฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ เปิดเผยกับทีมข่าว 'วอยซ์ออนไลน์' ว่า ตนและ ส.ส. อีก 50 คนเข้าชื่อยื่นญัตติเพื่อให้มีการอภิปรายหาทางออกกรณี 'ค่าโง่ทางด่วน' และคัดค้านการขยายสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จะต้องชดเชยให้กับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เพื่อแลกกับการจ่ายค่าชดเชย มูลค่า 4.3 พันล้านบาท ในคดีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 และข้อพิพาทอื่น ๆ ที่เป็นคดีอยู่ในศาล อยู่ในชั้นพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ และข้อพิพาท ๆ ที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการทางอนุญาโตตุลาการ ที่มีมูลค่ารวมกว่า 1.37 แสนล้านบาท 

โดยการชดเชยที่ บอร์ด กทพ. เสนอให้คือ ขยายอนุสัญญาสัมปทาน 30 ปี ให้กับ BEM และแก้ไขสัญญาโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 ระยะเวลาสัญญา 30 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 29 ก.พ. 2563, สัญญาเพื่อต่อขยายโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วน D พระราม9 – ศรีนครินทร์) ระยะเวลาสัญญา 30 ปี สิ้นสุดในวันที่ 21 เม.ย. 2570 และสัญญาโครงการทางด่วนบางปะอิน – ปากเกร็ด ระยะเวลาสัญญา 30 ปี จะสิ้นสุดในวันที่ 26 ก.ย. 2569 พร้อมเพิ่มข้อตกลงพิเศษในการให้สัญญาสัมปทานการสร้างทางด่วน 2 ชั้น กับ BEM โดยไม่ต้องทำการเปิดประมูลใหม่ และเพิ่มข้อตกลงพิเศษให้ BEM ได้สิทธิในการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ใต้ทางด่วน โดยไม่ต้องเปิดประมูล

นพ.ระวี กล่าวด้วยว่า ครั้งนี้ถือเป็นอภิมหากาพย์ค่าโง่ทางด่วน เพราะหน่วยงานรัฐมีคดีกับ BEM ที่ต่อเนื่องถึง 30 คดี โดยเฉพาะคดีแรก 4.3 พันล้านบาท กทพ. ต้องจ่ายดอกเบี้ยวันละ 3 แสนบาท ซึ่งตอนนี้ยังไม่จ่ายเงิน แต่ตนเห็นว่าการชดเชยที่ให้สัมปทานต่อ 30 ปี รวมแล้วมีมูลค่ามากกว่า 4 แสนล้านบาท ซึ่งมากกว่าค่าโง่ 1.37 แสนล้านบาทอย่างมหาศาล

ขณะที่ ข้อพิพาทต่างๆ ถ้าสู้คดีจริงอาจจะต้องจ่ายค่าชดเชยถูกกว่านี้ และสามารถทยอยจ่ายแต่ละคดีได้ ดังนั้นเมื่อพิจารณาข้อเสนอแล้วเห็นว่าไม่ชอบธรรม ประเทศจะเสียหาย เสียประโยชน์มหาศาล ตนจึงเห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวไม่ชอบธรรม และถ้าปล่อยไว้ให้รัฐบาลหน้าพิจารณาการชดเชยดังกล่าวก็ย่อมจะมีค่าโง่ในข้อพิพาทอื่นๆ ตามมาอีก


ทางด่วน.jpg

ชงญัตติด่วนสัปดาห์ ขอตั้ง กมธ.ค่าโง่ทางด่วน

ดังนั้น จึงเสนอญัตติด่วนเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในสัปดาห์หน้าให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วม ชื่อ 'กรรมาธิการค่าโง่ทางด่วน' โดยมีสมาชิกทั้ง ส.ส. ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ ผู้ว่า กทพ. ประธานบอร์ด กทพ. สหภาพแรงงาน ตัวแทนรัฐบาล และตัวแทนกระทรวงคมนาคม เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด เพราะร่างสัญญามีจุดอ่อนจึงทำให้เสียค่าโง่ติดต่อกันถึง 30 คดี และมาพิจารณากันด้วยว่าถ้าจะต่ออายุสัมปทานต่อ จะต่อกี่ปีถึงจะเหมาะสม

อีกทั้ง ต้องแก้ไขสัญญา ไม่เช่นนั้นระหว่างต่อสัญญา 30 ปี ก็จะเกิดการฟ้องร้องเรียกค่าโง่ตามมาอีก ซึ่งคาดว่าจะมีอีกกว่า 2 แสนล้านบาท เช่น หาก กทพ. สร้างทางพิเศษที่ใกล้กันกับทางด่วนเดิม ทั้งที่ไม่คู่ขนานกัน ก็อาจจะถูกฟ้องได้ว่าเป็นทางแข่งขัน, หรือในกรณีที่เศรษฐกิจไม่ดี แต่ถึงกำหนดขึ้นค่าทางด่วน ถ้ารัฐบาลจะขอชะลอการขึ้นราคาก็อาจจะถูกฟ้องได้ว่าผิดสัญญา เป็นต้น

ดังนั้น หากเป็นการระดมความคิดเพื่อหาทางออกร่วมกันและเสนอให้รัฐบาลตัดสินใจ ก็จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด และรัฐบาลชุดนี้ก็จะไม่ตกเป็นเชลย หากในอนาคตมีการฟ้องร้องค่าโง่เกิดขึ้นอีก

นอกจากนี้ ตนยังมองว่า หากคำนวณคร่าวๆ ปี 2560 BEM จะได้เงินจากการสัมปทานทางด่วน 3 เส้นทางกว่า 9 พันล้านบาทต่อปี และในอนาคตอาจจะเพิ่มขึ้นก็น่าจะเกินหมื่นล้านบาทต่อปี และหากมีการขึ้นค่าทางด่วนก็จะเพิ่มขึ้นอีก รวม 30 ปีก็อาจจะได้รายได้ถึง 5 แสนล้านบาท แล้วจะเป็นธรรมกับประเทศหรือไม่ เงินที่รัฐต้องจ่ายให้เอกชนจริงๆ แค่ 1.37 แสนล้านบาท และถ้าสู้กันจริงๆ แล้วอาจจะต้องจ่ายเพียงไม่กี่หมื่นล้านบาท หรือบางคดีอาจหมดอายุความก่อน นอกจากนี้ ยังไม่รวมรายได้จากการสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) โดยไม่เปิดประมูล และการจัดการพื้นที่ใต้ทางด่วนซึ่งมีมูลค่ามหาศาล

ทั้งที่ ปัจจุบัน BEM มีอำนาจในการซ่อมบำรุงเท่านั้น ตนมองว่าพื้นที่ส่วนนี้สามารถแยกออกมาให้ กทพ. เปิดประมูลให้เอกชนรายอื่นๆ ได้เข้ามาเสนอทำรายได้ให้รัฐได้อีก


โฮปเวลล์-รางรถไฟ

จ่อตั้ง กมธ.ดูแลค่าโง่คลองด่าน โฮปเวลล์ และอื่นๆ แก้ปัญหาทั้งระบบ

นอกจากนี้ นพ. ระวี ยังต้องการเสนอ พ.ร.บ. เพื่อแก้ปัญหาค่าโง่ทั้งระบบ โดยตั้งคณะกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎรเพื่อมาช่วยกันคิดว่าค่าโง่ของคลองด่าน โฮปเวลล์ และอื่นๆ จะแก้ไขอย่างไร รวมความคิดเห็นและออกมาแก้ปัญหาเป็นกฎหมาย ซึ่งส่วนหนึ่งของปัญหานี้ อาจมาจากความไม่ชอบมาพากลในการทำงานของข้าราชการ หรือนักการเมืองที่มีคำสั่งให้ข้าราชการร่างสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับรัฐ หรือเปิดช่องให้มีค่าโง่ และกฎหมายฉบับนี้จะต้องบัญญัติให้มีความผิดย้อนหลังทางอาญา ให้สามารถยึดทรัพย์นักการเมืองหรือข้าราชการในอดีตที่มีส่วนทำให้เกิดค่าโง่ในปัจจุบัน ไม่เช่นนั้น ประเทศไทยก็จะมีค่าโง่ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ

อีกทั้งระบบอุปถัมภ์ ที่ฝังรากลึกในประเทศก็เป็นที่มาของปัญหา จะเห็นว่าข้าราชการระดับสูงจำนวนมากขึ้นมาได้ดีเพราะรับใช้นักการเมือง ต้องมีการปฏิรูปราชการให้รับใช้ประชาชนจริงๆ พร้อมทั้งปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และปฏิรูปการเมือง ซึ่งตลอด 5 ปีที่ผ่านมา คสช. แทบยังไม่ได้ทำเลย