ไม่พบผลการค้นหา
'พาณิชย์' ย้ำ ความตกลงการค้า 'อาร์เซ็ป' ระหว่างอาเซียนและอีก 6 ประเทศ ต้องลงนามภายในสิ้นปี 2563 แต่มีความเป็นไปได้ที่จะปราศจาก 'อินเดีย' และภูมิภาคอาจสูญเม็ดเงินกว่า 80,000 ล้านบาท

'อาร์เซ็ป' หรือ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) คือความพยายามในการกระตุ้นเศรษกิจผ่านข้อตกลงทางการค้า โดยใช้ขนาดความได้เปรียบของจำนวนประชากรและมูลค่าเศรษฐกิจในประเทศที่เข้าร่วม ในภาษาที่เข้าใจง่ายขึ้น อาจกล่าวได้ว่า RCEP ก็คือ ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ประเภทหนึ่ง ที่ประกอบด้วยสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และคู่เจรจา 6 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ จีน และ อินเดีย

7 ปี หลังมีการเริ่มเจรจาในครั้งแรก เมื่อ 4 พ.ย. ที่ผ่านมา ในการประชุมสุดยอดอาร์เซ็ป ครั้งที่ 3 ผู้นำอาร์เซ็ปทั้ง 16 ประเทศ ได้ออกแถลงการณ์ร่วมประกาศจบการเจรจา 20 บท ของ 15 ประเทศ และมีเจตนารมณ์ที่จะลงนามความตกลงภายในปี 2563 

'อรมน ทรัพย์ทวีธรรม' อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า หลังจากมีการแถลงถึงความตกลงร่วมกันของทั้ง 15 ประเทศ ระหว่างนี้จนถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2563 จะเป็นการทบทวนและเกลาสำนวนกฎหมายของแต่ละประเทศ ก่อนจะกลับมาประชุมร่วมกันอีกครั้งเพื่อร่วมลงนามตามกำหนดการ

เสวนา RCEP
  • 'อรมน ทรัพย์ทวีธรรม' อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นของอินเดีย ที่ยังไม่สามารถสร้างความตกลงร่วมกันกับประเทศอื่นๆ ได้ 'อรมน' ชี้ว่า รัฐบาลได้มีความพยายามในการพูดคุยหาทางออกภายใต้เงื่อนไขการค้าที่รัฐบาลอินเดียจะพอใจ

ทั้งนี้ กำหนดการเซ็นความตกลงร่วมกันยังคงยึดมั่นไว้ให้เสร็จภายในปี 2563 ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า หากอินเดียเจรจาไม่ลงตัวภายในครึ่งปีแรก อีก 15 ประเทศที่พร้อมกับเงื่อนไขการค้าก็จะลงนามก่อน

1,300 ล้านคน และ 80,000 ล้านบาท ที่จะหายไป

'อรมน' ย้ำว่า อาร์เซ็ป เริ่มต้นมาจาก 16 ประเทศ และตนพร้อมจะทำทุกอย่างให้มีการลงนามครบทั้ง 16 ประเทศ แต่หากตกลงไม่ได้จริงในระยะเวลาที่กำหนดไว้ก็จำเป็นต้องให้ประเทศที่พร้อมลงนามก่อน

ตามข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2562 จากศูนย์สารสนเทศการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สะท้อนว่า หากอาร์เซ็ปมีการลงนาม โดยปราศจากอินเดีย ตลาดการค้าจะทำให้จำนวนผู้บริโภคลดลงราว 1,334.2 ล้านคน หรือคิดเป็นการลดลงถึงร้อยละ 37.2 ขณะที่มูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของภูมิภาค จะหายไปถึง 2,716.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณเกือบ 82,000 ล้านบาท คิดเป็นการลดลงถึงร้อยละ 10 

ขณะที่ถ้ามองลึกลงมาสำหรับประเทศไทย มูลค่าการค้ารวม หากอาร์เซ็ปเหลือเพียง 15 ประเทศ จะลดลงประมาณ 12,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 377,000 ล้านบาท คิดเป็นการลดลงร้อยละ 10 โดยแบ่งเป็นการลดลงด้านการส่งออก 7,628 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 230,000 ล้านบาท และเป็นการลดลงด้านการนำเข้า 4,865 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 146,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม 'รณรงค์ พูลพิพัฒน์' ที่ปรึกษาการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ ออกมายืนยันว่า แม้หากท้ายที่สุดจะไม่สามารถหาข้อตกลงได้ทันกรอบเวลา และอินเดียตัดสินใจไม่ลงนามร่วมในอาร์เซ็ป ก้ไม่ได้หมายความว่า การค้าขายระหว่างอาเซียน หรือไทยกับอินเดีย จะยุติลง เพียงแต่สิทธิพิเศษต่างๆ ที่จะได้จากข้อตกลงจะใช้ไม่ได้กับบางสินค้าเท่านั้น

เสวนา RCEP
  • 'รณรงค์ พูลพิพัฒน์' ที่ปรึกษาการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์

นอกจากนี้ 'รณรงค์' ยังชี้ว่า ด้วยมูลค่าจีดีพีรวมคาดการณ์ของอาร์เซ็ปนั้นสูงถึงร้อยละ 32.3 ของจีดีพีโลก อีกทั้งจำนวนประชากรกว่า 3,500 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นจำนวนประชากรครึ่งหนึ่งของโลกนี้ ก็เพียงพอแล้วให้มีประเทศอื่นๆอย่างเข้ามาร่วมความตกลงเขตการค้าเสรีนี้ ซึ่งล่าสุด 'ฮ่องกง' มีการแสดงความตั้งใจขอเข้าร่วมแล้วเช่นเดียวกัน แต่การจะเปิดรับประเทศสมาชิกเพิ่มจำเป็นต้องทำหลังจากที่มีการลงนามในครั้งนี้ก่อน