ไม่พบผลการค้นหา
องค์กรด้านสาธารณสุขเริ่มกลับลำ เตรียมแนะนำประชาชนให้ 'สวมหน้ากากอนามัย' หลังจากเคยยืนยันว่าประชาชนคนทั่วไปไม่จำเป็นต้องใส่ ยกเว้นบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย

CNN World รายงานว่า รัฐบาลในหลายประเทศกำลังจะออกมาตรการสั่งการรวมถึงแนะนำให้ประชาชนสวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าว คือสิ่งที่แทบจะทุกประเทศของภูมิภาคเอเชียเดินหน้าทำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของไวรัส และดูเหมือนว่าจะเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยให้จำนวนผู้ติดเชื้อค่อยๆ ทยอยลดลง หรือไม่ก็ไม่พุ่งขึ้นอย่างตัวเลขที่เห็นกันในสหรัฐฯ และยุโรป

อย่างไรก็ตาม คำแนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัยอาจฟังดูเป็นเรื่องน่าสับสนสำหรับภูมิภาคอื่นๆที่ไม่ใช่เอเชีย เพราะที่ผ่านมาทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในหลายองค์กร เจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมือง ไปจนถึงสถานีข่าวระดับโลก ต่างออกมากล่าวอย่างหนักแน่นและมั่นใจต่อประชาชนว่า 'หน้ากากอนามัยไม่ช่วยป้องกันการระบาด' และประชาชนควรให้ความสำคัญเรื่องการล้างมือให้สะอาดและการสร้างระยะห่างทางสังคมมากกว่า

หนึ่งในผู้ที่ออกมาการันตีเรื่องนี้คือ นายแพทย์ใหญ่ทหารบกของกองทัพสหรัฐฯ เจโรม อดัมส์ ที่ทวีตข้อความช่วงปลายเดือน ก.พ.ว่า "หยุด ใส่ หน้ากาก! หน้ากากไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการรับเชื้อ #โคโรนาไวรัส ในพื้นที่สาธารณะ แต่เราจะตกอยู่ในความเสี่ยงถ้าหากบุคลากรทางการแพทย์ไม่มีหน้ากากไปให้ผู้ป่วยใช้" ซึ่งทวีตนี้มีคนรีทวิตไปมากกว่า 43,000 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์รุนแรงขึ้นและประชาชนเริ่มรู้สึกว่าพวกเขาไม่สามารถเชื่อทางการได้ ผู้ใช้งานทวิตเตอร์หลายคนตั้งคำถามกลับไปยังทวีตดังกล่าวของอดัมส์ว่า "เพราะเหตุใดหน้ากากอนามัยจึงเหมาะกับบุคลากรทางการแพทย์มากกว่าประชาชนทั่วไป"

ขณะเดียวกัน เมื่อบรรดา ส.ส. ของสหรัฐฯ ตั้งคำถามไปยัง โรเบิร์ต เรดฟิลด์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐฯ หรือ CDC ว่าการใส่หน้ากากอนามัยจำเป็นหรือไม่ เขาตอบอย่างหนักแน่นและตรงไปตรงมาว่า "ไม่จำเป็น" อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมาเขาเริ่มแสดงความไม่แน่ใจ โดยการเปิดเผยกับสถานีวิทยุ NPR ว่าขณะนี้ CDC กำลังพิจารณาคำแนะนำสำหรับประชาชนใหม่อีกครั้ง และอาจเพิ่มคำแนะนำให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

ที่ผ่านมา CDC มักใช้เหตุผลว่า 'การแย่งกันใช้หน้ากากอนามัยอาจทำให้เกิดการขาดแคลน ซึ่งจะทำให้บุคลากรทางการแพทย์ไม่มีใช้' ซึ่งความคิดดังกล่าวฟังดูแล้วมีเหตุผล แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการประกาศคำแนะนำดังกล่าวออกไปส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากเลือกที่จะเชื่อและไม่ใส่หน้ากากอนามัย อันเป็นเหตุให้ตัวเลขของผู้ติดเชื้อนั้นพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง


หลักฐานไม่มีอยู่จริง

เอเดรียน เบิร์ช ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ เปิดเผยในบทความ เมื่อเดือนที่ผ่านมาว่า แม้เราจะได้ยินกันอยู่เรื่อยๆ ว่าการใส่หน้ากากอนามัยนั้นไม่ได้ช่วยอะไร แต่คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่เห็นหลักฐานชิ้นสำคัญใดๆ ที่สนับสนุนคำพูดดังกล่าวด้วยซ้ำ เพราะหลักฐานที่ว่านั้นไม่มีอยู่จริง ในทางตรงกันข้าม ปัจจุบันเรามีหลักฐานที่ชี้ว่าหน้ากากอนามัยช่วยป้องกันการติดเชื้อในวงกว้างแบบที่เรากำลังเผชิญอยู่ตอนนี้

เบิร์ชระบุด้วยว่า บทวิเคราะห์ Cochrane Review ได้เผยแพร่งานวิจัยมากมายซึ่งมีข้อมูลสนับสนุนการใส่หน้ากากอนามัยในช่วงที่มีการระบาดของ SARS ช่วงปี 2002-2003 ว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ โดยการศึกษาชิ้นหนึ่งที่เกี่ยวกับการแพร่เชื้อระหว่างกันในชุมชนที่กรุงปักกิ่งของจีนพบว่า การใส่หน้ากากอนามัยเป็นประจำในพื้นที่สาธารณะมีความเชื่อมโยงกับการลดความเสี่ยงในการรับเชื้อ SARS ได้มากถึง 70 เปอร์เซ็นต์


หน้ากากอนามัยจำเป็นเพราะแพร่เชื้อได้แม้ไม่มีอาการ

แนวคิดที่ว่าผู้ติดเชื้อสามารถที่จะแพร่เชื้อต่อได้แม้ยังไม่แสดงอาการป่วยใดๆ ถูกพูดถึงตั้งแต่ช่วงสัปดาห์แรกๆ ที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 และยิ่งเวลาผ่านไปก็เริ่มมีหลักฐานออกมาสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวมากขึ้นเรื่อยๆ หน้ากากอนามัยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนั้น การแนะนำให้ประชาชนที่รู้ตัวว่าตัวเองมีอาการป่วยสวมใส่หน้ากากอนามัย เสมือนเป็นการบอกให้พวกเขาติดป้ายประกาศไว้ที่ตัวเองว่า 'ฉันกำลังป่วย' ซึ่งนำไปสู่การสร้างความกลัวและก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เป็นมิตรต่อกันในสังคม ฉะนั้น การบอกให้ทุกคนสวมใส่หน้ากากอาจจะเป็นวิธีที่ดีกว่า เพราะสวมใส่อย่างเสมอภาคกัน และผู้ป่วยที่อาจจะไม่อยากใส่ก็จะเกิดแรงจูงใจให้ใส่หน้ากากอนามัยกันมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อผู้อื่นโดยรอบ

เมื่อหลักฐานเริ่มสนับสนุนการสวมหน้ากากอนามัยมากขึ้น ทุกฝ่ายควรตั้งคำถามว่า 'จำนวนผู้ติดเชื้อที่ถูกละเลยตั้งแต่เดือน ม.ค.อาจมีมากแค่ไหน' และหากในช่วงแรกเราช่วยกันสร้างความตระหนักรู้และสนับสนุนให้ผู้ผลิตหน้ากากอนามัยออกมาให้ได้มากที่สุด สถานการณ์ปัจจุบันอาจไม่เลวร้ายเช่นนี้ แต่ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่เกิดขึ้นคือทุกฝ่ายต่างออกมายืนยันอย่างแข็งขันว่า 'ไม่มีความจำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย'

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :