ไม่พบผลการค้นหา
ก้าวต่อไปของ นิโคลีน – พิชาภา ลิมศนุกาญจน์ รองอันดับ 1 มิสเวิลด์ 2018 คือการยกระดับโครงการ Love for all เพื่อเด็กออทิสติก ให้เป็นองค์กรหรือสถาบันเรียนรู้ โดยเธอมองว่า เด็กออทิสติกมีความสามารถไม่ต่างจากคนทั่วไป ควรได้รับโอกาสและการสนับสนุน

‘ภาวะออทิสติก’ ของน้องชาย กลายเป็นแรงบันดาลใจและแรงผลักดันให้ นิโคลีน – พิชาภา ลิมศนุกาญจน์ ริเริ่มโครงการ Love for all โดยหวังสนับสนุนศักยภาพและความสามารถของเด็กออทิสติก รวมถึงเด็กด้อยโอกาส ให้มีโอกาสทัดเทียมกับผู้อื่น

เนื่องในโอกาส ‘วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก’ 2 เมษายน ‘วอยซ์ออนไลน์’ ชวนเจ้าของตำแหน่งรองอันดับหนึ่งมิสเวิลด์ครั้งล่าสุด พูดคุยถึงก้าวต่อไปของโครงการดังกล่าว หลังจากเปิดตัวครั้งแรกต่อสายตาชาวโลกเมื่อปลายปี 2018 ผ่านเวทีการประกวดมิสเวิลด์ ที่เมืองซานย่า ประเทศจีน

สัม นิโคลีน

Love for all พลิกชีวิตเด็กออทิสติก

ในรอบ Beauty with a purpose ของการประกวดมิสเวิลด์ นางงามแต่ละประเทศต้องส่งโครงการการกุศลที่ช่วยเหลือสังคม หรือนำประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสังคมให้กรรมการพิจารณา เพื่อแสดงให้โลกเห็นว่าพวกเธอไม่ได้สวยแต่ภายนอกอย่างเดียว แต่ยังมีจิตใจอันเป็นกุศลด้วย

โดยนางงามชาวไทยเลือกนำเสนอโครงการ Love for all โครงการเพื่อเด็กออทิสติกและเด็กด้อยโอกาส สอนการฝึกอาชีพและการใช้ชีวิตประจำวัน พัฒนาให้พวกเขามีโอกาสทำงานและใช้ชีวิตเหมือนกับคนทั่วไป โดยมีเป้าหมายสำคัญ 3 ประการ คือ Equality (ความเท่าเทียม), Acceptance (การยอมรับ), และ Humanity (มนุษยธรรม) ซึ่งทำให้เหล่าสาวงามจากชาติอื่นๆ ต่างประทับใจในโครงการ Love for all มาก โดยเฉพาะเมื่อได้เห็นชุดราตรีเพนต์ลายที่นิโคลีนสวมใส่ในการแข่งขันรอบ Top Model ซึ่งเป็นฝีมือจาก ‘เด็กออทิสติก’

นิโคลีน.jpg

เธอบอกว่าชุดดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าเด็กออทิสติกมีความสามารถและศักยภาพหากได้รับการสนับสนุน และถือเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างมากที่มีสาวงามจากประเทศอื่นๆ ริเริ่มโครงการในลักษณะคล้ายกัน

“ดีใจมากที่รู้ว่ามีหลายคนที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งของโลกกำลังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ถือเป็นพลังในการรณรงค์และสร้างโอกาสให้กับเด็กออทิสติก”

ก้าวต่อไปของโครงการ Love for all เธออยากให้โครงการนี้กลายเป็นองค์กรที่เป็นสถาบันการเรียนรู้ โดยเปิดโอกาสให้เด็กออทิสติกเข้ามาปรึกษา ทำงาน หรือขอรับความช่วยเหลือ รวมถึงได้รับการต่อยอดไปทั่วโลก “อาจจะเริ่มต้นจากการเป็น���รงเรียน แล้วค่อยๆ สร้างตรงนี้ให้ใหญ่ขึ้นกลายเป็นองค์กร หรือมูลนิธิที่สามารถไปทั่วโลกได้ อาจจะมีชื่อ Love for all ในหลายๆ ประเทศ เช่น Love for all อเมริกา หรือ Love for all เยอรมัน” 


อย่าดูถูกเพื่อนมนุษย์

จากประสบการณ์ที่ได้คลุกคลีและทำงานใกล้ชิดกับเด็กออทิสติก นิโคลีนรู้สึกว่าพวกเขาต่างเป็นมนุษย์เหมือนคนทั่วไป เป็นคนที่น่ารัก มีบุคลิกเป็นของตัวเอง มีความฝัน และมีความสามารถ ซึ่งเราสามารถสนับสนุนให้เขาทำในสิ่งที่เขารักและชอบได้ ไม่ต่างจากการผลักดันมนุษย์คนอื่นทั่วไป

“เขาสามารถเปลี่ยนโลกของเราได้ เขามีศักยภาพสามารถทำได้ทุกอย่าง แม้ในสิ่งที่เราคิดไม่ถึง อย่างเช่น เรื่องเกม เรื่องคอมพิวเตอร์ แม้แต่งานยากพวกเขาก็ทำได้ แค่ต้องการคนสนับสนุน คนช่วยเหลือ หรือไกด์ไปในทางที่ถูกต้อง ซึ่งโครงการนี้ก็จะช่วยไกด์พวกเขาไปในทางที่ถูกต้อง”

นิโคลีนเรียกร้องให้ผู้คนเปลี่ยนแปลงทัศนคติในแง่ลบที่มีต่อคนเป็นโรค Autism specialist disorder และเลือกที่จะมองในแง่บวก โดยไม่เห็นความแตกต่างเป็นข้อด้อย

สิ่งที่เขาเป็นอาจจะแตกต่าง แต่นั่นไม่ได้ทำให้เขาด้อยกว่าใคร อาจจะทำให้เขาเก่งกว่าเราด้วยซ้ำ หากทุกคนปรับความคิด เลือกมองในแง่บวก เชื่อว่าเราจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติ”

คุณค่าของมนุษย์ไม่ได้วัดกันแค่ ‘ความสำเร็จส่วนตัว’ แต่ยังหมายถึงการได้มอบโอกาสให้กับผู้อื่นด้วย


“มันมากกว่าแค่มงกุฎ มงกุฎคือชัยชนะของเราคนเดียว แต่โครงการ Love for all มันยิ่งใหญ่กว่า เมื่อเราสามารถที่จะเปลี่ยนชีวิตของหลายๆ คนได้”


นิโคลีน Miss Thailand World.jpg

หัวใจสำคัญคือ ครอบครัว

‘เปิดใจ เข้าใจ และยอมรับ’ คือสิ่งที่นิโคลีนเรียกร้องให้สังคมตระหนักและยอมรับ โดยเฉพาะคนในครอบครัว ที่ควรให้เวลากับเด็กกลุ่มนี้มากๆ เพื่อเรียนรู้กับภาวะ อาการ และการแสดงออกต่างๆ จนสามารถรับมือหรือส่งเสริมพัฒนาการพวกเขาได้อย่างถูกต้อง

“ออทิสติกนี้ไม่สามารถหายได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่หากรู้เร็วก็สามารถช่วยเหลือน้องๆ ได้ เช่น เรื่องการศึกษา ควรให้เขาอยู่ในชั้นเรียนที่เหมาะสม การใช้ชีวิตในโรงเรียนหรือสังคมก็จะง่ายขึ้น เรื่องสภาพแวดล้อม ควรใส่ใจและเลี้ยงดูให้เขาสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองในวันที่ไม่มีเรา” เจ้าของตำแหน่งรองอันดับหนึ่งมิสเวิลด์ 2018 บอก และเห็นว่าไม่ควรผลักดันพวกเขาออกจากสังคม แต่ควรดึงเข้าหาและมองเขาเป็นมนุษย์

สิ่งที่นิโคลได้รับจากน้องชาย คือ การเปลี่ยนแปลงวิธีการมองโลกและการใช้ชีวิตไปตลอดกาล นิโคลบอกว่าเธอใจเย็นลงมาก จากเมื่อก่อนที่เป็นคนใจร้อน ตัดสินใจเร็ว ทุกวันนี้หันกลับมาชื่นชมกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เคยมองข้าม

“น้องชายเป็นคนที่มีรายละเอียด เขาอ่อนน้อม นุ่มนวล นิโคลรู้สึกว่าพลังงานเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นในชีวิต เขาทำให้เรามีสติอยู่ในช่วงเวลาปัจจุบันมากขึ้น ชื่นชมทุกๆ อย่างรอบตัวเราได้เสมอ”

เธอทิ้งท้ายว่า “We have to be able to realize that you can't change a person's life for worse, but you can always change it to be better. So, why not change it to be better at all times?”

เราต้องตระหนักว่าเราไม่ควรจะเปลี่ยนชีวิตคนให้แย่ลงกว่าเดิม เพราะเราสามารถที่จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นได้เสมอ แล้วอย่างนั้นทำไมไม่เปลี่ยนให้มันดีทั้งหมดไปเลย .

สิยานันท์ ช่อลำเจียก
ผู้สื่อข่าวโต๊ะบันเทิง ศิลปะวัฒนธรรม วอยซ์ออนไลน์
0Article
0Video
0Blog