ไม่พบผลการค้นหา
ตุลาการศาล รธน.ชุดปัจจุบัน-ชุดใหม่ลงมติเลือก 'วรวิทย์' นั่งประธานศาล รธน. คนใหม่ เตรียมเสนอชื่อให้วุฒิสภาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารข่าวระบุว่า ตามที่วุฒิสภาในคราวการประชุมครั้งที่ 18 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง เมื่อวันอังคารที่ 11 ก.พ. 2563 ได้มีมติเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (1) และ (5) ประกอบมาตรา 12 วรรคแปดแห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณา ของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 จำนวน 4 คน ประกอบด้วย นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม นายวิรุฬห์ แสงเทียน นายจิรนิติ หะวานนท์ และ นายนภดล เทพพิทักษ์ และให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการจัดให้บุคคลผู้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง 4 คน ดังกล่าว ประชุมร่วมกับนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายปัญญา อุดชาชน และ นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันซึ่งยังไม่พ้นจากตำแหน่งเพื่อเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรมนูญและแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ ทั้งนี้ เพื่อจักได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามที่กฎหมาย บัญญัติต่อไป นั้น

โดยที่ประชุมร่วมกันระหว่างบุคคลผู้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกับตุลาการศาลรัฐธรมนูญ ซึ่งยังไม่พ้นจากตำแหน่ง ได้มีมติเลือก นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ

สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะได้มีหนังสือแจ้งผลการเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญไปยังสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเพื่อขอให้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามที่กฎหมายบัญญัติต่อไป

สำหรับประวัตินายวรวิทย์ เกิดเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2495 จบนิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมดี) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบนิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง (กฎหมายมหาชน) สำเร็จการศึกษาจากเนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

นายวรวิทย์ผ่านการทำงานเป็นอัยการจังหวัดสกลนคร อัยการจังหวัดอุดรธานี ตุลาการศาลปกครองกลาง รองอธิบดีศาลปกครองเชียงใหม่ อธิบดีศาลปกครองพิษณุโลก และก่อนได้รับเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุด

ทั้งนี้ นายวรวิทย์ ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2557 ซึ่งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 ได้กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่อยู่ก่อน พ.ร.บ.ดังกล่าวประกาศใช้ให้อยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 หรืออยู่จนครบวาระ 9 ปี ซึ่งวาระตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของนายวรวิทย์จะเหลือ 3 ปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง