ราชบัณฑิตยสถาน จัดพิมพ์พจนานุกรมฯ พ.ศ. 2554 เป็นครั้งที่ 2 ตามคำเรียกร้องของประชาชน ซึ่งครั้งนี้ได้เพิ่มเติมคำศัพท์ใหม่อีกว่า 2,000 คำ
ราชบัณฑิตยสถาน จัดพิมพ์พจนานุกรมฯ พ.ศ. 2554 เป็นครั้งที่ 2 ตามคำเรียกร้องของประชาชน ซึ่งครั้งนี้ได้เพิ่มเติมคำศัพท์ใหม่อีกว่า 2,000 คำ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และศัพท์เฉพาะในวิชาชีพต่างๆ เพื่อมุ่งหวังให้คนไทยใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องเหมาะสม
การเกิดใหม่ของคำศัพท์ในแต่ละยุคสมัย ทำให้ราชบัณฑิตยสถาน ต้องรวบรวม ให้ความหมาย และจัดพิมพ์เผยแพร่แก่ประชาชนเป็นระยะ ซึ่งการจัดพิมพ์พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ในครั้งที่ 2 นี้ มีคำศัพท์ประมาณ 38,000 คำ ในจำนวนนี้เป็นคำศัพท์ใหม่ที่ใช้อย่างแพร่หลาย แต่ยังไม่ได้บรรจุไว้ในพจนานุกรมประมาณ 2,000 คำ
ประกอบด้วยคำศัพท์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ในการพัฒนาเรื่องดิน น้ำ และป่าไม้ เช่น เศรษฐกิจพอเพียง กังหันน้ำชัยพัฒนา แกล้งดิน และแก้มลิง แก้ไขบทนิยามคำศัพท์เฉพาะสาขาที่มีความสำคัญ เช่น ศัพท์ประวัติศาสตร์ กฎหมายไทย และพรรณพืช-พรรณสัตว์
รวมทั้ง คำศัพท์ใหม่ที่รู้จักกันอย่างแพร่หมาย เช่น "ดูดเสียง" เป็นคำกริยา แปลว่า กรองความถี่เสียงที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ต้องการ เพื่อให้อยู่ในระดับที่สามารถได้ยินเมื่อเวลาออกอากาศ หรือคำว่า "ของสูง" เป็นคำนาม แปลว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ต้องบูชา หรือผู้สูงศักดิ์
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 จัดพิมพ์ครั้งแรก เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 จำนวน 100,000 เล่ม โดยแจกจ่ายให้สถาบันการศึกษา และหน่วยงานของรัฐไปหมดแล้ว ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องต้องการให้จัดพิมพ์อีกครั้ง เพื่อจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไป
พจนานุกรมฯ ฉบับนี้จัดพิมพ์โดย บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด จำนวน 50,000 เล่ม ความหนา 1,544 หน้า น้ำหนัก 4 กิโลกรัม เหมาะสำหรับผู้อ่านที่มีอายุ 8 ปีขึ้นไป วางจำหน่ายแล้วในร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ ราคาเล่มละ 750 บาท
นอกจากนี้ นานมีบุ๊คส์ ยังเตรียมจัดกิจกรรมร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาชั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. เช่น การแข่งขันค้นหาคำศัพท์ไทย สะกดคำศัพท์ตามคำบอก และเขียนคำแปลของคำศัพท์ เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชน ใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องเหมาะสม โดยใช้พจนานุกรมฯ ฉบับนี้อ้างอิง