ไม่พบผลการค้นหา
ฮ่องกง เป็นประเทศหนึ่งที่มีการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าอย่างชาญฉลาด โดยมีการวางแผนควบคู่ไปกับการสร้างเมืองใหม่
ฮ่องกง เป็นประเทศหนึ่งที่มีการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าอย่างชาญฉลาด โดยมีการวางแผนควบคู่ไปกับการสร้างเมืองใหม่ พร้อมสร้างแรงจูงใจให้คนเข้าถึงบริการรถไฟฟ้าอย่างสะดวก ที่เรียกว่า เป็นการเดินทางแบบไร้รอยต่อ ซึ่ง รฟม.ของไทย คาดหวังว่าการพัฒนารูปแบบนี้ น่าจะเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย 
 
การวางโครงข่ายขนส่งมวลชนในระบบรางไปพร้อมๆ กับการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่ง ที่เรียกว่า Transit Oriented Development หรือ TOD เป็นหัวใจหลักของการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน นำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ 
 
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของฮ่องกง หรือ MTRC เป็นหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องรถไฟฟ้า ทำหน้าที่เหมือนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. และบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ บีเอ็มซีแอล ของไทย ทั้งกำกับดูแลและบริหารจัดการเดินรถ
 
แต่ต่างกับบ้านเราตรงที่ MTRC สามารถทำกำไร จากการเปิดพื้นที่รอบสถานีและบนอาคารศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า หรือ ดีโป้ พัฒนาเป็นที่อยู่อาศัย โดยให้สัมปทานเอกชนและการเคหะแห่งชาติเข้ามาร่วม จนกลายเป็นเมือง 
 
ดังนั้น กว่าร้อยละ 80 ของประชากรฮ่องกงทั้งหมด 7 ล้าน 5 แสนคน จึงสามารถเข้าถึงบริการรถไฟฟ้าได้ด้วยการเดิน 
 
รายได้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ มาจากทั้งการเดินรถ  การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ และการจัดการธุรกิจเชิงพาณิชย์บริเวณสถานี ทำให้ MTRC มีทุนเพียงพอดูแลโครงการ และขยายเส้นทางใหม่ๆ โดยไม่ประสบภาวะขาดทุนเหมือนเช่นประเทศไทย
 
นอกจากนี้ รัฐบาลฮ่องกง ยังมีอำนาจเต็มในการกำหนดพื้นที่พัฒนา ทำให้โครงการต่างๆ เดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว และพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ จึงไม่มีปัญหาการเวนคืนที่ดิน แรงดึงดูดให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วม ก็คือ โอกาสและมูลค่าเพิ่มในแง่ของการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีในระยะยาว ปัจจุบัน มีการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าแล้ว 14 สถานี จากทั้งหมด 84 สถานี 
 
อีกข้อจำกัดที่ทำให้ รฟม. ไม่สามารถเดินหน้าพัฒนา TOD ได้เช่นเดียวกับฮ่องกง คือ ข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ปี 2543 ที่ระบุว่าห้ามนำพื้นที่โดยรอบสถานีไปหารายได้เชิงพาณิชย์ และ รฟม.ได้เสนอแก้กฎหมายดังกล่าว โดยขอเปลี่ยนแปลงให้ รฟม.สามารถหารายได้เชิงพาณิชย์ได้มากขึ้น ซึ่งยื่นเรื่องไปยังสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่ปลายปี 2555 แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าจนถึงขณะนี้
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog