ประธานาธิบดีสหรัฐฯ พบปะพูดคุยกับองค์ดาไลลามะ ผู้นำจิตวิญญาณพลัดถิ่นของชาวทิเบต เพื่อแสดงความวิตกเกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชนในจีน
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ พบปะพูดคุยกับองค์ดาไลลามะ ผู้นำจิตวิญญาณพลัดถิ่นของชาวทิเบต เพื่อแสดงความวิตกเกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชนในจีน แม้ก่อนหน้านี้ ทางการจีนจะออกมาคัดค้านการพบปะพูดคุยดังกล่าว พร้อมขู่ว่าจะส่งผลเสียร้ายแรงต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ
โฆษกทำเนียบขาวของสหรัฐฯ เปิดเผยภาพถ่ายนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นั่งพูดคุยสนทนากับองค์ดาไลลามะ ผู้นำจิตวิญญาณพลัดถิ่นของชาวทิเบต พร้อมระบุว่า การหารือดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ (21ก.พ.57) ที่ทำเนียบขาว โดยทั้งคู่ใช้เวลาพูดคุยกันเป็นการส่วนตัวนานประมาณ 1 ชั่วโมง ส่วนเนื้อหาของการหารือ เน้นไปที่ความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน และการอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของชาวทิเบตไม่ให้หายสาบสูญ
นายเจย์ คาร์นีย์ โฆษกทำเนียบขาวระบุว่า ผู้นำทั้งสองเห็นพ้องที่ต้องการให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เป็นไปในเชิงบวก และสร้างสรรค์ ขณะเดียวกันก็อ้างว่า นายโอบามาตัดสินใจพบกับองค์ดาไลลามะครั้งนี้ เนื่องจากองค์ดาไลลามะ ถือเป็นหนึ่งในผู้นำทางศาสนา และวัฒนธรรมที่ได้รับความเคารพนับถือไปทั่วโลก
นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐฯยังย้ำว่า การพบกันระหว่างนายโอบามา กับองค์ดาไลลามะ ไม่ใช่การสนับสนุนให้ทิเบต แยกตัวเป็นเอกราชจากจีน พร้อมชี้ว่า นายโอบามายังสนับสนุนแนว"ทางสายกลาง" ขององค์ดาไลลามะ เพื่อแก้ไขปัญหาความตึงเครียดระหว่างจีน กับทิเบต ผ่านการพูดคุยเจรจา โดยองค์ดาไลลามะยืนยันว่าไม่ได้ต้องการเรียกร้องเอกราชให้ทิเบต เพียงแต่ต้องการให้ทิเบต มีอำนาจในการปกครองตนเองมากยิ่งขึ้น
การพบกันครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สาม หลังจากนายโอบามา และองค์ดาไลลามะ เคยพบกันมาแล้วเมื่อปี 2553 และ 2554 ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของจีน ออกมาเรียกร้องก่อนหน้าการพบกันครั้งล่าสุดของทั้งคู่ว่า การพบกันดังกล่าวจะส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีน กับสหรัฐฯ เนื่องจากจีนมองว่า องค์ดาไลลามะเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดน แม้พระองค์จะย้ำเสมอ ว่าไม่ได้ต้องการแยกทิเบต ออกจากจีนแล้วก็ตาม
องค์ดาไลลามะ ทรงลี้ภัยจากทิเบต ไปยังอินเดีย ตั้งแต่ปี 2502 หลังจากจีนส่งกองทัพเข้าปราบปรามการลุกฮือของชาวทิเบต ซึ่งต่อต้านการปกครองของจีน ขณะที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความตึงเครียดดังกล่าวกลับมาปะทุอีกครั้ง หลังมีชาวทิเบตพลัดถิ่นออกมาประท้วงอำนาจของรัฐบาลจีน ด้วยการเผาตัวตายอย่างต่อเนื่องรวมกันแล้วกว่า 110 ราย ขณะเดียวกัน จีนได้กล่าวหาองค์ดาไลลามะ ว่าอยู่เบื้องหลังการประท้วงด้วยวิธีนี้ แม้พระองค์ได้ออกมาปฏิเสธอย่างแข็งกร้าวแล้วว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประท้วงที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด