ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดทำคลิปวีดีโอ “Hate Speech” เบื้องต้นสำหรับคนไทย
ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  โดย ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดทำคลิปวีดีโอ "Hate Speech" เบื้องต้นสำหรับคนไทย  โดยการอัพโหลดลงเว็บไซต์ Youtube เพื่อให้ความรู้แก่คนในสังคม  เกี่ยวกับการใช้วาทกรรมจำพวก "Hate Speech" ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยในปัจจุบัน 
 
โดยเนื้อหาในคลิปวีดีโอดังกล่าวเสนอว่า  สื่อต่าง ๆ มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้สร้างความคิดเหมารวมเชิงลบ  ต่อกลุ่มอัตลักษณ์ที่แตกต่างจากตน ที่จะนำไปสู่การมีอคติทางชาติพันธุ์  ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมของพฤติกรรมแบ่งแยกเขาและเรา หรือการเห็นว่าพวกตนดีกว่าพวกอื่น ทำให้สังคมที่มีผู้คนจากพื้นเพอันหลากหลาย ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและเป็นสุข 
 
ยิ่งในโลกออนไลน์  ที่ผู้ใช้เป็นใครก็ได้  เป็นผู้สร้างเนื้อหา  และมีการแบ่งปันเนื้อหา  หรือแชร์  ยิ่งเป้นการแพร่กระจายความเกลียดชังได้เหมือนไวรัส  ทำให้สังคมอ่อนแอ  เพราะผู้คนหมดความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง  และสำคัญตัวว่า กลุ่มของตน ความคิด แนวทางของกลุ่มตนเท่านั้นคือความถูกต้อง 
 
ทั้งนี้ คลิปวีดีโอดังกล่าว แยกองค์ประกอบของ "Hate Speech" ออกเป็น 3 ข้อหลัก ๆ ดังนี้ 
 
1.เป็นการแสดงความเกลียดชังต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลอื่นอย่างชัดเจน และอาจแสดงเจตนาชัดเจนที่จะทำให้เป้าหมายได้รับความเกลียดชังจากคนอื่น ถูกตีตราว่าไม่เป็นที่ต้องการของสังคม และสังคมจะดีขึ้นถ้าไม่มีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลดังกล่าว 
 
2.ฐานคิดหรือลักษณะที่พุ่งเป้าในการแสดงความเกลียดชัง ต้องเป็นลักษณะที่เป็นอัตลักษณ์ร่วมของ "กลุ่ม" ทั้งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น เชื้อชาติ ศาสนา สีผิว และเปลี่ยนแปลงได้ เช่น สถานที่เกิด ที่อยู่อาศัย อุดมการณ์ทางการเมือง อาชีพ เป็นต้น 
 
3.เป้าหมายหลักในการแสดงความเกลียดชัง คือเพื่อการแบ่งแยกทางสังคม และ "ขจัด" คนอีกกลุ่มออกไป ไม่ว่าจะในเชิงรูปธรรม เช่นการคุกคามหรือใช้ความรุนแรง หรือในเชิงนามธรรม เช่น การขับไล่ไม่ให้มีที่ยืนในสังคม และการสร้างความชอบธรรมในการปฏิบัติกับกลุ่มดังกล่าวอย่างไม่เท่าเทียมก็ได้ 
 
ประเทศไทยได้รับ 'บทเรียน' จากการใช้ "Hate Speech" มาแล้วหลายครั้ง และแทบทุกครั้งมักจบด้วยการนองเลือดเสมอ และขณะนี้สถานการณ์ทางการเมืองกำลังร้อนแรงถึงขีดสุด ไม่มีการรอมชอมกันระหว่างผู้ชุมนุม กปปส. ที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับรัฐบาลอีกต่อไป ก่อนที่ปลายทางความขัดแย้งนี้จะนองเลือดเหมือนเหตุการณ์ในอดีต ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สังคมไทยจำเป็นต้องตระหนักถึงความสำคัญในการผลิตวาทกรรม "Hate Speech" อย่างจริง ๆ จัง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้มี "คนตาย" ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองเสียที
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog