ไม่พบผลการค้นหา
ประเทศไทย และศรีลังกา มีความสัมพันธ์ด้านพุทธศาสนายาวนานกว่า 700 ปีตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่ทั้งสองประเทศเพิ่งฉลองครบรอบ 260 ปีความสัมพันธ์ด้านพุทธศาสนา เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว
รายงานพิเศษชุด ศรีลังกา 2014 ตอนที่ 1 : ฉลองครบ 260 ปีความสัมพันธ์ด้านพุทธศาสนาไทย - ศรีลังกา
 
ประเทศไทย และศรีลังกา มีความสัมพันธ์ด้านพุทธศาสนายาวนานกว่า 700 ปีตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่ทั้งสองประเทศเพิ่งฉลองครบรอบ 260 ปีความสัมพันธ์ด้านพุทธศาสนา เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว โดยเริ่มนับจากสมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  ส่งพระอุบาลีกับคณะพระธรรมทูตไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในศรีลังกา จนก่อเกิดนิกายที่ทรงอิทธิพลที่สุดจนถึงทุกวันนี้  คือ นิกายสยามวงศ์ 
 
 
คณะของสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ใช้โอกาสในการเดินทางไปแสวงบุญที่ศรีลังกา เพื่อเป็นการแสดงมุทิตาจิต ถวายแด่พระธรรมวรนายก เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา ในโอกาสครบรอบ 80 ปีและเกษียณจากการดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานสุดในประเทศไทยถึง 38 ปี   
 
 
ประเทศศรีลังกาเป็นแหล่งกำเนิดพุทธศานาที่เก่าแก่ไม่แพ้ประเทศอินเดีย เห็นได้จากศาสนสถานและศาสนวัตถุที่ปรากฎให้เห็นเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่สืบเนื่องยาวนานเกือบ 2600 ปี ประเทศไทย กับประเทศศรีลังกามีความสัมพันธ์ด้านศาสนายาวนานกว่า 700 ปี ตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนมาถึงปัจจุบัน
 
 
พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทในประเทศไทย ได้รับสืบทอดมาจากประเทศศรีลังกา มีชื่อว่า ลังกาวงศ์ เคยมีการนิมนต์พระสงฆ์จากลังกา นามว่า ราหุล มาจำพรรษา และเผยแผ่พุทธศาสนา แบบลังกาวงศ์ ณ. เมืองนครศรีธรรมราช ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 17  
 
 
เช่นเดียวกับพระพุทธศาสนานิกาย เถรวาท ที่ใหญ่ที่สุดในศรีลังกา มีชื่อว่า สยามวงศ์ หรือ อุบาลีวงศ์  สืบเนื่องจากสมัยกรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กษัตริย์ศรีลังกาในสมัยนั้นได้ส่งคณะทูตมายังกรุงศรีอยุธยา เพื่อขอพระธรรมทูตจากไทยไปฟื้นฟูพุทธศาสนาในศรีลังกา  เนื่องจากพุทธศาสนาถูกคุกคามจากทมิฬ และชาติตะวันตก
 
 
ปีพุทธศักราช 2295 พระธรรมฑูตชุดแรกจากกรุงศรีอยุธยานำโดยพระอุบาลี เดินทางไปยังศรีลังกา โดยจำพรรษาอยู่ที่วัดบุปผาราม ซึ่งปัจจุบันคือ วัดมัลวัตตะ ตั้งอยู่ที่เมืองแคนดี้ คณะพระธรรมทูตของไทย ได้บรรพชา และอุปสมบท สามเณรสรณังกร และคณะเป็นพระกว่า 700 รูปภายในระยะเวลา 3 ปี ทั้งยังร่วมกันฟื้นฟูพุทธศาสนาในศรีลังกา จนนำไปสู่การก่อตั้งคณะสงฆ์นิกายใหญ่ที่สุด และทรงอิทธิพลที่สุดในศรีลังกา ชื่อว่า สยามวงศ์
 
 
ที่วัดบุปผาราม ซึ่งขณะนี้เรียกว่า วัดมัลวัตตะ เคยเป็นสถานที่จำพรรษาของพระอุบาลี มีพระอุโบสถที่มองจากทั้งภายนอกและภายในไม่แตกต่างจากอุโบสถในประเทศไทย  เช่น ใบเสมาสลักลายตั้งอยู่ 8 ทิศ  มีการยกเหลี่ยมที่ฐานอุโบสถ ภายในมีพระประธานขนาดใหญ่ ส่วนเพดานมีการเขียนเล่าเรื่องพุทธประวัติ ด้านนอกอุโบสถมีรูปหล่อของพระอุบาลีเถระ กับสามเณรสะระณังกร ซึ่งภายหลังอุปสมบทอยู่หลายพรรษา  พระสะระณังกร ได้ขึ้นเป็นประมุขสงฆ์แห่งศรีลังกา หรือสังคนายกะ ผู้สถาปนาลัทธิ สยามวงศ์
 
 
ที่วัดมัลวัตตะ ยังมีพิพิธภัณฑ์การก่อเกิดของลัทธิสยามวงศ์ มีภาพเขียนของสามเณรสะระณังกร และรูปหล่อของพระอุบาลีเถระ พร้อมทั้งสมณบริขาร เช่น บาตร และจีวร  
 
 
จากนั้นคณะของสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ได้เดินทางไปถวายความเคารพ พระศรีพุทธรักขิต มหานายกะ สยามวงศ์ฝ่ายอรัญวาสี ที่วัดอัสสคีริยา เมืองแคนดี้  ท่านสังฆนายก ได้ตอบรับการนิมนต์จากเลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ด้วยการรับปากว่าจะส่งพระสงฆ์ศรีลังกาที่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ เข้าร่วมปฏิบัติธรรมเชิงลึก ณ.แดนพุทธภูมิ รุ่นที่ 6 ร่วมกับพระสงฆ์สายเถรวาทจากไทย ลาว  กัมพูชา และพม่า  รวมถึงสายมหายาน คือ เวียดนาม
 
 
ที่สุสานหลวงของ ใกล้กับวัดอัสสคีริยา  เป็นที่ตั้งของที่เผาพระศพของพระอุบาลีเถระ พระธรรมทูตจากอยุธยาผู้มีคุณูปการอย่างสำคัญต่อพุทธศาสนานิกายสยามวงศ์ในศรีลังกา พระอุบาลีมรณภาพขณะจำพรรษาที่ศรีลังกาได้เพียง 3 ปี เมื่อปีพุทธศักราช 2531 ได้มีการสร้างหลักศิลาจารึกเป็นรูป 4 เหลี่ยม จารึกเป็นภาษาสิงหล ภาษาอังกฤษและภาษาไทย  สร้างอุทิศโดยพระธรรมธีรราชมหามุนี  เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ 
 
 
ประเทศศรีลังกาเป็นประเทศในชมพูทวีปเช่นเดียวกับประเทศอินเดีย  เป็นดินแดนที่พระพุทธศาสนาหยั่งรากลึกในวัฒธรรมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ผู้คน  ปัจจุบันศรีลังกามีประชากร 20 ล้านคน โดยมีการประกาศให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ 
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog