ไม่พบผลการค้นหา
'นพ.สุรพงษ์' ชี้คำสั่งปิดวอยซ์ ทีวี เกินกำหนดเวลาบังคับใช้แล้ว อย่าอ้างใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพราะในรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุไว้ในม. 35 ว่า การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพจะกระทำมิได้

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีคำสั่งปิดวอยซ์ ทีวี ว่า หนังสือคำสั่งดังกล่าวถือว่าไม่มีผลบังคับใช้แล้ว เนื่องจากเกินกำหนดเวลาไปแล้ว โดยยกมาตรา 10 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่นายกรัฐมนตรีมอบอำนาจให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบออกข้อกำหนดแทนได้ แต่ต้องรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว และถ้านายกรัฐมนตรีไม่ได้ออกข้อกำหนดเดียวกันภายใน 48 ชั่วโมงนับจากเวลาที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบออกข้อกำหนด ให้ข้อกำหนดนั้นสิ้นผลใช้บังคับ ทำให้การปิดวอยซ์ทีวีในวันนี้ (20 ต.ค.) จึงไม่สามารถอ้างอิงอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ เพราะเป็นคำสั่งเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 ซึ่งสิ้นผลใช้บังคับแล้ว

นอกจากนี้ การปิดวอยซ์ทีวีไม่สามารถอ้างอิง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ได้ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุไว้ในมาตรา 35 ว่า การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพจะกระทำมิได้ และมาตรา 5 ว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กฎหมายอื่นที่ขัดแย้งรัฐธรรมนูญ ใช้บังคับมิได้ แต่ถ้าต้องการปิดวอยซ์ทีวีและสื่อมวลชนอื่น ห้ามชุมนุม ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม นายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้ออกข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินเอง ให้คนอื่นทำแทนไม่ได้และต้องพร้อมรับผิดชอบ

เนื้อหาทั้งหมด

สุ

สุญญากาศของอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน :

คำสั่งของหัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ ไม่มีผลใชับังคับแล้ว

1.พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มีบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล ดังนั้นจึงระบุตัวผู้รับผิดชอบการใช้อำนาจชัดเจนและจำกัดเวลาในการใช้

2.ผู้ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือ นายกรัฐมนตรีที่รวบรวมอำนาจจากรัฐมนตรีมารวมศูนย์ในการออกข้อกำหนดต่างๆ

3.ตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินให้อำนาจนายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดให้มีเคอร์ฟิว ห้ามชุมนุม ห้ามเสนอข่าวบิดเบือน ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม ห้ามใช้อาคาร 

4.ตามมาตรา 10 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายกรัฐมนตรีมอบอำนาจให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบออกข้อกำหนดแทนได้ แต่ต้องรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว และถ้านายกรัฐมนตรีไม่ได้ออกข้อกำหนดเดียวกันภายใน 48 ชั่วโมงนับจากเวลาที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบออกข้อกำหนด ให้ข้อกำหนดนั้นสิ้นผลใช้บังคับ

5.คำสั่งของหัวหน้าผู้รับผิดชอบที่ออกก่อนหรือออกภายในวันที่ 17 ต.ค. 2563 ไม่มีผลใช้บังคับแล้ว เพราะเกิน 48 ชั่วโมง และยังไม่มีคำสั่งของนายกรัฐมนตรีในข้อกำหนดเดียวกันออกมาทดแทน

6.การปิดวอยซ์ทีวีในวันนี้จึงไม่สามารถอ้างอิงอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ เพราะเป็นคำสั่งเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 ซึ่งสิ้นผลใช้บังคับแล้ว

7.การปิดวอยซ์ทีวีไม่สามารถอ้างอิง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ได้ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุไว้ในมาตรา 35 ว่า การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพจะกระทำมิได้ และมาตรา 5 ว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กฎหมายอื่นที่ขัดแย้งรัฐธรรมนูญ ใช้บังคับมิได้

8.ถ้าประสงค์จะปิดวอยซ์ทีวีและสื่อมวลชนอื่น ห้ามชุมนุม ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม นายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้ออกข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินเอง ให้คนอื่นทำแทนไม่ได้และต้องพร้อมรับผิดชอบ