ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อพูดถึงผู้นำชาวพม่า หลายคนอาจนึกถึงนายพลอูอองซาน รวมถึงนางอองซานซูจี และนายพลเต็งเส่ง แต่หลายคนหลงลืมไปว่า ยังมี "นายอูถั่น" อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติอีกคนหนึ่ง ที่มีบทบาทในเวทีโลก

เมื่อพูดถึงผู้นำชาวพม่า หลายคนอาจนึกถึงนายพลอูอองซาน รวมถึงนางอองซานซูจี และนายพลเต็งเส่ง แต่หลายคนหลงลืมไปว่า ยังมี "นายอูถั่น" อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติอีกคนหนึ่ง ที่มีบทบาทในเวทีโลก วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับเขาให้มากขึ้น ผ่านพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ในนครย่างกุ้ง
 
ชาวพม่าที่มีบทบาทบนเวทีการเมืองโลกไม่ว่าจะเป็น นายพลอูอองซาน ผู้เรียกร้องเอกราชจากอังกฤษให้กับชาวพม่า รวมถึงนางอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้านและนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และนายพลเต็งเส่ง ประธานาธิบดีสายปฏิรูปคนปัจจุบัน แต่น้อยคนนักจะพูดถึง "นายอูถั่น" อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ หรือ UN ชาวพม่า ที่ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2504 ถึง 2514  และมีบทบาทสำคัญในช่วงที่โลกเผชิญกับภาวะสงครามเย็น

ไม่ไกลจากใจกลางนครย่างกุ้ง อดีตเมืองหลวงของเมียนมาร์ บ้านทรงโคโลเนี่ยลสีเหลือง 2 ชั้นของนายอูถั่น เพิ่งได้รับการบูรณะเสร็จสิ้น เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา หลังจากได้รับความเสียหายอย่างหนักจากพายุหมุนนาร์กิสในปี 2551 การฟื้นฟูบูรณะนี้ใช้เวลาเกือบ 2 ปี ด้วยงบประมาณทั้งสิ้น 80,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 2 ล้าน 4 แสนบาท จากครอบครัวนายอูถั่นเอง

นายถั่นมินอู นักประวัติศาสตร์ชื่อดังชาวพม่า หลานชายของนายอูถั่นกล่าวว่า บ้านหลังนี้เป็นของรัฐบาล เขาได้รับอนุญาตจากนายเต็งเส่งให้บูรณะ ก่อนที่จะแปลงสภาพของมันให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่อจัดแสดงงานสำคัญที่เกี่ยวกับนายอู่ถั่น โดยได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญเป็นจำนวนมาก

นายอู่ถั่นเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลของนายอูนุ ก่อนเดินทางไปปฏิบัติหน้าผู้แทนเมียนมาร์ในการประชุมเอเชีย-แอฟริกาซัมมิต ที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย ในปี 2498 ก่อนรวมตัวเป็นกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด หรือ Non-Aligned Movement ซึ่งเขาได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก่อนที่ต่อมาจะได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการยูเอ็น ในปี 2504

ผลงานที่โดดเด่นของนายอูถั่น ที่ทิ้งไว้ให้แก่ชาวโลกตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการยูเอ็น คือ การยุติสงครามกลางเมืองในคองโก และรับมือกับวิกฤติการณ์คิวบา ตลอดจนผ่อนคลายความตึงเครียดในระหว่างสงครามเย็น และนำผู้นำชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ แห่งโลกเสรี และสหภาพโซเวียต แห่งโลกคอมมิวนิสต์เข้าสู่โต๊ะเจรจา

ภายหลังการรัฐประหารล้มอำนาจนายอูนุ ของนายพลเนวิน ในปี 2505 ถือเป็นการปิดฉากบทบาทนักการทูตของนายอูถั่น แม้ในช่วงนั้น เขายังอยู่ในระหว่างดำรงตำแหน่งเลขาธิการยูเอ็นก็ตาม โดยเขาไม่ได้รับตำแหน่งใดๆอีกเลยภายหลังหมดวาระในปี 2514 และเสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งในปี 2517 โดยไม่ขอรับเกียรติยศใดๆจากรัฐบาลเมียนมาร์เลย

นายอูถั่น เป็นบุคคลที่เกือบสูญหายไปในประวัติศาสตร์พม่าสมัยใหม่ เนื่องจากรัฐบาลทหารมักโยนข้อหาต่างๆ ให้กับเขา เช่น การสนับสนุนขบวนการนักศึกษาเรียกร้องประชาธิปไตย ในช่วงหลังรัฐประหารปี 2505 ก่อนจบลงด้วยเหตุการณ์ 8888 ในอีก 20 ปีให้หลัง ซึ่งปัจจุบัน รัฐบาลได้บรรจุเนื้อหาชีวประวัติ และผลงานของเขาเข้าไปในบทเรียนอีกครั้ง

ปัจจุบัน บ้านของนายอูถั่น ได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ประชาชนเข้าชมชีวประวัติ และผลงานของเขา ได้รับรู้เรื่องราวจากปากลูกหลานที่เคยอาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้น หลังจากที่นายอูถั่นได้หายสาบสูญไปในประวัติศาสตร์ตลอดระยะเวลา 50 ปี ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารก่อนหน้านี้

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog