การประมูลทีวีดิจิตอล ประเภทช่อง HD และช่องทั่วไป SD มีมูลค่าการประมูลรวม 39,650 ล้านบาท โดยผู้ประกอบรายใหญ่ฟรีทีวีเดิม สามารถชนะการประมูล รวมทั้งมีกลุ่มทุนรายใหม่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมโทรทัศน์
การประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการ โทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการธุรกิจระดับชาติ ที่อาคารกสท.โทรคมนาคม บางรัก คึกคักตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา โดยมีผู้บริหารจากบริษัทผู้เข้าร่วมการประมูล เดินทางมาเตรียมความพร้อมกันอย่างเต็มที่ รวมทั้งสื่อมวลชนที่ให้ความสนใจ การประมูลคลื่นความถี่ทีวีดิจิตอลครั้งแรกในประเทศไทย
โดยการประมูลช่องความคมชัดสูง หรือไฮเดฟฟิเนชั่น (HD) ทั้่งหมด 7 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นประมูล 1,510 ล้านบาทปรากฎว่า
อันดับที่ 1 บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย หรือ ช่อง 3 เสนอราคาสูงสุดที่ราคา 3,530 ล้านบาท
อันดับที่ 2 บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด ของนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เสนอราคา 3,460 ล้านบาท
อันดับที่ 3 คือ บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด หรือ ช่อง 7 เสนอราคา 3,370 ล้านบาท
อันดับที่ 4 บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด หรือ ไทยรัฐทีวี เสนอราคา 3,360 ล้านบาท
อันดับที่ 5 บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) เสนอราคาประมูล3,340 ล้านบาท
อันดับที่ 6 มี 2 ราย เสนอราคาเท่ากันที่ 3,320 ล้านบาท คือ บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด ในเครืออัมรินทร์พริ้นติ้งฯ และ บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอชดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด ในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่
ส่วนในช่วงบ่ายมีการประมูล ช่องความคมชัดมาตรฐาน หรือสแตนดาร์ดเดฟฟิเนชั่น (ทั่วไป SD) มีทั้งหมด 7 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นประมูล 380 ล้านบาท ปรากฎว่า
อันดับที่ 1 บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด ในเครือเวิร์คพอยท์ฯ เสนอราคาสูงสุด 2,355 ล้านบาท
อันดับ 2 บริษัท ทรูดีทีที จำกัด เสนอราคา 2,315 ล้านบาท
อันดับ 3 บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอสดี ดิจิทัล จำกัด ในเครือจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ เสนอราคา 2,290 ล้านบาท
อันดับที่ 4 บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด หรือ ช่อง 3 เสนอราคา 2,275 ล้านบาท
อันดับที่ 5 บริษัท อาร์ เอส เทเลวิชั่น จำกัด ในกลุ่มอาร์เอส เสนอราคา 2,265 ล้านบาท
อันดับที่ 6 บริษัท โมโน บรอดคาสซท์ จำกัด ในเครือโมโนกรุ๊ป เสนอราคา 2,250 ล้านบาท
อันดับที่ 7 คือ บริษัทแบงคอก บิสสิเนส บรอดคาสติ้ง จำกัด ในเครือเนชั่น เสนอราคาที่ 2,200 ล้านบาท ซึ่งมีการไล่เคาะราคาขึ้นมาห่างจากอันดับที่ 8 เพียง 5 ล้านบาท ในนาทีสุดท้าย
ส่วนอีก 9 รายที่ไม่ได้รับใบอนุญาต ได้แก่ บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด บริษัท โฟร์วันวัน เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ของตระกูลมหากิจศิริ บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด หรือ ไทยรัฐทีวี บริษัท ไทยทีวี จำกัด ในเครือทีวีพูล บริษัท ทัช ทีวี จำกัด ในเครืออินทัช บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) บริษัท บีบีทีวี แซทเทลวิชั่น จำกัด ในเครือช่อง 7 บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด และบริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด ของตระกูลปราสาททองโอสถ