ไม่พบผลการค้นหา
ถึงแก่อสัญกรรมของนายแมนเดลา ไม่เพียงเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ของชาวแอฟริกาใต้เท่านั้น แต่ยังเป็นความสูญเสียของประชาชนทั้งโลก
ถึงแก่อสัญกรรมของนายแมนเดลา ไม่เพียงเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ของชาวแอฟริกาใต้เท่านั้น แต่ยังเป็นความสูญเสียของประชาชนทั้งโลก เนื่องจากตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เรื่องราวของแมนเดลาเป็นแรงบันดาลใจให้กับการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความเสมอภาคของมนุษย์ทั่วโลก เราไปย้อนดูกันว่าตลอดชีวิตของแมนเดลา รัฐบุรุษของโลกผู้นี้ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่อะไรบ้างไว้ให้แก่คนรุ่นหลัง
 
 
ในโลกนี้มีผู้นำที่ยิ่งใหญ่มากมาย แต่มีคำกล่าวที่ว่า วีรบุรุษของคนกลุ่มหนึ่ง อาจเป็นโจรก่อการร้ายของคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่มีรัฐบุรุษคนไหนที่จะได้รับเสียงชื่นชมจากทุกฝ่าย ไม่ว่ามิตรหรือศัตรู แต่ชายผู้นี้ถือเป็นข้อยกเว้น เนลสัน แมนเดลา อาจจะเป็นบิดาของชาวแอฟริกาใต้ แต่เขาเป็นรัฐบุรุษของคนทั้งโลก
 
 
ถึงแม้ว่าแมนเดลาจะมีชีวิตพลิกผันระหกระเหินจนได้ชื่อว่าเป็นนักสู้ที่ทรหด แต่ในช่วงวัยเด็ก เขาไม่ได้มีชีวิตที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเลยแม้แต่น้อย แมนเดลาเกิดในตระกูลชนชั้นสูงของเผ่าเทมบู สืบเชื้อสายจากกษัตริย์ของชาวเทมบู บิดาของเขาเป็นที่ปรึกษาของกษัตรยิ์เทมบู เมื่อเขากำพร้าพ่อตอนอายุได้ 9 ขวบ ราชวงศ์เทมบูจึงรับอุปการะ และเลี้ยงดูแมนเดลาเหมือนเป็นเจ้าชายคนหนึ่งในราชสำนัก
 
 
แมนเดลาเริ่มเข้าสู่กระบวนการแสดงออกทางการเมืองเมื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เขาเข้าร่วมสภานักศึกษาและเดินขบวนต่อต้านกฎเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยจนถูกไล่ออก แมนเดลาจึงหันมาเรียนหลักสูตรการศึกษาทางไกลของมหาวิทยาลัยลอนดอนจนจบปริญญาตรีด้านกฎหมาย เขายังแสดงความเป็นคนหัวก้าวหน้าที่กบฏต่อกฎเกณฑ์อันไม่ชอบธรรมของสังคมด้วยการหนีออกจากบ้านเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกคลุมถุงชน ไปยังนครโจฮันเนสเบิร์ก ทำงานเป็นเสมียนในสำนักงานกฎหมายแห่งหนึ่ง พร้อมกับเรียนหนังสือไปด้วย ทำให้เขาได้พบปะเพื่อนร่วมอุดมการณ์และนักคิดนักเคลื่อนไหวมากมาย จนกลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเข้าสู่วงการเมืองอย่างเต็มตัวในที่สุด
 
 
เมื่อพรรคชาตินิยมแอฟริกาใต้ชนะการเลือกตั้งในปี 2491 และประกาศใช้นโยบายอพาไธด์ หรือการแบ่งแยกสีผิวอย่างเข้มงวดรุนแรง แมนเดลาเข้าร่วมเป็นผู้นำคนสำคัญในสมัชชาแห่งชาติแอฟริกัน หรือ ANC เพื่อต่อต้านนโยบายอพาไธด์ และก่อตั้งสำนักงานกฎหมายให้ความช่วยเหลือชาวแอฟริกันผิวดำที่ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบควบคู่ไปด้วย จนเขาและพรรคพวกกว่า 100 คนถูกจับในข้อหากบฏ การพิจารณาคดียืดเยื้อถึง 4 ปี แต่สุดท้ายทั้งหมดก็ถูกตัดสินให้ไม่มีความผิด
 
 
การถูกจับกุมคุมขังโดยไม่เป็นธรรม ผนวกกับนโยบายของรัฐบาลที่กดขี่รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามด้วยการสังหารหมู่ชาวแอฟริกัน 69 คนที่เมืองชาร์ปวิลโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้ขบวนการ ANC แปรเปลี่ยนจากแนวทางสันติวิธีมาเป็นการก่อการร้าย โดยแมนเดลาเป็นแกนนำขบวนการอย่างเต็มตัว จนเขาถูกจับอีกครั้ง และถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตในข้อหาก่อการร้ายล้มล้างรัฐบาลเมื่อปี 2507 ขณะที่ ANC ถูกระบุว่าเป็นองค์กรผิดกฎหมาย
 
 
ในระหว่างที่แมนเดลาอยู่ในเรือนจำ การต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิพลเมืองของชาวแอฟริกันยิ่งเข้มข้นขึ้น มีผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมากทั้งจากการก่อการร้ายและการปราบปรามโดยรัฐ ขณะที่ในต่างประเทศ กลุ่ม ANC ได้เคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลแอฟริกาใต้ปล่อยตัวแมนเดลา ก่อให้เกิดกระแสไปทั่วโลก และแมนเดลาก็กลายเป็นสัญลักษ์ของการต่อสู้เพื่อสิทธิคนผิวดำทั้งในแอฟริกาและต่างประเทศไปโดยปริยาย
 
 
กระแสสังคมทำให้รัฐบาลนานาชาติทยอยคว่ำบาตรกดดันแอฟริกาใต้ จนกระทั่งในปี 2533 ประธานาธิบดีเฟรเดอริก วิลเลม เดอ เคลิร์ก แห่งรัฐบาลผิวขาว ก็ยกเลิกการแบน ANC จากการเมือง และปล่อยตัวแมนเดลาในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2533 ซึ่งเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่ถูกถ่ายทอดสดไปทั่วโลก เพราะถือเป็นการเปิดประวัติศาสตร์บทใหม่ของแอฟริกาใต้ยุคประชาธิปไตยที่คนผิวขาวและผิวดำจะได้อยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาค
 
 
แมนเดลาและเดอ เคลิร์ก ร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และสะสางประวัติศาสตร์ของการต่อสู้อันขมขื่นระหว่างคนต่างสีผิวในประเทศ ทั้งสองได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกันในปี 2536 และหลังจากนั้นเพียง 1 ปี การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกที่ประชาชนทุกสีผิวในแอฟริกาใต้มีสิทธิเลือกตั้งเท่าเทียมกันก็เกิดขึ้น นำไปสู่ชัยชนะอย่างถล่มทลายของ ANC ซึ่งส่งให้แมนเดลาได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของประเทศ
 
 
ตลอดเวลา 5 ปีของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แมนเดลาดำเนินโรงการฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภค และปฏิรูปเศรษฐกิจที่เติบโตมาอย่างไม่เสมอภาพจากนโยบายอพาไธด์ โครงการบ้านพักราคาถูกที่สร้างในสมัยของเขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าไม่มีคุณภาพและการจัดการปัญหาโรคเอดส์และการสาธารณสุขต่างๆก็ไม่ดีเท่าที่ควร แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าภายใต้รัฐบาลแมนเดลา คุณภาพชีวิตของชาวแอฟริกันผิวดำถูกยกระดับขึ้นมาอย่างมหาศาล
 
 
แมนเดลาเกษียณอายุตัวเองในวัย 80 ปี โดยไม่ยอมรับตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่สอง แต่หลังพ้นจากตำแหน่ง เขากลับยิ่งมีบทบาทมากกว่าเดิม ทั้งในและต่างประเทศ ผ่านการเป็นประธานและเข้าร่วมในองค์กรการกุศลและองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ เพื่อรณรงค์ต่อต้านความยากจน เรียกร้องความเท่าเทียมกันของมนุษย์ และที่สำคัญคือการรณรงค์ป้องกันโรคเอดส์ ซึ่งเป็นภารกิจที่เขายอมรับว่าได้ละเลยไปในยุคที่เป็นผู้นำประเทศ และเขายังเปิดเผยว่าลูกชายคนหนึ่งของเขาเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์เช่นกัน
 
 
ในช่วง 2-3 ปีสุดท้ายของชีวิต แมนเดลาค่อนข้างเก็บตัว เนื่องจากมีอาการป่วยหลายโรค รวมถึงโรคอัลไซเมอร์ จนกระทั่งเขาถึงแก่อสัญกรรมในวัย 95 ปี แต่สำหรับรัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่อย่างแมนเดลา แม้ว่าจะจากโลกนี้ไปแล้ว แต่เรื่องราวของเขาก็จะยังคงเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้อย่างไม่ย่อท้อเพื่อประชาธิปไตยและความเสมอภาคของมนุษย์ และเป็นแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นหลังไปตราบนานเท่านาน
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog