ไม่พบผลการค้นหา
ประชุมรัฐสภาถกเดือดสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เปิดทางพรรคเล็กแปรญัตติหาร 500 ฝ่ายค้านรุมขวาง จวกรัฐสภาเผด็จการรับใบสั่ง ที่สุดที่ประชุมมีมติ 392:160 คว่ำสูตรหารด้วย 100 ก่อนเคาะใช้สูตร 'ระวี' หารด้วย 500 ด้าน 'พรเพชร' เจอบีบให้รีบปิดอภิปราย สมาชิกต่อว่าประธานไม่แข็ง

วันที่ 6 ก.ค. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา มี ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ปฏิบัติหน้าที่ประธานในที่ประชุมพิจาณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ในวาระสอง ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญได้พิจารณาเสร็จสิ้นต่อเนื่องวันที่สอง และเข้าสู่การพิจารณามาตรา 23 ซึ่งว่าด้วยสูตรคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งมีข้อถกเถียงว่าจะมีการลงมติให้เป็นสูตรคำนวณแบบหาร 100 หรือแบบหาร 500  โดยคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากยืนยันให้ใช้สูตรคำนวณหารด้วย 100

ในช่วงต้น จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วิปทั้ง 3 ฝ่ายได้ตกลงว่าจะเดินหน้าพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับ ต่อกันไปให้เสร็จในวันนี้ แม้จะถูกเตะถ่วงมาบ้าง แต่กฏหมายฉบับนี้มีความไม่ปกติอย่างสังคมก็ทราบดี เพราะมีการครอบงำจากฝ่ายบริหาร จึงเห็นว่าควรยุติการประชุมเพื่อให้สังคมได้ตั้งสติพิจารณากันใหม่ แต่ได้รับการทัดทานจาก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ว่าสมาชิกฯ แต่ละคนมีเอกสิทธิ ไม่ถูกครอบงำ จากนั้น ชวน จึงขอให้เดินหน้าการประชุมต่อ

ระวี ประชุมรัฐสภา พลังธรรมใหม่ คำนวณ บัญชีรายชื่อ -5D10-4C68-9CA3-BB74191CED9B.jpeg

นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ อภิปรายสนับสนุนสูตรหาร 500 โดยให้เหตุผลว่า ผลของสูตรคำนวณแบบหาร 500 ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 91 เพียงข้อเดียว ขณะที่สูตรคำนวณแบบหาร 100 ขัดต่อรัฐธรรมนูญมากกว่า และมีความไม่เป็นธรรมต่อพรรคการเมืองขนาดเล็ก ไม่เคารพต่อสิทธิเสียงของประชาชน เนื่องจากเสียเปรียบด้วยคะแนนเสียงต่อเก้าอี้ ส.ส.

ทำให้ จุลพันธ์ ท้วงติงว่า การแปรญัตติลักษณะนี้ขัดต่อหลักการของร่างกฏหมายตามที่กรรมาธิการพิจารณาไปแล้ว เนื่องจากสูตรหาร 500 ขัดต่อมาตรา 91 ซึ่งได้รับการแก้ไขแล้วก่อนหน้านี้

นิกร จำนง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะกรรมาธิการ จึงชี้แจงว่า ถูกต้องตามที่ จุลพันธ์ เสนอ เนื่องจากรัฐสภาแห่งนี้ไม่ได้รับแนวคิดสูตรหาร 500 มาเลยในร่าง พ.ร.ป. ทั้ง 4 ฉบับที่รับหลักการมา แต่ท้ายที่สุดคณะกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ยืนยันว่าไม่แก้ไขสูตรคำนวณ จึงต้องให้สมาชิกฯ มีโอกาสสงวนคำแปรญัตติเพื่อมาอภิปรายให้สภาวินิจฉัย 

ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะสมาชิกรัฐสภา ท้วงติงอีกครั้งว่า เหตุใดคำแปรญัตติที่ขัดต่อหลักการจึงปรากฏในรายงานของกรรมาธิการฯ แต่กลับไม่ปรากฏความเห็นของกรรมาธิการฯ เสียงข้างมาก กระบวนการตรากฏหมายเช่นนี้ ตนถือว่ามีความวิบัติ เพราะไม่มีหลักการ เปรียบเสมือนสภาเผด็จการ เนื่องจากรับคำสั่งมาอีกที

ทำให้ สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า หากผู้ทักท้วงมองว่ากระบวนการนี้ขัดต่อกฏหมาย ก็สามารถใช้สิทธิยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ แต่กรรมาธิการไม่มีอำนาจกระทำเช่นนั้นได้

ฝ่ายค้าน ชลน่าน เพื่อไทย ประชุมรัฐสภา -4057-456F-BA86-C5A5DB4B002A.jpegเพื่อไทย ชลน่าน จุลพันธ์ สมคิด ประชุมรัฐสภา -A66C-41C9-A7C0-A7CD07A6CBA3.jpegชลน่าน รัฐสภา สูตรคำนวณ -62F0-413E-B8A5-213857224907.jpeg

'ไพบูลย์’ เห็นพ้อง ‘ก้าวไกล’ ดันสูตรหาร 100

จากนั้น ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างมาก ระบุว่า การแปรญัตติโดยเสนอสูตรคำนวณแบบหาร 500 นั้น เป็นการนำหลักการในรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ซึ่งยกเลิกไปแล้วกลับมาใหม่ ซึ่งตนไม่เคยเห็นมาก่อน พร้อมยืนยันว่าตั้งแต่เมื่อตนเป็นประธานกรรมาธิการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ก็ได้ชี้ชัดในประเด็นสูตรคำนวณไปแล้วว่าอย่างไรก็ต้องใช้สูตรหาร 100 มีหลักฐานพร้อมยื่นศาลรัฐธรรมนูญ การแก้ไขร่าง พ.ร.ป.ครั้งนี้ ต้องยึดตามมาตรา 91 ที่แก้ไขไปแล้วเท่านั้น 

ด้าน ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ อภิปรายว่า การแก้ไขร่าง พ.ร.ป. ครั้งนี้ควรใช้สูตรคำนวณแบบหาร 100 เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่แก้ไขแล้ว หากย้อนกลับไปใช้สูตรหาร 500 จะทำให้ระบบการเลือกตั้งไทยแปลกประหลาด ไม่เหมือนใครบนโลกเหมือนเมื่อปี 2562 ควรเลือกตั้งอย่างไม่อายประชาชน ตนรู้สึกตลกที่เห็นว่าระบบ MMP ที่พรรคก้าวไกลเคยเสนอ และรัฐสภาปัดตก กลับถูกฟื้นคืนมาราวกับเป็นสิ่งพิเศษ

ขณะที่ รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า การออกแบบสูตรหาร 500 ด้วยวิธีคำนวณแบบศรีธนญชัยของ กกต. ที่แล้วมา ส่งผลให้มี ส.ส.แบบปัดเศษเข้ามาในสภา ร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้ จึงต้องอุดช่องโหว่ดังกล่าว 

สมชัย ประชุมรัฐสภา -7DA6-4D22-81B0-DFF1745751F2.jpeg

'สมชัย' แจงสูตรหาร 500 ไม่ขัด รธน.

ด้าน สมชัย ศรีสุทธิยากร สมาชิกพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ที่สงวนความเห็นให้ใช้สูตรคำนวณแบบหาร 500 อภิปรายว่า ระบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ MMP ที่มีแนวคิดมาจากประเทศเยอรมัน ถือว่ามีประสิทธิภาพ เนื่องจากทำให้จำนวน ส.ส.ในสภา สะท้อนตรงกับเจตนารมณ์ของประชาชน พร้อมแจกแจงว่าสูตรหาร 500 ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 91 เนื่องจากสอดรับกับเนื้อความในรัฐธรรมนูญทุกส่วน

สมชัย ยังชี้ว่า สูตรคำนวนแบบหาร 100 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากติดปัญหาที่คำว่า ‘ส.ส.พึงมี’ และ ‘ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงได้รับ’ ยังคงปรากฏอยู่ในมาตรา 93 และ 94 แห่งรัฐธรรมนูญ หากพิจารณาโดยมองข้ามส่วนนี้ เมื่อมีการเลือกตั้ง กกต. จะไม่มีกฏหมายสำหรับดำเนินการเลือกตั้ง และผู้พิจารณาร่าง พ.ร.ป.นี้ อาจกลายเป็นผู้ทำผิดรัฐธรรมนูญเสียเอง

ประท้วง ‘พรเพชร’ วุ่น ปล่อย กมธ. พูดไม่หยุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 20.36 น. ในระหว่างการพิจารณามาตรา 23 ได้เกิดการโต้เถียงและประท้วงเล็กน้อยระหว่างที่ พรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ปฏิบัติหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยนพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ เสนอให้ประธานฯ ปิดอภิปราย และเข้าสู่การลงมติ เนื่องจากผู้อภิปรายครบคนแล้ว แต่ พรเพชร ขอให้กรรมาธิการฯ ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมก่อน แต่ จุลพันธ์ ทักท้วงการปิดอภิปรายของ นพ.ระวี พร้อมขอให้มีความอดทน เพราะรู้ว่า นพ.ระวี กลัวสูตรหาร 100 แต่พวกตนไม่กลัว แม้จะใช้เสียงข้างมาก แต่ยังมีเสียงของประชาชน

เมื่อ 21.12 น. สมชาย แสวงการ ส.ว. หารือว่าหากประธานฯ เปิดโอกาสให้กรรมาธิการอภิปรายต่อไป อาจจะยืดเยื้อจนจบไม่ลง จึงเสนอให้ปิดการอภิปรายของกรรมาธิการฯ โดยที่ จุลพันธ์ คัดค้านว่า ควรเปิดรับฟังความเห็นให้รอบด้านก่อน เพราะมีอีกหลายท่านที่แจ้งความจำนงจะอภิปรายไว้ 

ทำให้ ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ท้วงติงต่อประธานฯ อีกครั้งว่า ขอให้กรรมาธิการอภิปรายอีก 2 คนเท่านั้น แล้วประธานฯ ควรใช้อำนาจสั่งยุติการอภิปราย แต่อย่างไรก็ตาม พรเพชร ยังคงอนุญาตให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายต่อ เพราะมีฐานะผู้นำฝ่ายค้านฯ และตนเห็นว่าสมควรจะได้พูด ตามด้วย สมชาย แสวงการ ส.ว. ทำให้ ศุภชัย ท้วงติงประธานฯ อย่างต่อเนื่อง โดยย้ำว่า ท่านต้องแข็งกว่านี้ ขณะที่ มงคงกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ เสนอให้เปลี่ยนตัวประธานฯ

จากนั้น พรเพชร จึงวินิจฉัยให้ สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมาธิการ ใช้ดุลยพินิจเลือกกรรมาธิการที่จะได้อภิปรายต่อ ซึ่ง สาธิต เสนอรายชื่อ กฤช เอื้อวงศ์ รองเลขาธิการ กกต. และ พงศ์เทพ เทพกาญจนา ในฐานะกรรมาธิการ อภิปรายอีกคนละ 7 นาที แล้วเป็นอันสิ้นสุดการอภิปรายแสดงความเห็นของกรรมาธิการ

เมื่อ 21.36 น. หลังกรรมาธิการฯ ทั้ง 2 อภิปรายเสร็จสิ้น พรเพชร ยืนยันว่า นพ.ชลน่าน จะได้อภิปรายต่อเป็นรายสุดท้าย เนื่องจากเห็นว่าควรให้เกียรติสมาชิกฯ ทุกฝ่าย แม้ตนไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ยึดถือในนิติบัญญัติ แม้จะมีผู้หยามเกียรติหรือขับไล่ตนจากตำแหน่ง ตนก็ให้อภัย

ชลน่าน เพื่อไทย ประชุมรัฐสภา -2009-4F00-B8EB-CA15C639586A.jpeg

’ชลน่าน’ กระตุก ‘พรรคเล็ก’ เคารพเสียงประชาชน

จากนั้น นพ.ชลน่าน ในฐานะกรรมาธิการ อภิปรายโดยยืนยันว่า การแก้ไขร่าง พ.ร.ป. ต้องเอารัฐธรรมนูญที่แก้ไขแล้วเมื่อปี 2564 เป็นตัวตั้ง และเจตนารมณ์ในมาตรา 91 ชัดเจนว่าต้องเป็นระบบคู่ขนานหรือสูตรหาร 100 การจะนำแนวคิด ส.ส.พึงมี กลับมาใช้ ถือว่าขัดเจตนารมณ์ชัดเจน เพราะบิดเบือนสาระของมาตรา 128 พร้อมชี้ว่าระบบจัดสรรปันส่วนผสมของประเทศเยอรมัน ยังมีข้อแตกต่างจากสูตรหาร 500 ชัดเจน

“ผู้สงวนความเห็นเรียกร้องความเป็นธรรมในฐานะเป็นพรรคเล็ก ขอความเป็นธรรมแก่พรรคเล็ก เหตุใดเราไม่ขอความเป็นธรรมให้กับประชาชน เราปกครองด้วยระบบเสียงข้างมาก แต่ท่านกำลังแปรเอาเสียงข้างน้อยมาปกครอง มี ส.ส. 1 คน ทำอะไรได้ ด้วยความเคารพ ไม่ได้หมิ่นหยามท่าน แต่ระบบเสียงข้างมาก แม้ท่านจะลุกขึ้นหารือตอนเช้าเพื่อเอาปัญหาประชาชน มาให้หน่วยงานแก้ไข ท่านยังทำไม่ได้” นพ.ชลน่าน กล่าว

ฝ่ายค้านต้านไม่อยู่ รัฐสภาคว่ำสูตรหาร 100 ดันสูตร ‘ระวี’ หาร 500 ฉลุย

เวลา 21.50 น. ภายหลังปิดการอภิปราย พรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุมได้แจ้งที่ประชุมเพื่อลงมติในมาตรา 23 โดยที่ประชุมรัฐสภามีมติ 392 ต่อ 160 เสียงไม่เห็นด้วยกับ กมธ.เสียงข้างมากที่เสนอให้หารด้วย 100 งดออกเสียง 23 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง เป็นอันว่าที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาจะต้องพิจารณาต่อไปว่าจะยึดความเห็นของ กมธ.เสียงข้างน้อยที่ขอสงวนความเห็นหรือสมาชิกที่สงวนคำแปรญัตติของใครเป็นหลัก

จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติว่าจะเลือกใช้ร่างแปรญัตติของ ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่เสนอให้แก้ไขโดยใช้การคำนวณแบบหาร 100 แบบคู่ขนาน หรือร่างที่สงวนความเห็นของ นพ.ระวี ที่ให้ใช้สูตรคำนวณหาร 500

โดยผลการลงมติที่ประชุมรัฐสภาได้มีมติ 354 ต่อ 162 เสียงเห็นด้วยกับการสงวนความเห็นของ นพ.ระวี ที่เสนอให้หารด้วย 500 

จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาในมาตรา 24 ซึ่งไม่มีการแก้ไข และไม่มีผู้ติดใจ ก่อนประธานฯ จะสั่งปิดการประชุมในเวลา 22.16 น.

ประชุมรัฐสภา หาร500 -F61E-4163-BF47-374A0B5734F8.png