ไม่พบผลการค้นหา
ปิยบุตร อภิปราย ย้อนเหตุการณ์วงจรรัฐประหาร ขณะที่อนาคตใหม่ดัน ตั้ง กมธ. ป้องกันรัฐประหารในอนาคต เชื่อการป้องกัน ไม่ใช่แค่มาตรการทางกฎหมาย แต่คือการสร้างความคิดและจิตสำนึกแบบใหม่ให้กับประชาชน ไม่ให้ยอมรับอำนาจคณะรัฐประหาร

เมื่อวันที่ 6 ก.พ. นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ อภิปรายในประเด็นที่สมาชิกพรรคอนาคตใหม่ เสนอให้มีการตั้งกรรมธิการวิสามัญ เพื่อศึกษาแนวทางการป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารเกิดขึ้นอีกในอนาคต

นายปิยบุตร กล่าวถึงเหตุผล ในการร่วมกันเสนอญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าว โดยกล่าวว่า ญัตตินี้เสนอไปตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. 2562 แล้ววันนี้ก็ได้เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม ในเอกสารที่เสนอญัตติไป ได้บันทึกว่า แม้ปัจจุบันรัฐธรรมนูญ 2560 จะใช้บังคับแล้ว และมีการดำเนินกระบวนการไปตามรัฐธรรมนูญตามลำดับ มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น เพื่อทยอยกลับเข้าสู่ระบบปกติ อย่างไรก็ตาม ไม่เป็นที่แน่นอนเสมอไปว่า รัฐธรรมนูญ 2560 จะดำรงอยู่ได้ โดยไม่ถูกกองทัพรัฐประหาร หรือฉีกรัฐธรรมนูญได้อีก เพราะในอดีตที่ผ่านมา พบว่า มีรัฐธรรมนูญถาวรประกาศใช้ ระบบรัฐสภากลับมาเข้าสู่ระบบปกติ แต่ในท้ายที่สุดก็ต้องสิ้นสุดลงบ่อยครั้ง เมื่อเกิดการรัฐประหารยึดอำนาจ

ตราบใดที่ยังไม่สามารถปฏิรูปกองทัพ และยังไม่สามารถหาแนวทางป้องกันการรัฐประหารได้อย่างเหมาะสม ก็มีโอกาสอยู่เสมอที่จะเกิดรัฐประหารได้ตลอดเวลา นี่จึงเป็นที่มาของญัตตินี้ ที่สมาชิกพรรคอนาคตใหม่ได้เข้าชื่อร่วมกันเสนอ

นายปิยบุตร อภิปรายว่า รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ เขียนเอาไว้สอดคล้องต้องกันหมดว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กฎหมายใดหรือการกระทำใด ที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ จะใช้บังคับมิได้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ก็เขียนเอาไว้ว่า ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

นายปิยบุตร ตั้งคำถามว่า ในเมื่อตัวกฎหมายระดับรัฐธรรมนูญก็ดี ระดับประมวลกฎหมายอาญาก็ดี เขียนเอาไว้แบบนี้ แต่ทำไมในทางความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยกลับมีรัฐประหารที่ทำสำเร็จเกิดขึ้นแล้วหลายครั้งหลายหน


ปิยบุตร ย้อนรอยรัฐประหาร

นายปิยบุตร เริ่มเล่าถึงประวัติศาสตร์การรัฐประหารในประเทศไทย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 วันที่ 1 เม.ย. 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย ได้ออกพระราชกฤษฎีกา งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา และปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อยึดอำนาจไว้แต่เพียงผู้เดียว สมัยนั้น สื่อมวลชนเรียกกันเล่นๆ ว่า นี่ไม่ใช่ Democracy แต่เป็นมโนเครซี่ ล้อชื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นั่นคือรัฐประหารครั้งแรกของประเทศไทย รัฐประหารครั้งนั้นไม่ได้เกดจากกองทัพ แต่เกิดจากนายกรัฐมนตรี งดใช้รัฐธรรมนูญ ยึดสภาไว้เพียงผู้เดียว 20 มิ.ย. 2476 พระยาพหลพลพยุหเสนาจึงตัดสินใจ นำกองทัพเข้ายึดอำนาจการปกครองอีกครั้งหนึ่งเพื่อนำรัฐธรรมนูญ 10 ธ.ค. 2475 กลับมาใช้อย่างเต็มที่ นำระบบรัฐสภากลับมาใช้ใหม่ พูดง่ายๆ ก็คือ ยึดอำนาจเพื่อสถาปนารัฐธรรมนูญกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง

หลังจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดารัฐประหารไปก่อนหน้านั้น หลังจากนั้นครับ ประเทศไทยก็เริ่มเข้าสู่วงจรแห่งการรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 คณะรัฐประหาร นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ต่อมายึดอำนาจเสร็จกลายเป็นจอมพล จอมพล ผิน ชุณหวัณนำทหารเข้ายึดอำนาจการปกครอง ของรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ หลังจากนั้น เม.ย. 2491 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำรัฐประหารเงียบ ด้วยการเขียนจดหมายน้อย 1 ฉบับ ไปขู่ นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นว่า ให้ลาออก แล้วนายควงก็ลาออก หลังจากนั้น 29 พ.ย. 2494 จอมพล ป. พิบูลสงคราม รัฐประหาร ยึดอำนาจตัวเอง เพื่อที่จะฉีกรัฐธรรมนูญ 2492 ทิ้ง และนำรัฐธรรมนูญ 10 ธ.ค. 2475 กลับมาใช้ใหม่

16 ก.ย. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหาร ยึดอำนาจ การปกครองประเทศ จากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้วเชิญจอมพลถนอม กิตติขจร มาเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วส่งมอบอำนาจต่อให้กับจอมพลสฤษดิ์ อีกครั้งหนึ่ง

20 ต.ค. 2501 รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ยึดอำนาจรัฐบาลจอมพลถนอม เป็นรัฐบาลที่เป็นพวกกันเอง แต่ยึดอำนาจกันเอง โดยวัตถุประสงค์ต้องการให้จอมพลสฤษดิ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี และต้องการฉีกรัฐธรรมนูญ 2475 ทิ้ง และประกาศใช้ธรรมนูญฉบับชั่วคราว มีมาตราที่รู้จักกันดี คือ มาตรา 17 สามารถประหารชีวิตคนได้ โดยคำสั่งจอมพลสฤษดิ์ หลังจากนั้นประเทศไทยก็มีความพยายามที่จะกลับสู่ระบบปกติ มีความพยายามในการทำรัฐธรรมนูญที่เขียนกันยาวที่สุด ในประวัติศาสตร์ชาติไทย นั่นก็คือ รัฐธรรมนูญ 2511 ใช้เวลาร่างทั้งหมด 9 ปี มีการประชุมกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ปีหนึ่งประมาณ 2 – 3 ครั้ง จนที่สุดก็ไม่การประกาศใช้ แต่เมื่อใช้ไปได้ระยะหนึ่งจอมพลถนอมก็กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก เป็นการสืบทอดอำนาจ และเมื่อเปิดสภาไปได้สักพักก็เริ่มทนฤทธิ์เดชของสภาผู้แทนราษฎรไม่ไหว เพราะเคยเป็นแม่ทัพเป็นนายทหารใหญ่ เคยแต่ชี้นิ้วสั่งการวันหนึ่งกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องเจอกับสภาผู้แทนราษฎรที่มาจาการเลือกตั้ง จึงทนไม่ไหว ประกาศยึดอำนาจตัวเองอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 17 พ.ย. 2514

เร่งรัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาญาติ 14 ตุลา

หลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 มีการร่างรัฐธรรมนูญ 2517 แต่ท้ายที่สุดก็เกิดการรัฐประหาร 6 ต.ค. 2519 เป็นโศกนาฎกรรมฆ่าหมู่กันกลางทุ่งสนามหลวง

หลังจากนั้นก็มีการเชิญ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร มาเป็นนายกรัฐมนตรี มีการดำเนินการปกครองประเทศภายใต้ความคิดของการปฎิรูป แช่แข็งประเทศรวมทั้งหมด 12 ปี ไม่ต้องมีการเลือกตั้ง แต่ท้ายที่สุดฝ่ายอนุรักษนิยม ชนชั้นนำมองว่า วิธีคิดของนายธานินทร์ อาจจะเป็นอันตรายมากกว่าเดิม จึงกลับมายึดอำนาจอีกครั้งแล้วผ่อนผันการเมืองไทยให้กลับมาสู่ระบอบปกติมากยิ่งขึ้น โดยมีการรัฐประหาร 20 ต.ค. 2520 และเริ่มที่การทยอยปล่อยนักโทษการเมืองออกมา


ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ

นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า หลังจากนั้นประเทศไทยได้เข้าสู่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ คือ มีการเลือกตั้ง แต่ในท้ายที่สุดรัฐบาล นายกรัฐมนตรีจะมาจากทหาร เริ่มจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ต่อด้วยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ระบอบนี้มีการประคับประคองกันมาได้ระยะหนึ่ง จนกระทั่ง พล.อ.เปรม วางมือ และ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2531 แต่ก็เกิดการรัฐประหารขึ้นในวันที่ 23 ก.พ. 2534 นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ในชื่อคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) หลังจากนั้นได้มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประเทศไทยในเวลานั้นเริ่มมีความคิดที่จะปฏิรูปการเมือง จนท้ายที่สุดได้รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นของขวัญ และได้เดินหน้าเข้าสู่การปฎิรูปการเมือง แต่ในท้ายที่สุดก็เกิดการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน จากนั้นก็มีรัฐธรรมนูญ 2550 ประกาศใช้มาได้ระยะหนึ่งก็เกิดการรัฐประหารอีกครั้งเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

นายปิยบุตรอภิปรายต่อว่า การรัฐประหารทั้งหมด 13 ครั้ง พบว่ามีทั้งหมด 12 ครั้งที่เป็นการรัฐประหารโดยกองทัพ มีเพียงหนึ่งครั้งที่เป็นการทำรัฐประหารโดยพระราชกฤษฎีกาซึ่งคือ การรัฐประหารครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่สร้างความแปลกใจ เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด และกฎหมายอาญาเขียนไว้ชัดว่า ใครฉีกรัฐธรรมนูญ ใครล้มล้างการปกครอง จะมีโทษประหารชีวิต หรือถูกจำคุกตลอดชีวิต มีความผิดฐานกบฎในราชอาณาจักร แต่ทำไมประเทศไทยจึงมีรัฐประหารบ่อยครั้ง คิดเป็นค่าเฉลี่ยคือ ทุกๆ 6 ปี จะมีการรัฐประหารเกิดขึ้น 1 ครั้ง

ปิยบุตร รัฐประหาร สภา 72.jpg
  • นายปิยบุตร อธิบายว่า การรัฐประหาร ในภาษาต่างประเทศ ในทางตำรา และในทางที่สื่อสารมวลชนเรียกกันทั่วไปคือ coup d'etat ซึ่งเป็นศัพท์ภาษาฝรั่งเศส แต่เวลาเป็นสากลที่ทุกประเทศใช้ตรงกัน คำนี้เป็นคำที่ผสมกันระหว่าง coup แปลว่า ตี กระแทก ส่วน etat แปลว่า รัฐ เมื่อรวมกันก็คือ การตี การกระแทกไปที่รัฐ เมื่อถอดคำศัพท์เป็นภาษาไทยจึงใช้คำว่ารัฐประหาร หรือการกระทำที่เป็นการประหารชีวิตของรัฐนั้นทิ้ง ซึ่งก็คือการยึดอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างฉับพลันทันที โดยทำแล้วจบทันที และสามารถยึดอำนาจได้เด็ดขาดในทันที 

ข้ออ้างไม่กี่เรื่องทำรัฐประหาร

นายปิยบุตรกล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีการรัฐประหารมาแล้วหลายหน และมีความพยายามทำรัฐประหารหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จจนกลายเป็นกบฎก็มี และรัฐประหารสำเร็จก็มี ส่วนข้ออ้างที่คณะรัฐประหารนำมาใช้อยู่เสมอนั้น วนเวียนกันอยู่เพียงไม่กี่เรื่อง ข้อที่ 1 รัฐบาลในเวลานั้นมีพฤติกรรมหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีกลุ่มบุคคลพยายามบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ข้อที่ 2 มีภัยคอมมิวนิสต์กำลังคุกคามประเทศ ข้อที่ 3 มีการทุจริต คอร์รัปชันของรัฐบาลในเวลานั้น และอีกข้อหนึ่งที่ใช้กันในอดีต แต่ปัจจุบันไม่กล้าใช้ คือ รัฐบาลมีความขัดแย้งกับกองทัพ ซึ่งข้ออ้างเหล่านี้วนเวียนอยู่ในคำประกาศเมื่อมีการยึดอำนาจเกิดขึ้น 

ส่วนรูปแบบของการยึดอำนาจนั้น ปิยบุตรชี้ว่า มีลักษณะเหมือนเดิมคือ มีนายทหารกลุ่มหนึ่งสั่งการให้มีการขับรถถังออกมา เข้าไปยึดสถานีโทรทัศน์ ยึดสถานที่สำคัญ และตั้งโต๊ะแถลงข่าวเพื่อบอกว่า บัดนี้ได้ยึดอำนาจไว้หมดแล้ว ให้ทุกคนอยู่ในความสงบ จากนั้นก็ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง และปกครองประเทศโดยไม่มีรัฐธรรมนูญ

ผ่านไประยะหนึ่งก็จะออกรัฐธรรมนูญชั่วคราวขึ้น ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะให้คณะรัฐประหารสืบทอดอำนาจต่อไป จากนั้นก็จะมีการทำรัฐธรรมนูญถาวร หากต้องการอยู่ยาวก็จะดึงระยะเวลาในรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้นานขึ้น และเมื่อย้อนดูชีวิตของประเทศไทยหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย. 2475 ก็พบว่า ประเทศไทยมีชีวิตอยู่กับรัฐธรรมนูญชั่วคราว มีชีวิตอยู่กับระบอบรัฐประหาร มากกว่าการมีชีวิตอยู่ในรัฐธรรมนูญถาวร หรือระบอบประชาธิปไตย ซึ่งกลายเป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศไทย 

“นักวิชาการในทางรัฐศาสตร์ พยายามจะเรียกสิ่งนี้ว่า วงจรอุบาทว์ คือเมื่อมีวิกฤตเกิดขึ้นทหารออกมายึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญ ใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ทำรัฐธรรมนูญถาวร เสร็จแล้วมีการเลือกตั้ง เลือกตั้งเสร็จประคองกันไปได้สักพักหนึ่งก็เกิดวิกฤตอีก แล้วก็มีการยึดอำนาจอีกวนแบบนี้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งนี่คือวงจรอุบาทว์ที่สิงสถิตอยู่ในประเทศไทย และพี่น้องประชาชนจำนวนมากใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ จนเริ่มรู้สึกว่า รัฐประหารเป็นเรื่องปกติ เวลาปวดหัวก็ไปซื้อพาราเซตามอน เวลามีวิกฤตก็ไปเรียกทหารออกมา”

นายปิยบุตรอภิปรายต่อไปว่า ในเวลานี้ประชาชนคนไทยทุกทำให้รู้สึกว่าการรัฐประหารเป็นเรื่องปกติ โดยถูกทำให้คุ้นชินกับระบอบรัฐประหารโดยไม่รู้ตัว ทั้งที่การทำรัฐประหารนั้นสิ่งที่ผิด แต่ก็จะมีการหาข้ออ้างให้กับการทำรัฐประหารว่าเป็นการแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่ไม่สามารถหาทางออกได้ การรัฐประหารเป็นการแก้ไขปัญหาความแตกแยกของคนในชาติ ประเทศมีแต่นักการเมืองที่ไม่ดีจึงควรให้ทหารเข้ามายึดอำนาจปกครองประเทศเพื่อปฎิรูปการเมือง โดยความเชื่อในลักษณะนี้เป็นมายาคติ เพราะในความเป็นจริงแล้วการรัฐประหารส่งผลร้ายในระยะยาว 

อย่างแรกคือ การสถาปนาระบบที่ให้ทหารเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในทางการเมือง และสถาปนาให้รัฐไทยเป็นรัฐทหารมากขึ้น และเป็นการเปิดโอกาสให้ทหารมาปกครองประเทศ ซึ่งประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะยอมไม่ได้เป็นอันขาด นอกจากนี้ยังมีผลร้อยต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพราะเมื่อมีการรัฐประหารและอยู่ในอำนาจยาวนาน เช่นในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มีการพัฒนาโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่สร้างคามเหลื่อมล้ำในสังคม เช่นเดียวกันกับการรัฐประหาร 2557 ซึ่งส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจเช่นกัน ซึ่งเห็นได้ชัดว่ากลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้รับผลประโยชน์จำนวนมากจากการรัฐประหารครั้งนี้ โครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ตกอยู่ในมือของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ รวมทั้งมีการออกกฎหมาย ข้อยกเว้นต่างๆ ให้กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่อยู่ตลอดเวลา ส่วนเรื่องข้ออ้างว่า ทหารเข้ามากำจัดคอร์รัปชัน ทุกครั้งที่มาการรัฐประหารก็จะเห็นได้เสมอว่าคณะรัฐประหารเองก็มีส่วนเกี่ยวพันกับการคอร์รัปชัน 

ขณะเดียวกันการรัฐประหารที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งนั้น เป็นการตัดตอนพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย เมื่อประชาชนเริ่มตื่นรู้มากขึ้น ผู้มีอำนาจเริ่มควบคุมไม่ได้ ก็จะใช้การยึดอำนาจมาตัดตอนการพัฒนาของระบอบประชาธิปไตย เพราะไม่ต้องการให้ประชาชนใช้สิทธิ เสรีภาพ ได้อย่างเต็มที่

รัฐประหาร19กย49.jpg


ยึดอำนาจไม่ผิด ด้วยการนิรโทษกรรม

นอกจากนี้ นายปิยบุตร พูดถึงเรื่องการนิรโทษกรรมของคณะรัฐประหาร ซึ่งทำให้การรัฐประหารไม่ผิด โดยยกตัวอย่างของการที่มีผู้ไปฟ้องศาล แต่เมื่อเรื่องไปถึงศาล ศาลก็จะบอกว่า ยกฟ้อง เพราะมีการนิรโทษกรรมเกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว

“เวลาเขาเขียนนิรโทษกรรม เขียนกับแบบไม่อายนะครับ... แสดงว่าเขารู้อยู่แล้วว่าที่เขาทำมันผิด แต่เขาเขียนว่าการยึดอำนาจที่ผิด ให้บอกว่าไม่ผิด นี่ยิ่งกว่าไม้กายสิทธิ์เสกอะไรก็ได้ ทำผิดกฎหมาย ยึดอำนาจเสร็จ ก็บอกว่าตัวเองไม่ผิด ทำกันแบบนี่ร่ำไป”

นายปิยบุตร กล่าวถึงข้อเสนอว่า ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 เมื่อปัญหาที่เกิดขึ้นคือ พี่น้องประชาชนคนไทยเดินทางไปฟ้องศาลอาญา ชี้ว่าคณะรัฐประหารมีความผิดฐานกบฎในราชอาณาจักร แต่ศาลบอกว่าไม่ใช่ผู้เสียหาย ดังนั้นควรเขียนมาตรา 113/1 ว่า ประชาชนคนไทย ประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศเป็นผู้เสียหายในคดีกบฎในราชอาณาจักร ถ้าเขียนแบบนี้ศาลจะไม่สามารถบอกว่า ผู้ฟ้องไม่ใช่ผู้เสียหายไม่ได้ และศาลก็จะต้องวินิจฉัย


ยกตัวอย่างป้องรัฐประหารต่างแดน

เขากล่าวต่อถึงแนวทางในการพิจารณาคดีของศาลว่า มีแนวทางที่ยืนยันตรงกันมาตลอดว่า เมื่อยึดอำนาจเสร็จแล้วให้ถือเป็นรัฏฐาธิปัตย์ สืบเนื่องมาตั้งแต่ปี 2490 ถึงปัจจุบัน แต่จริงๆ แล้วศาลในต่างประเทศมีวิธีในการให้เหตุแบบอื่นเพื่อที่จะเอาคณะรัฐประหารมาดำเนินคดี ฉะนั้นควรจะทดลองเขียนลงไปในรัฐธรรมนูญว่า ห้ามมิให้องค์กรตุลาการยอมรับการยึดอำนาจของคณะรัฐประหาร เป็นรัฎฐาธิปัตย์

ส่วนอีกมาตรการหนึ่ง นายปิยบุตรเห็นว่า รัฐธรรมนูญควรรับรองสิทธิ และหน้าที่ของปวงชนชาวไทยในการต่อต้านการรัฐประหาร โดยยกตัวอย่างถึงรัฐธรรมนูญของประเทศกรีก หลังจากที่ผ่านการรัฐประหารมาหลายครั้ง ได้มีการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญมาตราสุดท้ายว่า ปวงชนชาวกรีก มีสิทธิ และหน้าที่ในการต่อต้านการแย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชนไปโดยทุกวิธีการ นอกจากนั้นยังเขียนต่อไปว่า ในวันที่ระบบปกติกลับเข้ามา หรือในวันที่มีฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยสำเร็จ ให้ดำเนินคดีอาญาต่อคณะรัฐประหารทันทีโดยไม่มีอายุความ

“ผมพูดมาถึงตรงนี้ท่านประธาน และสมาชิกหลายท่านก็อาจจะบอกว่า เพ้อฝันอีกแล้วเพราะเขายึดอำนาจเมื่อไหร่เขาก็ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งทันที พอเขาฉีกทิ้งจะไปเหลือกฎหมายอะไรให้เราไปเล่นงานคณะรัฐประหาร เพราะฉีกทิ้งหมด ยิ่งเขียนก็ฉีกเพิ่ม แต่อย่างน้อยที่สุดวันหนึ่งเราได้กลับเขาสู่ระบบปกติ เรายังมีหมุดหมาย เรายังมีสัญลักษณ์ เรายังมีตัวบทรัฐธรรมนูญ ตัวบทกฎหมายที่รับรองเอาไว้อยู่ และเมื่อเราหาวิธีการดำเนินคดีกับคนยึดอำนาจอีกครั้งหนึ่ง ก็ไม่สายจนเกินไป”


ยกตัวอย่างประเทศอื่นป้องกันรัฐประหารอย่างไร?

นายปิยบุตรกล่าวว่า เมื่อดูประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของหลายประเทศที่เคยมีการรัฐประหารเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และในปัจจุบันไม่เกิดขึ้นแล้ว การที่จะยุติการรัฐประหาร จำเป็นต้องมีการรื้อฟื้นเอาผู้ก่อการรัฐประหารมาขึ้นศาลมาดำเนินคดีในศาล และให้ศาลมีคำพิพากษาลงโทษสักครั้งหนึ่ง และหลังจากนั้นจะไม่มีการรัฐประหารอีกเลย เรื่องลักษณะนี้เกิดขึ้นแล้วที่ ประเทศอาร์เจนติน่า ประเทศกรีก ประเทศฝรั่งเศส ประเทศเกาหลีใต้ และที่ประเทศตุรกี

“พอมีการเอาคณะผู้ก่อการทั้งหลายกลับมาดำเนินคดี และลงโทษในความผิดฐานกบฎ หลายท่านเป็นนายพลอายุ 70-90 ปี ต้องกลับมาขึ้นศาล ถูกลงโทษจำคุกตลอดชีวิต หลายถูกจำคุกเป็นเวลาหลายปี เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น นายทหารรุ่นน้องๆ ทั้งหลายจะพึ่งสังวรได้ว่า ยึดอำนาจเมื่อไหร่ หมดอำนาจลงไปแล้วจะถูกดำเนินคดีได้ตลอดเวลา ถ้าเราทำแบบนี้ได้ผมมั่นใจว่าประเทศไทยจะไม่มีรัฐประหารอีกเลย”

นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า ยังมีอีกหนึ่งวิธีซึ่งเป็นมาตรการระหว่างประเทศ เช่น ประเทศในแอฟริกาจำนวนมาก เป็นประเทศที่แข่งขันกันประเทศไทยในการเพิ่มสถิติการทำรัฐประหาร แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านประเทศในแอฟริกาหลายประเทศไม่สามารถทำการรัฐประหารได้สำเร็จ ส่วนหนึ่งเพราะมีองค์กรที่ชื่อว่าแอฟริกันยูเนียน เป็นสหภาพของประเทศในทวีปแอฟริการวมกัน เขาให้ความเข้มงวดกับการทำรัฐประหารมาก หากมีการทำรัฐประหารเกิดขึ้นในประเทศใด ก็จะถูกตัดขาดความสัมพันธ์จากประเทศอื่นๆ ทันที ซึ่งเป็นการสร้างมาตรการกดดันระหว่างประเทศ

อีกกรณีหนึ่งที่ คือ เวลามีการรัฐประหารเกิดขึ้น จะมีการอำนาจเผด็จการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ หลายครั้งมีการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชน ที่ลุกขึ้นมาต่อต้าน วิธีการหนึ่งที่ต่างประเทศคิดค้นกันขึ้นมาคือ การกำหนดให้ความผิดต่อมวลมนุษยชาติยกระดับเป็นความผิดอาญาระหว่างประเทศ และตั้งศาลเฉพาะขึ้นมาชื่อว่าศาลอาญาระหว่างประเทศ อยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ตามธรรมนูญกรุงโรม หลายประเทศไปให้สัตยาบันรับรองอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศไว้ โดยการรับรงอำนาจศาลนี้ไว้มีประโยชน์สำคัญคือ หากผู้ปกครองประเทศปราบปรามเข่นฆ่าประชาชน แล้วออกกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเอง แต่ก็ไม่สามารถหลุดพ้นไปจากอำนาจในการพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศได้

“ประเทศไทยพูดเรื่องนี้กันมาเป็น 10 ปี แต่ในท้ายที่สุดเราก็ยังไม่ให้สัตยาบัน มักจะอ้างกันว่าประเทศไทยเป็นราชอาณาจักร มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข จึงลงนามไม่ได้ แต่จากการสำรวจพบว่า ประเทศที่มีรูปของรัฐแบบรัฐราชอาณาจักรมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขจำนวนมากได้ให้สัตยาบันในธรรมนูญกรุงโรม เช่น ญี่ปุ่น มาเลเซีย กัมพูชา สเปน สวีเดน เนเธอร์แลนด์ ฉะนั้นประเทศไทยจึงมีโอกาสในการป้องกันการรัฐประหาร การใช้อำนาจเผด็จการเข่นฆ่าประชาชน โดยใช้กลไกของศาลอาญาระหว่างประเทศเข้ามาช่วยได้”

นายปิยบุตร กล่าวทิ้งทายว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดที่กำจัดการรัฐประหารไม่ให้กลับมาเกิดขึ้นอีกไม่ใช่มาตรการทางกฎหมาย ไม่ใช่เพียงการปฏิรูปกองทัพเท่านั้น แต่คือการสร้างความคิดแบบใหม่ และจิตสำนึกแบบใหม่ให้กับประชาชนคนไทย นักการเมืองไทย รวมทั้งข้าราชการทั้งหมด ไม่ให้ยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหาร

“หากวันหนึ่งพวกเราสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประชุมกันอยู่ แล้วมีการประกาศยึดอำนาจ แล้วพวกเราพร้อมใจกันต่อต้านรัฐประหาร ผมเชื่อว่าคณะรัฐประหารทำไม่สำเร็จ

เช่นเดียวกันหากวันหนึ่งมีการรัฐประหารเกิดขึ้น แล้วประชาชนคนไทยพร้อมใจกันต่อต้าน การรัฐประหารก็จะไม่สำเร็จ หากวันใดมีการรัฐประหารเกิดขึ้น ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ข้าราขการพลเรือนทั้งหมด พร้อมใจกันต่อต้านคณะรัฐประหาร รัฐประหารก็จะไม่มีวันทำได้สำเร็จ ถ้าวันใดมีการรัฐประหารเกิดขึ้น สื่อมวลชนพร้อมใจกันต่อต้านรัฐประหาร การรัฐประหารก็จะไม่มีวันสำเร็จได้

ดังนั้นความสำคัญที่สุดจึงอยู่ตรงนี้ ต้องขจัดความคิด มายาคติ ความเชื่อ ออกไปจากพี่น้องประชาชนคนไทยให้ได้ว่า รัฐประหารคือยาวิเศษ รัฐประหารคือเรื่องปกติในสังคมไทย เราต้องคิดให้ได้ว่ารัฐประหารเป็นเรื่องผิด รัฐประหารเป็นเรื่องที่พลเมืองคนไทยทั้งหลายต้องออกไปต่อต้านมัน อย่าให้มันเกิดขึ้นอีก ถ้าไม่คิดว่าสู้เพื่อตัวเอง ก็คิดว่าสู้เพื่อลูกหลาน สู้เพื่ออนาคตประเทศไทย สู้เพื่อไม่ให้ประเทศไทยกลับมามีการรัฐประหารอีก”