ไม่พบผลการค้นหา
การปฏิวัติฝรั่งเศสจะจบสิ้นลงไปแล้ว แต่การเมืองฝรั่งเศสก็เดินทางมาถึงจุดหักเหหลายครั้ง โดยเฉพาะหลังนโปเลียนแพ้สงครามที่วอเตอร์ลู ฝรั่งเศสเข้าสู่ความวุ่นวายทางการเมืองครั้งสำคัญ
ถึงแม้การปฏิวัติฝรั่งเศสจะจบสิ้นลงไปแล้ว แต่การเมืองฝรั่งเศสก็เดินทางมาถึงจุดหักเหหลายครั้ง โดยเฉพาะหลังนโปเลียนแพ้สงครามที่วอเตอร์ลู ฝรั่งเศสเข้าสู่ความวุ่นวายทางการเมืองครั้งสำคัญ เนื่องจากกลุ่มกษัตริย์นิยมสุดโต่งกลับมามีอำนาจทางการเมือง สถานการณ์ครั้งนี้เป็นอย่างไร และส่งผลอะไรต่อการเมืองฝรั่งเศส 
 
การปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 2332 ทำให้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ฝรั่งเศสถึงการล่มสลาย พร้อมด้วยการสำเร็จโทษพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 
 
ยุคนั้น ฝรั่งเศสเข้าสู่ความรุ่งเรืองปัญญา ที่เต็มไปด้วยอุดมการณ์การเมืองแบบเสรีนิยม ถึงแม้ว่านโปเลียน โบนาปาร์ต จะขึ้นครองอำนาจและสถาปนาจักรวรรดิฝรั่งเศส ทำสงครามแผ่ขยายจักรวรรดิไปทั่วยุโรป ทำให้แนวคิดแบบเสรีนิยมที่ก่อตัวจากการปฏิวัติแผ่ขยายไปทั่วทั้งยุโรปด้วย
 
เมื่อสัมพันธมิตรต่อต้านนโปเลียน สามารถล้มอำนาจนโปเลียนได้ในปี 2357 นโปเลียนถูกจองจำที่เกาะเอลบา แต่ก็สามารถหนีกลับมายึดอำนาจคืนจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 โดยใช้เวลา 100 วัน ก่อนพ่ายแพ้ฝ่ายสัมพันธมิตรอีกครั้งที่ยุทธการวอเตอร์ลู 
 
ในปี 2358 มีการประชุมราชทูตจากรัฐต่างๆในยุโรป หรือที่เรียกว่า "คองเกรสแห่งเวียนนา" โดยมีรัฐบุรุษออสเตรีย เคลเมนส์ เวนเซิล ฟอน เมทเทอร์นิช เป็นประธาน เพื่อขจัดปัญหาที่เกิดจากการปฏิวัติฝรั่งเศส การทำสงครามของนโปเลียน และฟื้นฟูราชวงศ์ต่างๆในยุโรปที่สูญสลายไปในช่วงเวลาดังกล่าวกลับคืนมาอีกครั้ง
 
ระหว่างปี 2357 ถึง 2358 ราชวงศ์บูร์บงของฝรั่งเศส ได้รับการฟื้นฟูให้กลับมามีอำนาจอีกครั้งภายใต้การสนับสนุนของคองเกรสแห่งเวียนนา เคานท์แห่งโปรวองซ์ พระอนุชาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าหลุยที่ 18 มีการจัดตั้งสภาเป็น 2 สภา คือ สภาขุนนาง และสภาผู้แทนราษฎร
 
การเลือกตั้งในปี 2358 กลุ่มกษัตริย์นิยมสุดโต่งชนะการเลือกตั้งท่วมท้น ทั้งยังได้ชื่อว่านิยมกษัตริย์มากกว่าตัวกษัตริย์ พยายามฟื้นฟูระบอบการปกครองแบบเก่า เกิดการกวาดล้างขบวนการปฏิวัติ และกลุ่มผู้นิยมนโปเลียน การเมืองฝรั่งเศสจึงวุ่นวายยาวนานต่อเนื่อง หรือที่เรียกว่า ยุค"มิคสัญญีสีขาว" ที่ประชาชนจำนวนมากเกิดความหวาดกลัวต่อกลุ่มกษัตริย์นิยมสุดโต่งจึงจำยอมให้การสนับสนุนอย่างไม่มีเงื่อนไข
 
พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ซึ่งอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และเป็นกลางทางการเมือง เห็นว่ากลุ่มสุดโต่งทำให้เกิดสภาวะ "ชอมเบอร์ แองตูวาแบล์" หรือ "ความวุ่นวายในสภา" จนไม่สามารถบริหารงานได้ พระองค์จึงตัดสินใจยุบสภา ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มกษัตริย์นิยมสุดโต่ง  การเลือกตั้งใหม่ทำให้กลุ่มเสรีนิยมได้เข้าสู่สภามากขึ้น แต่สถานการณ์ความวุ่นวายก็ยังไม่มีท่าทีจะดีขึ้น
 
ในปี 2367 พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 สิ้นพระชนม์ ทำให้พระเจ้าชาร์ลที่ 10 ขึ้นครองราชย์ พระองค์มีแนวทางการเมืองแบบสุดโต่ง ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มกษัตริย์นิยมสุดโต่ง จึงนำพาประเทศกลับสู่ระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกครั้ง
 
ศาสนจักรโรมันคาทอลิกกลับมาครอบงำอำนาจทางการเมือง สื่อถูกจำกัดเสรีภาพ และให้เฉพาะเศรษฐีที่มีสิทธิเลือกตั้ง สถานการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การปฏิวัติเดือนกรกฎาคม ปี 2373 ทำให้พระเจ้าชาร์ลที่ 10 สละราชสมบัติให้กับพระอนุชา คือ ดยุกแห่งบอร์โดซ์ ซึ่งอยู่ในวาระเพียง 1 เดือน ก่อนที่การฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บงครั้งที่ 2 จะสิ้นสุดลง
 
พระเจ้าหลุยส์-ฟิลิป แห่งราชวงศ์บูร์บง สายออร์เลอองส์ ขึ้นครองราชย์สืบต่อภายใต้การสนับสนุนของคณะปฏิวัติ ทำให้ฝรั่งเศสกลับเข้าสู่ยุคราชาธิปไตยอีกครั้ง ฝ่ายกษัตริย์นิยมถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือ กลุ่มเลฌิติมิสต์ หรือ ราชวงศ์บูร์บงสายตรง กับกลุ่มออร์เลอองนิสต์ ที่สนับสนุนราชวงศ์บูรบงสายออร์เลอองส์ 
 
อย่างไรก็ตาม การขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าหลุยส์-ฟิลิป และระบอบราชาธิปไตย ยังไม่สามารถแก้ปัญหาความวุ่นวายภายในฝรั่งเศสได้ และการเมืองของฝรั่งเศสก็ไม่มีท่าทีว่าจะยุติความวุ่นวายลง ท้ายที่สุด จึงหวนกลับไปสู่การปฏิวัติครั้งที่ 3 ในปี 2391 ซึ่งกลายมาเป็นฉากหลังของวรรณกรรม และภาพยนตร์ชื่อดังอย่าง"เลมีเซราบล์" หรือ "เหยื่ออธรรม" นั่นเอง
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog