ไม่พบผลการค้นหา
ประวัติศาสตร์ชาติไทยที่มักสร้างภาพความขัดแย้งระหว่างไทย กับพม่าอาจทำให้หลายคนไม่เชื่อว่าจะมีการสร้างสถูปของกษัตริย์สมัยอยุธยาอยู่ในพม่า หรือเมียนมาร์ในปัจจุบันจริง

ประวัติศาสตร์ชาติไทยที่มักสร้างภาพความขัดแย้งระหว่างไทย กับพม่าอาจทำให้หลายคนไม่เชื่อว่าจะมีการสร้างสถูปของกษัตริย์สมัยอยุธยาอยู่ในพม่า หรือเมียนมาร์ในปัจจุบันจริง ช่วงนี้ เราจะพาไปสำรวจว่า สถูปดังกล่าวมีจริงหรือไม่ และเป็นของกษัตริย์พระองค์ใด

หลายคนคงจะไม่เชื่อว่ามีสถูปซึ่งบรรจุพระอัฐิของกษัตริย์สมัยอยุธยา ในดินแดนของอดีตศัตรูอย่างประเทศพม่า หรือ เมียนมาร์ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม สถูปดังกล่าวมีอยู่จริง หลังจากมีการพบโบราณสถานแห่งนี้โดยบังเอิญ ในเขตมัณฑะเลย์ นครหลวงเก่าของเมียนมาร์ เมื่อปีที่ผ่านมา

การค้นพบเกิดขึ้นระหว่างที่บริเวณดังกล่าว กำลังถูกพัฒนาเป็นเขตที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ของเมือง ทำให้ทางการเมียนมาร์ต้องชะลอโครงการพัฒนาออกไปเพื่อขุดค้นซากโบราณสถานนี้

นักโบราณคดียืนยันว่าสถูปที่พบเป็นของ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร กษัตริย์องค์ที่ 32 แห่งอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ซึ่งตั้งอยู่ที่สุสานบนเขาล้านช้าง ใกล้กับทะเลสาบตองตะมัน ในเมืองอมรปุระ เขตมัณฑะเลย์ ทางตอนเหนือของเมียนมาร์

รูปแบบสถาปัตยกรรมของสถูปดังกล่าวดูไม่เหมือนกับศิลปะของมอญ หรือพม่าแต่อย่างใด ขณะที่ผู้เฒ่าผู้แก่ในบริเวณนั้นเรียกสถูปนี้ว่า "โยเดียเซดี" หรือ สถูปชาวไทย

นายมิกกี้ ฮาร์ต นักประวัติศาสตร์ หัวหน้าทีมสำรวจระบุว่า จากการสำรวจสถูปของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร พบว่ามีความสูง 18 เมตร ภายในพบพานแว่นแก้วบรรจุพระอัฐิ โดยบริเวณที่พบเป็นเขตธรณีสงฆ์ มีอาณาบริเวณกว้างถึง 5 เอเคอร์ หรือกว่า 20,000 ตารางเมตร ซึ่งไม่แน่ใจว่า พื้นที่ธรณีสงฆ์ดังกล่าวเคยเป็นที่ตั้งกุฏิพระเถระชั้นผู้ใหญ่ชาวไทยหรือไม่ เพราะพระเจ้าอุทุมพรสวรรคตในเพศบรรพชิตเมื่อปี พ.ศ. 2339

นายติน เมือง คยี นักประวัติศาสตร์ชาวพม่า กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าบริเวณที่พบเคยเป็นที่ตั้งกุฏิของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรขณะทรงผนวชหรือไม่ เพราะตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์มีพระจำนวนมากเคยจำพรรษาอยู่ในบริเวณดังกล่าว  

ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์ของพม่า สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรถูกเชิญตัวไปยังเมืองมัณฑะเลย์ในฐานะเชลยศึก หลังถูกพระเจ้าเซงพะยูเชง หรือ พระเจ้ามังระ แห่งราชวงศ์คองบองเข้าจับกุม รวมทั้งกวาดต้อนชาวไทยจำนวนมากไปตั้งถิ่นฐานนอกนครหลวงเก่าแห่งนี้ ซึ่งปัจจุบันคือ หมู่บ้าน "เม็งตาสี" หรือแปลว่า "เยี่ยงเจ้าชาย" ที่มีการสืบเชื้อสาย และขนบธรรมเนียมบางอย่าง แบบ "โยเดีย" หรือ ชาวไทย ที่ถูกกวาดต้อนไปตั้งแต่ช่วงหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี 2310

ปัจจุบัน ทางการเมียนมาร์ได้อนุมัติให้คณะทำงานโครงการขุดค้นทางโบราณคดีของไทย ร่วมกับนักโบราณคดีพม่าร่วมขุดค้นหาสถูปดังกล่าว ขณะที่กระทรวงวัฒนธรรมของไทยยังสนับสนุนงบประมาณเพื่อการนี้ถึง 100 ล้านบาทเลยทีเดียว

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog