วัดพุทธนานาชาติในเมืองพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าจะเป็นวัดพุทธของประเทศญี่ปุ่น ภูฏาน หรือทิเบต แต่ละแห่งมีสถาปัตยกรรมงดงาม สะท้อนถึงเอกลักษณ์ประจำชาติ
รายงานพิเศษ "แสวงบุญพุทธภูมิ" ตอนที่ 5 : วัดพุทธนานาชาติในดินแดนพุทธภูมิ
วัดพุทธนานาชาติในเมืองพุทธคยา ซึ่งเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าจะเป็นวัดพุทธของประเทศญี่ปุ่น ภูฏาน หรือทิเบต แต่ละแห่งมีสถาปัตยกรรมงดงาม สะท้อนถึงเอกลักษณ์ประจำชาติ
The Great Buddha หรือพระองค์โต ตั้งเด่นเป็นตระหง่านอยู่บนลานกว้าง ภายในวัดไดบุสซึ วัดพุทธของญี่ปุ่น อยู่ที่เมืองพุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2528 โดยใช้เวลาสร้าง 4 ปี พระใหญ่สร้างด้วยหินทรายแดง จากเมืองทูน่าของอินเดีย สูง 80 ฟุต ตามพระชนมายุของพระพุทธเจ้า
ขณะที่โดยรอบมีหินแกะสลักรูปพระอริยสงฆ์ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นสุดยอด 10 สาวก ที่มีความสามารถในด้านต่างๆ เช่น พระอานนท์ , พระราหุล , พระสารีบุตร และพระมหากัสสปะ ตั้งขนาบทั้งสองข้างในลักษณะสักการะพระพุทธเจ้า โดยจำลองแบบมาจากพระใหญ่ไดบุดสึ วัดโคโตกุอิน เมืองคามาคุระ ประเทศญี่ปุ่น
ใกล้กันยังเป็นที่ตั้งของวัดพุทธภูฏาน สร้างขึ้นเมื่อปี 2526 ชาวภูฏานนับถือพระพุทธศานา นิกายนิงมะหมวกดำ มีพระเจ้าแผ่นดินเป็นประธานพุทธบริษัท ถือเป็นชาติที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก จนได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศที่ประชากรมีความสุขอันดับต้นของโลก
ผนังโดยรอบ ภายในวิหารวัดพุทธภูฏาน โดดเด่นด้วยประติมากรรมปูนปั้นสามมิติ แสดงพุทธประวัติองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่ประสูตจากครรภ์พระมารดา , ออกผนวชแสวงหาหนทางแห่งการดับทุกข์ , ผจญหมู่มารก่อนการตรัสรู้ , รับข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดา , ตรัสรู้ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ และเสด็จดับขันธปรินิพพาน ซึ่งถือเป็นวัดแห่งเดียวในพุทธยาที่มีศิลปะปูนปั้นสามมิติงดงามเช่นนี้
ปิดท้ายกันที่ วัดพุทธธิเบต ด้านหน้าวัดประดับธงนิกายมหายาน พระวิหารงดงามด้วยสถาปัตยกรรมเช่นเดียวกับวัดที่ธิเบต ส่วนพระประทานภายในวิหาร จำลองแบบมาจากพระพุทธเมตตาภายในมหาโพธิ์เจดีย์ ด้านข้างมีรูปปั้นพระพุทธเจ้านับร้อยองค์ เรียงรายอยู่ทั้งสองฝั่ง ผนังพระวิหารประดับด้วยภาพวาดพุทธประวัติตั้งแต่ประสูต ตรัสรู้ และปรินิพพาน
การก่อสร้างวัดพุทธประจำชาติต่างๆ ในเมืองพุทธคยา ซึ่งเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า นอกจากจะถวายเป็นพุทธบูชาแล้ว ยังเป็นการสานต่อพระพุทธศานาให้ยั่งยืนสืบไป เนื่องจากวัดพุทธแต่ละแห่ง จะเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างชาวพุทธในชาตินั้นๆ กับพุทธสถานสำคัญแห่งนี้