การ์ตูนเรื่อง "สีหยางหยาง" ซึ่งเป็นการ์ตูนที่เป็นที่นิยมที่สุดของจีน ถูกตำหนิอย่างกว้างขวางว่าเนื้อหารุนแรงเกินไป
เร็วๆ มานี้ การ์ตูนเรื่อง "สีหยางหยาง" ซึ่งเป็นการ์ตูนที่เป็นที่นิยมที่สุดของจีน ถูกตำหนิอย่างกว้างขวางว่าเนื้อหารุนแรงเกินไป แต่การ์ตูนเรื่องนี้รุนแรงอย่างที่เขาว่าจริงหรือไม่?
การ์ตูนเรื่อง "สีหยางหยาง" หรือ "แพะหรรษากับหมาป่าตัวใหญ่" เป็นเรื่องเกี่ยวกับแพะกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในทุ่งหญ้าเขียวชอุ่ม กับกลุ่มหมาป่าจอมซุ่มซ่ามที่พยายามจะกินแพะ แต่ก็ไม่เคยสำเร็จ ปัจจุบันการ์ตูนเรื่องนี้เป็นที่นิยมที่สุดในประเทศจีนและได้รับรางวัลมากมาย ขณะนี้เรื่อง "สีหยางหยาง" ออกฉายมากว่า 800 ตอนแล้ว
อย่างไรก็ตาม การ์ตูนเรื่องนี้ก็ถูกวิจารณ์ว่าเนื้อหารุนแรงเกินไปสำหรับเด็ก ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา มีฉากหมาป่าถูกใช้กระทะฟาดหัวนับพันครั้ง นอกจากนี้ยังมีฉากแพะถูกหอกแทงทุรนทุราย และมีฉากแพะถูกจับต้มทั้งเป็นอยู่หลายร้อยฉาก
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เด็กชายชาวจีนอายุ 9 ขวบ จับเด็กชายอีก 2 คน ซึ่งอายุ 4 ขวบและ 8 ขวบ มัดไว้กับต้นไม้แล้วจุดไฟเผา จนไปคลอกอย่างหนัก เด็กที่อายุ 9 ขวบต่อมากล่าวว่าเขาพยายามเลียนแบบฉากหนึ่งในการ์ตูน "สีหยางหยาง" กรณีนี้ทำให้พ่อแม่ของเด็กที่เป็นเหยื่อฟ้องร้องผู้ผลิตการ์ตูน และสร้างกระแสต่อต้านความรุนแรงในการ์ตูนเรื่องนี้
ทางการจีนก็สนองกระแสด้วยการออกกฎควบคุมความรุนแรงในการ์ตูนเข้มงวดขึ้น บริษัทผู้ผลิตการ์ตูนและสถานีโทรทัศน์ที่ออกอากาศก็สัญญาว่าจะพยายามทำให้การ์ตูนมีเนื้อหา "เสริมสร้างความดีและกำจัดความชั่ว" มากขึ้น ทั้งนี้บริษัทเหล่านี้ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าการ "กำจัดความชั่ว" นั้นคืออะไร
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาเนื้อหาของการ์ตูน "สีหยางหยาง" แล้ว จะพบว่าเนื้อหาก็ไม่ได้รุนแรงกว่าการ์ตูนอื่นๆ ที่เหล่าผู้ใหญ่เคยดูมาสมัยเด็กเท่าไรนัก
พ่อแม่ที่กำลังมีลูกเล็กๆ มักจะโตมาในยุคของการ์ตูนอย่าง "ทอม แอนด์ เจอร์รี่", "ป๊อปอาย" หรือการ์ตูนของวอลต์ ดิสนีย์ แต่ "ทอม แอนด์ เจอร์รี่" ก็เต็มไปด้วยฉากหนูและแมวทำร้ายกันด้วยวิธีหลากหลาย ตั้งแต่นำของใช้ในบ้านมาฟาดกัน ไปจนถึงการใช้อาวุธอย่างเช่นปืนและระเบิด "ป๊อปอาย" ก็มีเนื้อเรื่องเกือบท��้งหมดเป็นการทะเลาะเบาะแว้งและทำร้ายร่างกายกันระหว่างชายสองคน โดยมีภรรยาของชายหนึ่งในนั้นคอยสนับสนุนเป็นครั้งคราว การ์ตูนของดิสนี่ย์อย่าง "โดนัลด์ ดัค" ก็มีฉากที่ตัวละครกลั่นแกล้งกัน ด้วยวิธีที่หากใช้ในชีวิตจริงก็อาจถึงแก่ชีวิต
สำหรับผู้ใหญ่ที่อายุมาก สมัยเด็กก็อาจไม่ได้ดูการ์ตูน แต่อาจได้ฟังนิทานพื้นบ้าน ซึ่งก็มีความรุนแรงอยู่มากกว่าการ์ตูนสมัยใหม่มาก นิทานปรัมปราฝรั่งอย่าง "หนูน้อยหมวกแดง" ก็มีตัวเอกที่ใช้มีดคว้านท้องหมาป่าเพื่อนำยายออกมา ส่วนนิทานพื้นบ้านของไทยอย่าง "ศรีธนญชัย" ก็มีฉากที่ศรีธนญชัยประชดแม่ด้วยการคว้านท้องน้องชายตัวเอง แล้วนำอวัยวะภายในออกมาล้างน้ำ ในเรื่อง "นางสิบสอง" นางทั้ง 12 คนก็ถูกควักลูกตาออกมา และในจำนวนนี้ก็มี 11 คน ที่คลอดลูกออกมาแล้วฆ่าลูกตัวเองเพื่อกินเนื้อ
แม้ว่าความรุนแรงที่ไร้เหตุผลนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในการ์ตูนสำหรับเด็กเล็ก แต่ผู้ใหญ่ก็ไม่ควรตื่นตูมกับข่าวความรุนแรงจากการ์ตูนเพียงไม่กี่กรณี ผู้ใหญ่ควรใช้มาตรฐานเดียวกันตัดสินการ์ตูน นิทาน และเรื่องเล่าทุกประเภท หากคิดดีๆ แล้ว ถ้าความรุนแรงในการ์ตูนทำให้เด็กโตขึ้นมาเป็นคนจิตใจโหดร้ายแล้ว ผู้ใหญ่ในสมัยนี้ก็น่าจะจิตใจโหดร้ายกว่ามาก เพราะการ์ตูนและนิทานสมัยก่อนนั้น รุนแรงโหดร้ายกว่าการ์ตูนอย่าง "สีหยางหยาง" อย่างเทียบกันไม่ได้