คณะกรรมาธิการเสียงข้างมากของพรรคเพื่อไทย ผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่ให้นิรโทษแกนนำและผู้สั่งการด้วย หรือที่เรียกว่า "นิรโทษกรรมเหมาเข่ง" เราจะพาไปดูว่า ประเทศที่เคยมีการนิรโทษกรรมกันมาในอดีตนั้น เขาท
หลังจากที่คณะกรรมาธิการเสียงข้างมากของพรรคเพื่อไทย ผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่ให้นิรโทษแกนนำและผู้สั่งการด้วย หรือที่เรียกว่า "นิรโทษกรรมเหมาเข่ง" เราจะพาไปดูว่า ประเทศที่เคยมีการนิรโทษกรรมกันมาในอดีตนั้น เขาทำอย่างไร
คณะกรรมการเพื่อการค้นหาความจริงและการปรองดอง (TRC) ของแอฟริกาใต้ มีอำนาจนิรโทษผู้กระทำผิดได้ แต่การนิรโทษ มีเงื่อนไขที่ซับซ้อน คือ ผู้กระทำผิดต้องยอมถูกไต่สวนสาธารณะ ต้องยอมเปิดเผยข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์ และต้องยอมรับผิดที่ตัวเองทำมา รวมทั้งขอขมาเหยื่อของตนเอง หลังจากนั้นผู้กระทำผิด จึงจะยื่นขอนิรโทษมาที่คณะกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการจะปรึกษาเหยื่อของแต่คน แล้วเลือกนิรโทษเป็นกรณีๆ ไป
ผลก็คือในจำนวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่คณะกรรมการสืบสวนกว่า 30,000 กรณี มีผู้กระทำผิดยื่นขอนิรโทษกรรมกว่า 7,100 คน ในจำนวนนี้ คณะกรรมการยอมออกนิรโทษกรรมให้เพียง 849 คน หรือประมาณร้อยละ 12 เท่านั้น
นอกจากแอฟริกาใต้แล้ว ก็ยังมีประเทศอื่นๆ ที่เคยนิรโทษกรรมผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นกัน แต่การนิรโทษก็มีเงื่อนไขค่อนข้างมาก คณะกรรมการค้นหาความจริงของไลบีเรีย แม้จะไม่มีอำนาจออกนิรโทษกรรม แต่ก็มีอำนาจ "เสนอ" ให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม
และมีการตั้งเงื่อนไขว่า ผู้ที่จะได้รับการนิรโทษ ทั้งผู้กระทำผิดหรือผู้สมรู้ร่วมคิด จะต้อง "เปิดเผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดของตนเองอย่างหมดเปลือก และยังต้องแสดงความเสียใจเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาทำจนเป็นที่ประจักษ์" นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขว่า ผู้ที่จะได้รับการนิรโทษต้องไม่ทำผิดเข้าข่าย "ความผิดทางมนุษยธรรม" อันเป็นความผิดตามกฎหมายสากลด้วย
ในทำนองเดียวกัน "คณะกรรมการเพื่อความจริง ความยุติธรรม และการปรองดอง" ของเคนยา ก็สามารถเสนอให้นิรโทษบุคคลที่กระทำผิดได้ แต่ก็ต้องเป็นความผิดที่ไม่ใช่ "การละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง"
สุดท้าย ในเนปาล คณะกรรมการค้นหาความจริง ก็ตั้งเงื่อนไขว่า ผู้ที่จะได้นิรโทษจะต้องยอมสารภาพและเปิดเผยรายละเอียดของการกระทำผิดของตัวเองอย่างหมดเปลือกก่อน แม้ว่าคณะกรรมการของเคนยาและเนปาลจะออกนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไขก็ตาม แต่ก็ถูกองค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติวิจารณ์ ว่าเงื่อนไขยังไม่รัดกุมเพียงพอ ทำให้เหยื่อไม่ได้รับความยุติธรรม
โดยสรุปแล้ว การให้นิรโทษกรรมในโลกปัจจุบันนั้น ยากที่สากลจะยอมรับ แต่หากสากลจะยอมรับได้บ้าง ก็ต้องมีเงื่อนไขที่รัดกดุม ประการแรก การนิรโทษ ต้องทำหลังจากใต่สวนจนหาผู้กระทำผิดได้แล้ว ประการที่สอง การนิรโทษจะต้องออกให้เฉพาะผู้กระทำผิดที่ยอมเปิดเผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดของตัวเองอย่างหมดเปลือกเสียก่อน ประการที่สาม ผู้ที่จะได้นิรโทษ ต้องยอมรับผิดและขอขมาต่อเหยื่อของตนเองก่อน
ประการที่สี่ ก่อนจะนิรโทษผู้กระทำผิดคนใด ต้องปรึกษาเหยื่อของผู้กระทำผิดรายนั้นๆ ประการสุดท้าย แยกความผิดที่จะให้นิรโทษ โดยความผิดสถานเบา เช่นการละเมิดทรัพย์สินจะได้นิรโทษง่าย ส่วนความผิดสถานหนัก เช่นการเอาชีวิต หรือทรมานให้พิการ จะได้รับนิรโทษกรรมยากกว่ามาก
ส่วนประเทศที่ลักลอบออกกฎหมายนิรโทษกรรมโดยที่ไม่มีเงื่อนไขทั้ง 5 ข้อ มักถูกประณามอย่างรุนแรงโดยนานาชาติ ในปี 2553 รัฐบาลอัฟกานิสถานออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง องค์กรฮิวแมนไรทซ์วอทช์, แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนล และสหประชาชาติ รวมทั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนทั่วโลกประณามการกระทำดังกล่าว และชื่อของผู้ที่โหวตผ่านกฎหมายฉบับนี้ ก็ถูกบันทึกลงในหน้าประวัติศาสตร์ว่าเป็นพวกเดียวกับอาชญากร