ต่างประเทศมีวิธีการอย่างไร ในการแก้ไขปัญหารถติด ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย ต่างก็พร้อมใจกันออกกฎหมายที่เข้มงวด เพื่อควบคุมปริมาณรถยนต์ที่วิ่งในตัวเมือง
ต่างประเทศมีวิธีการอย่างไร ในการแก้ไขปัญหารถติด ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย ต่างก็พร้อมใจกันออกกฎหมายที่เข้มงวด เพื่อควบคุมปริมาณรถยนต์ที่วิ่งในตัวเมือง และกฎดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เพราะสามารถลดจำนวนปริมาณรถยนต์ที่วิ่งในตัวเมืองได้
ปัญหารถติดเป็นปัญหาซ้ำซากที่เกิดขึ้นในหลายเมืองใหญ่ทั่วโลก ซึ่งการจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะตราบใดที่ผู้คนยังนิยมซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้กับการเดินทางของตนเอง และตราบใดที่ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะของเมืองนั้นๆ ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ปัญหารถติด ก็จะยังคงเป็นปัญหาโลกแตก ที่แต่ละเมืองต้องเผชิญ
อย่างไรก็ตาม หลายเมืองใหญ่มีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้ โดยต่างก็ออกกฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น กรุงลอนดอนของอังกฤษ ที่ได้มีความพยายามแก้ไขปัญหารถติดอย่างจริงจัง มาตั้งแต่ 10 ปีก่อน เมื่อรัฐบาลท้องถิ่นได้ออกกฎให้ผู้ที่จะใช้รถยนต์ขับเข้ามาในเขตใจกลางเมือง ตั้งแต่เวลา 7.00 น. ถึง 18.00 น. ระหว่างวันจันทร์ถึงวันศุกร์ จะต้องเสียค่าธรรมเนียมวันละ 10 ปอด์น หรือวันละ 500 บาท ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาใดก็ตาม ลองคิดดูว่า หากคุณต้องเข้ามาทำงานในเขตใจกลางเมืองตลอด 5 วันต่อหนึ่งสัปดาห์ โดยใช้รถทุกวัน ก็จะเสียเงินทั้งหมด 50 ปอด์น หรือสัปดาห์ละ 2,500 บาท ซึ่งถือเป็นจำนวนเงินที่มากพอสมควร
กฎดังกล่าวประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหารถติดได้เป็นอย่างดี โดยมีรายงานว่า ในช่วง 5 ปีแรกของการบังคับใช้ จำนวนรถยนต์ในเขตใจกลางเมืองของลอนดอน ลดลงถึงร้อยละ 20 ในทางตรงกันข้าม จำนวนแท็กซี่ รถโดยสารประจำทาง และจักรยานกลับเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
การใช้วิธีการในลักษณะคล้ายกันนี้ จัดการกับปัญหารถติด พบเห็นได้ในกรุงสต็อคโฮล์ม เมืองหลวงของสวีเดน แต่ที่ต่างกันออกไปก็คือ ที่สต็อคโฮล์มจะใช้วิธีที่เข้มงวดกว่ามาก โดยจะเก็บค่าธรรมเนียมของรถยนต์ที่วิ่งเข้ามาในตัวเมืองเพิ่ม หากว่าเป็นชั่วโมงเร่งด่วน โดยเฉพาะตอนเช้ากับตอนเย็น เพื่อเป็นการบีบบังคับทางอ้อมให้คนใช้รถในเวลาอื่น หรือหันไปใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะแทน
ส่วนประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างสิงคโปร์ ก็มีกฎหมายควบคุมการใช้รถยนต์อย่างเข้มงวดเช่นเดียวกัน และเริ่มบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อ 13 ปีก่อน กฎดังกล่าวมีชื่อว่า Certificate of Entitlement หรือ COE ซึ่งเป็นกฎที่ออกมาเพื่อควบคุมจำนวนรถยนต์ที่วิ่งในประเทศโดยเฉพาะ โดยผู้ที่จะซื้อรถยนต์ในสิงคโปร์ ต้องประมูลใบอนุญาต COE ก่อน ซึ่งในแต่ละเดือน จะมีจำนวนจำกัด ตามโควตาที่รัฐบาลกำหนด ซึ่งการประมูลซื้อในลักษณะนี้ อาจทำให้รถยนต์ราคาถูกบางคัน แพงขึ้นมาทันตาเห็น
โดยผู้ที่ได้ใบ COE ไปแล้ว จะครอบครองรถนั้นได้ 10 ปี เมื่อครบระยะเวลาที่กำหนด ต้องทำลายรถยนต์คันนั้นทิ้ง หรือไม่ก็ส่งออกไปยังประเทศอื่น หรือไม่ก็ต่ออายุใบ COE ออกไปอีก 5- 10 ปี โดยเจ้าของรถยนต์ 1 คัน มีสิทธิ์ต่ออายุได้เพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายวิจารณ์ว่า กฎดังกล่าวเอื้อประโยชน์ให้กับคนรวยในสิงคโปร์มากเกินไป เพราะคนที่ไม่มีกำลังทรัพย์มากพอก็จะไม่กล้าเข้าร่วมการประมูล ขณะที่ รัฐบาลสิงคโปร์มองว่า กฎนี้เป็นกฎที่ได้ผลและมีประสิทธิภาพมากที่สุด สำหรับการจัดการกับปัญหารถติดบนท้องถนน
ทั้งนี้ ทุกๆ 2 ปี รัฐบาลสิงคโปร์จะกำหนดอัตราการเติบโตของรถยนต์ภายในประเทศ ซึ่งจะถือเป็นเพดานที่จะกำหนดว่า ในแต่ละปีจะมีจำนวนรถยนต์ใหม่ได้กี่คัน ซึ่งเมื่อปี 2552-2554 อัตราการเติบโตของรถยนต์ในสิงคโปร์อยู่ที่ร้อยละ 1.5 และในปี 2554-2556 อัตราการเติบโตของรถยนต์อยู่ที่ร้อยละ 0.5
ปิดท้ายกันที่ประเทศจีน ที่รัฐบาลมีความพยายามแก้ไขปัญหารถติดในกรุงปักกิ่งอย่างจริงจังมากขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่ศูนย์วิจัยด้านการคมนาคมขนส่งประจำกรุงปักกิ่งเปิดเผยรายงานว่า ปัจจุบัน ชาวจีนในกรุงปักกิ่งต้องใช้เวลาอยู่บนท้องถนน เนื่องจากปัญหารถติดมากถึง 100 นาทีในช่วงวันธรรมดา เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 30 นาที ซึ่งเป็นผลมาจากจำนวนรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง
โดยวิธีการที่รัฐบาลจีนเตรียมนำมาแก้ไขปัญหานี้ ก็เป็นวิธีการที่คล้ายๆ กับประเทศอังกฤษ นั่นก็คือการเก็บค่าธรรมเนียมรถยนต์ที่เข้ามาวิ่งในเมือง แต่วิธีการดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการศึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และรัฐบาลจีนยังไม่ได้ตัดสินใจแต่อย่างใด แต่เบื้องต้น หน่วยงานด้านการจัดการปัญหาจราจรในกรุงปักกิ่งได้เตรียมการที่จะกำหนดโทษ รถยนต์ที่ไม่ได้จดทะเบียนในกรุงปักกิ่ง แต่กลับมาวิ่งในกรุงปักกิ่ง โดยคาดว่าจะมีการบังคับใช้กฎดังกล่าวในเร็วๆ นี้