วันที่ 30 กันยายนนี้ จะครบกำหนดที่รัฐบาล เปิดให้เกษตรกรชาวสวนยาง ขึ้นทะเบียนขอรับการช่วยเหลือปัจจัยการผลิต 2,520 บาทต่อไร่ แม้ขณะนี้ จะเริ่มทยอยจ่ายเงินช่วยเหลือในบางพื้นที่แล้ว
วันที่ 30 กันยายนนี้ จะครบกำหนดที่รัฐบาล เปิดให้เกษตรกรชาวสวนยาง ขึ้นทะเบียนขอรับการช่วยเหลือปัจจัยการผลิต 2,520 บาทต่อไร่ แม้ขณะนี้ จะเริ่มทยอยจ่ายเงินช่วยเหลือในบางพื้นที่แล้ว แต่พบว่า ยังมีเกษตรกรอีกจำนวนมาก ที่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ เพราะติดปัญหาเอกสารสิทธิ์ที่ดิน เช่นที่จังหวัดชลบุรี
อีกไม่กี่วัน จะสิ้นสุดระยะเวลาการขึ้นทะเบียนเกษตรกรสวนยางพารา เพื่อขอรับปัจจัยการผลิต ที่ 2,520 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 25 ไร่ต่อราย แต่ยังมีเกษตรกรอีกจำนวนไม่น้อย ที่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ เพราะติดปัญหาเอกสารสิทธิ์ที่ดิน เช่นเดียวกับที่อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี
ซึ่งทีมข่าววอยซ์ ทีวี ลงพื้นที่สัปดาห์ก่อนหน้า และพบว่า มีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนขอรับการช่วยเหลือ ตามจำนวนที่ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้กับอำเภอในปีที่ผ่านมา ทั้ง 58 ราย หรือมีพื้นที่ปลูกยางรวม 1,586 ไร่
แต่ในความเป็นจริง มีเกษตรกรปลูกยาง มากกว่าข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้ และไม่ได้มาขึ้นทะเบียน เพราะไม่มีเอกสารสิทธิ์ อีกเกือบ 3 แสนไร่ นอกจากนี้ ยังพบปัญหาพื้นที่ทับซ้อน หลังตรวจพบว่ามีการแจ้งทะเบียนเกษตรกรจากคนในพื้นที่อื่น
อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกษตรกร มองข้ามการขึ้นทะเบียน คือ หลักประกันในด้านราคา ที่ยังเรียกร้องในราคา 92 บาทต่อกิโลกรัม แม้รัฐ ประกาศประกันราคาที่ 90 บาทต่อกิโลกรัมก็ตาม เพราะส่วนใหญ่ มีพื้นที่ปลูกยางมากกว่า 25 ไร่มาตรการรัฐ จึงไม่ส่งผลถึงคนกรีดยาง ในการแบ่งปันรายได้จากเจ้าของสวนยาง ในสัดส่วน 70 ต่อ 30
ความเห็นต่างเรื่องการช่วยเหลือ จนถึงวันนี้ ยังมีอยู่ เพราะเชื่อว่า มาตรการรัฐ ไม่ครอบคลุมเกษตรกรทุกพื้นที่ ในขณะที่ราคาประกัน ไม่ตอบสนองตามความต้องการ
ทันทีที่รัฐบาลปิดรับขึ้นทะเบียนเกษตรกร ในวันที่ 30 กันยายนนี้ จากนั้นจะส่งข้อมูลให้คณะกรรมการเปิดกรีดระดับตำบล หรืออำเภอ ตรวจสอบความถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ก่อนออกใบรับรอง และส่งข้อมูลให้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือ ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินแก่เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราต่อไป ซึ่งขณะนี้ มีหลายพื้นที่ในภาคใต้ เริ่มได้รับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐแล้ว