เป็นปัญหามานานร่วมเดือนที่ผ่านมา สำหรับระบบเติมเงินบัตรผ่านทางพิเศษ หรือ อีซี่พาส ซึ่งหลังดำเนินการแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง วันนี้(27 ก.ย.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ยืนยันว่า บัตร อีซี่พาส สามารถใช้งานได้แล้วตามปกติ
เป็นปัญหามานานร่วมเดือนที่ผ่านมา สำหรับระบบเติมเงินบัตรผ่านทางพิเศษ หรือ อีซี่พาส ซึ่งหลังดำเนินการแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง วันนี้(27 ก.ย.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ยืนยันว่า บัตรอีซี่พาส สามารถใช้งานได้แล้วตามปกติ
หลังจากระบบเก็บค่าผ่านทางพิเศษอัตโนมัติ หรือ Easy Pass ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ กทพ. ประสบปัญหา โดยเฉพาะระบบเติมเงินไม่เข้า ตัวเลขยอดเงินในแต่ละด่านแตกต่างกัน หลังมีการปรับขึ้นค่าผ่านทางพิเศษตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา กลายเป็นโจทย์ที่ กทพ. ต้องเร่งแก้ไข จากเสียงร้องเรียนของผู้ใช้บริการทางด่วน รวมทั้ง เจ้ากระทรวงคมนาคม อย่างนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่จับตาเรื่องนี้เป็นพิเศษ และให้เวลาแก้ปัญหาภายใน 1 เดือน
ล่าสุด ผู้ว่า กทพ. ออกมายืนยันอีกครั้งว่า สามารถแก้ไขปัญหา Easy Pass ได้แล้ว พร้อมพาสื่อมวลชน ร่วมทดสอบการใช้ Easy Pass จากด่านเก็บค่าผ่านทาง รวดเดียว 7 ด่าน เริ่มจากทางด่วนสายหลัก 3 สาย คือ ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) ทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์) และทางพิเศษศรีรัช (ทางดวนขั้นที่ 2) ปรากฏทุกด่าน แสดงตัวเลขการตัดเงินแม่นยำ ถูกต้อง
พร้อมกันนี้ ยังสาธิตการเติมเงิน ที่บริเวณอาคารด่านเก็บเงินโยธินพัฒนา โดยเติมเงินในบัตรถึง 4 ใบ ใบละ 500 บาท ซึ่งปรากฏยอดเงินเข้าระบบ ภายใน 5-10 นาที หลังปรับปรุงระบบและอุปกรณ์ต่างๆ ให้ตอบสนองการรับ-ส่งข้อมูลเร็วขึ้น จากเดิมใช้เวลานาน 15 นาที ทำให้ป้ายแจ้งยอดเงินคงเหลือ แสดงผลได้ถูกต้อง รวดเร็วมากขึ้น
รวมทั้ง ยังรองรับการใช้งานของ Easy Pass เพิ่มเป็น 1 ล้านรายการต่อวัน จากเดิม 5 แสนรายการต่อวัน และสามารถเติมเงินได้ตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ ซึ่งเป็นการยืนยันว่า Easy Pass สามารถใช้งานได้แล้วตามปกติ
นอกจากนี้ 2 สาเหตุใหญ่ ที่ผู้ใช้บริการไม่สามารถผ่านช่องทาง Easy Pass เพราะไม้กั้นไม่เปิด จากการติดตั้งบัตร Easy Pass ไม่ถูกวิธี ไม่อยู่ในจุดที่กำหนด แต่กลับนำออกมาโบกนอกตัวรถ ซึ่งมีสูงถึงร้อยละ 70 รวมถึงกรณีเงินในบัตรไม่เพียงพอ ประมาณร้อยละ 20 ที่เหลืออีก ร้อยละ 10 เป็นสาเหตุอื่น เช่น ฟิล์มกรองแสง มีความเข้มเกินไป หรือบัตรชำรุด ซึ่ง กทพ. จะประชาสัมพันธ์ และทำความเข้าใจกับประชาชนต่อไป
ระบบ Easy Pass เปิดให้บริการ ตั้งแต่ 31 มกราคม 2553 ปัจจุบัน มีช่องทาง Easy Pass บนทางด่วน 272 ช่องทาง มีรถยนต์ใช้บริการ มากกว่า 4.5 แสนเที่ยวต่อวัน ซึ่ง กทพ.เตรียมพัฒนาระบบเชื่อมต่อกับเส้นทางกรมทางหลวง ที่คาดว่า มีปริมาณจราจร 5 หมื่นเที่ยวต่อวัน และรองรับระบบตั๋วร่วมของกระทรวงคมนาคม รวมถึงการติดตั้งระบบซอฟต์แวร์ ตรวจความเร็วในการรับส่งข้อมูล ปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ควบคุมบนอาคารด่าน ซึ่งคาดว่า จะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีนี้ถึงกลางปีหน้า
ดังนั้น การแก้ปัญหาครั้งนี้ น่าจะทำให้คนกรุงเทพฯ ผู้ใช้บัตร Easy Pass มีความสบายใจมากขึ้น แต่ปัญหาที่หลายคนต้องการให้แก้ไขด้วย นั่นก็คือ ปัญหาความคล่องตัวของการจราจรบนทางด่วน ให้สมกับชื่อ ทางด่วน หรือ ทางพิเศษนั่นเอง