ไม่พบผลการค้นหา
ภูฏานประกาศตัวว่าเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดประเทศหนึ่งของโลก โดยวัด "ความสุข" นี้ด้วยดัชนีที่เรียกว่า "ดัชนีความสุขมวลรวมประชาชาติ" หรือ "GNH"

ภูฏานประกาศตัวว่าเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดประเทศหนึ่งของโลก โดยวัด "ความสุข" นี้ด้วยดัชนีที่เรียกว่า "ดัชนีความสุขมวลรวมประชาชาติ" หรือ "GNH" แต่วันนี้ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของภูฏาน กำลังตั้งคำถามว่า ภูฏานกำลังหลอกตัวเองหรือไม่?

คำว่า "ความสุขมวลรวมประชาชาติ" ตั้งขึ้นมาเมื่อประมาณ 40 ที่แล้ว โดยอดีตกษัตริย์ จิกมี ซิงเย วังชุก ประมุขของภูฏาน ซึ่งเป็นพระราชบิดาของกษัตริย์องค์ปัจจุบัน คือ กษัตริย์จิกมี นัมเกล วังชุก หลังจากนั้นปรัชญาความสุขมวลรวมประชาชาติ หรือ "GNH" ก็ถูกใช้เป็นเป้าหมายของนโยบายรัฐบาลภูฏานเรื่อยมา

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ภูฏานยอมให้มีการเลือกตั้งได้ไม่กี่ปี ปีนี้ภูฏานก็ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ คือนายเชอริง ทบไก ซึ่งเคยเป็นผู้นำฝ่ายค้านมาก่อน และนายทบไกก็กำลังตั้งคำถามต่อปรัชญาความสุขมวลรวมประชาชาตินี้

นายทบไกกล่าวไว้ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งว่า รัฐบาลภูฏานให้ความสำคัญกับ GNH มากเกินไป ที่ผ่านมา นโยบายทุกอย่างถูกวางเพื่อนำไปสู่ GNH เช่น ประชาธิปไตยเพื่อความสุขมวลรวม สื่อเพื่อความสุขมวลรวม การศึกษาเพื่อความสุขมวลรวม การเกษตรอินทรีย์เพื่อความสุขมวลรวม และเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อความสุขมวลรวม

นายทบไกกล่าวเสริมว่า รัฐบาลได้ตั้ง "ผู้เชี่ยวชาญ" จำนวนมากมาศึกษาว่า ความสุขคืออะไร และจะสอนประชาชนให้มีความสุขได้อย่างไร กลายเป็นว่า ความสุขไม่ใช่ความรู้สึกของปัจเจกบุคคล แต่กลับเป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องได้รับการ "สอน" ให้รู้วิธีมีความสุข  

สิ่งที่นายทบไกพูด ชี้ให้เห็นความกลับตาลปัตรที่สำคัญ นั่นคือ แทนที่ประชาชนจะเป็นคนบอกรัฐบาลว่าความสุขของพวกเขาคืออะไร และรัฐบาลควรออกนโยบายอะไรมาเพื่อสร้างความสุขให้ กลับกลายเป็นว่า รัฐบาลเป็นผู้มาบอกประชาชนว่าควรมีความสุขกับอะไร และควรมีวิถีชีวิตแบบใดจึงจะมีความสุข

ความคิดแบบกลับตาลปัตรนี้ยิ่งดูเป็นตลกร้าย เมื่อประชาชนชาวภูฏานส่วนใหญ่ยังอยู่กับความยากจน ไม่มีเงินรักษาพยาบาล ไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐ และคอรัปชั่นก็ยังเป็นปัญหาเรื้อรัง แต่คนรวยเพียงหยิบมือหนึ่งในประเทศ กลับบอกให้คนจนรู้จักมีความสุขกับสิ่งที่มีอยู่ รู้จักมีความสุขในความจน และอย่าได้เรียกร้องอะไรจากรัฐมากเกินไป

นายซันไก ดอร์เจ ชาวภูฏานคนหนึ่งกล่าวว่า ทุกวันนี้ชาวภูฏานก็ยังยากจน ขาดสารอาหาร และคอรัปชั่นในวงราชการก็ยังสูงลิ่ว เขาถามว่า "ไหนล่ะคือความสุข?" เขากล่าวต่อว่า ในภูฏาน ความสุขนั้นผูกขาดโดยผู้มีอำนาจ พวกเขาขับรถหรู มีบ้านหลังใหญ่ เป็นเจ้าของร้านอาหารและโรงแรม กษัตริย์องค์ก่อนก็มีพระชายาถึง 5 พระองค์ ในขณะที่คน 1 ใน 6 ของประเทศต้องอพยพหนีความจนออกนอกประเทศ

ตามข้อมูลของ CIA World Factbook ประเทศภูฏานมีอัตราการตายของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ สูงกว่าซิมบับเว นามิเบีย และบอตสวานา และมีอายุขัยเฉลี่ยประชากรต่ำกว่าอิรัก และเกาหลีเหนือ อาชญากรรมและปัญหายาเสพติดในภูฏานก็แพร่หลาย และอัตราการเป็นโรคตับก็อยู่ในเกณฑ์น่าเป็นห่วง

นายกรัฐมนตรีทบไก กล่าวว่า แม้ว่าความเติบโตทางเศรษฐกิจจะไม่ใช่เป้าหมายเดียว และไม่สามารถแก้ปัญหาทุกอย่างได้ แต่การที่รัฐบาลภูฏานที่ผ่านๆ มาหมกมุ่นอยู่กับ GNH ทำให้ละเลยปัญหาคนตกงาน ปัญหาคอรัปชั่น และปัญหาหนี้สิน จนมันรุนแรงเรื้อรังถึงทุกวันนี้

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
182Article
76558Video
0Blog