สโลแกนของอาเซียน กับสโลแกนของสหภาพยุโรป แสดงถึงแนวคิดที่ต่างกันระหว่างสองประชาคมนี้พอสมควร ความแตกต่างทางแนวคิดนี้คืออะไร และใครคิดผิด หรือคิดถูก
สโลแกนของประชาคมอาเซียนคือ "One Vision, One Identity, One Community" หรือ "หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตลักษณ์ หนึ่งชุมชน" ซึ่งสื่อว่าประเทศสมาชิกอาเซียนต้องเป็นชุมชนเดียวกัน มีอัตลักษณ์เดียวกัน และมีวิสัยทัศน์มองอนาคตร่วมกัน
ในทางตรงกันข้าม สโลแกนของสหภาพยุโรปคือ "Unity in Diversity" หรือ "เอกภาพบนความหลากหลาย" ซึ่งสื่อว่าสมาชิกแต่ละประเทศมีอัตลักษณ์ต่างกันได้ แต่ก็ต้องมีเอกภาพ
แนวคิดของอาเซียนและของอียูจึงต่างกันอยู่พอสมควร อียูมองว่าความหลากหลายทางเชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรมนั้นไม่เป็นปัญหา เพราะคนต่างเชื้อชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม สามารถอยู่ภายใต้รัฐบาล และกฎหมายเดียวกันได้ ในแง่นี้อียูมองตัวเองว่าเป็นเพียงรัฐบาลระหว่างประเทศ ที่มีหน้าที่ไกล่เกลี่ยผลประโยชน์ระหว่างประเทศสมาชิก และต่อรองผลประโยชน์กับนานาชาติเพื่อประโยชน์โดยรวมของสมาชิก แต่ไม่มีหน้าที่หลอมรวมอัตลักษณ์ของประเทศสมาชิกให้เป็นอัตลักษณ์เดียว
ส่วนอาเซียนนั้นมองว่ากลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลาย ไม่สามารถอยู่ร่วมกันภายใต้รัฐบาลเดียวได้ ตราบใดที่แต่ละคนไม่หลอมรวมให้มีอัตลักษณ์เดียวกัน การรวมกลุ่มจึงต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข "หนึ่งอัตลักษณ์ หนึ่งชุมชน" แนวคิดนี้อาจมาจากการมอง "ชาติ" หรือ "รัฐ" เป็นการรวมตัวของคนที่มีลักษณะทางวัฒนธรรมร่วมกัน เช่น เชื้อชาติเดียวกัน ศาสนาเดียวกัน หรือภาษาเดียวกัน ผู้ที่มองเช่นนี้จึงอาจมองว่ารัฐบาลภูมิภาคอย่างอาเซียน เป็นการรวมตัวของคนที่มีลักษณะทางวัฒนธรรมร่วมกัน
แต่ในโลกปัจจุบัน การมองว่าคนชาติเดียวกันต้องมีลักษณะทางวัฒนธรรมบางอย่างร่วมกัน เริ่มล้าหลังแล้ว โลกปัจจุบันยอมรับสังคมพหุวัฒนธรรม ที่มองคนในสังคม ไม่จำเป็นต้องมีลักษณะทางวัฒนธรรมใดร่วมกัน รัฐหรือชาติ ไม่ได้เป็นอะไรมากกว่ากลไกไกล่เกลี่ยผลประโยชน์ระหว่างสมาชิกของสังคม และต่อรองเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของคนในสังคม
อินโดนีเซียวันนี้ใช้สโลแกน "เอกภาพบนความหลากหลาย" เป็นสโลแกนประเทศ และเขียนสโลแกนนี้อยู่บนธงชาติด้วย ทั้งนี้เพราะอินโดนีเซียมีความหลากหลายทางศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม และคนทุกวัฒนธรรมก็สามารถร่วมมือกันภายใต้ระบบกฎหมายเดียว โดยไม่ต้องมีอัตลักษณ์ร่วมกัน
ในทำนองเดียวกัน ปาปัวนิวกินี ซึ่งเต็มไปด้วยคนหลายชนเผ่า ก็ใช้สโลแกนนี้เป็นสโลแกนประเทศเช่นกัน แทนที่จะเน้นการหลอมรวมอัตลักษณ์คนแต่ละประเทศให้เป็นหนึ่ง อาเซียนควรเน้นส่งเสริมความอดทนอดกลั้นต่อวัฒนธรรมที่แตกต่าง พร้อมเน้นย้ำว่า ความแตกต่างทางวัฒนธรรมไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเป็นประชากรอาเซียนร่วมกันแต่อย่างใด