ไม่พบผลการค้นหา

World

พฤติกรรมติดแบรนด์
Sep 12, 2013
( Last update Sep 12, 2013 01:14 )
ปัจจุบันนี้ ผู้บริโภคมีทางเลือกมากมายในการเลือกซื้อสินค้า และผู้บริโภคส่วนหนึ่งก็เลือกซื้อสินค้าเฉพาะจากแบรนด์ที่ชื่นชอบ โดยไม่เปรียบเทียบกับแบรนด์ทางเลือกอื่น ๆ

ปัจจุบันนี้ ผู้บริโภคมีทางเลือกมากมายในการเลือกซื้อสินค้า และผู้บริโภคส่วนหนึ่งก็เลือกซื้อสินค้าเฉพาะจากแบรนด์ที่ชื่นชอบ โดยไม่เปรียบเทียบกับแบรนด์ทางเลือกอื่น ๆ วันนี้เราจะพาไปดูเหตุผลที่ทำให้ผู้คนนิยมซื้อสินค้าแบรนด์ดัง รวมถึงข้อดี-ข้อเสียของสินค้าเหล่านี้

แม้ปัจจุบัน ผู้บริโภคจะมีทางเลือกมากมายในการซื้อสินค้า แต่ผู้บริโภคส่วนหนึ่งก็เลือกซื้อสินค้าเฉพาะจากแบรนด์ที่ชื่นชอบ โดยไม่พิจารณาเปรียบเทียบคุณภาพ และราคากับแบรนด์ทางเลือกอื่น ๆ นั่นเป็นเพราะพวกเขาไม่ได้ต้องการเป็นเจ้าของสินค้าชิ้นนั้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องการเป็นเจ้าของสินค้าเฉพาะจากแบรนด์นั้นเท่านั้นอีกด้วย เรียกได้ว่า เป็นพฤติกรรมติดแบรนด์ของผู้บริโภคนั่นเอง

หลายครั้งที่เห็นผู้บริโภคบางรายตัดสินใจซื้อรถยนต์ กระเป๋า โทรศัพท์มือถือ หรือแม้แต่กาแฟ จากแบรนด์ที่เป็นที่นิยมโดยไม่คำนึงถึงงบประมาณ และความจำเป็น ซึ่งนักวางกลยุทธ์แบรนด์ในสหรัฐฯ อธิบายว่า ผู้บริโภคมักผนวกการตลาดของแบรนด์เข้ากับอัตลักษณ์ทางสังคม

พวกเขากำหนดอัตลักษณ์ของตนเองจากการเลือกใช้สินค้าและบริการ ขณะเดียวกันก็ตัดสินอัตลักษณ์ของผู้อื่นจากการเลือกใช้สินค้าและบริการเช่นกัน

เรื่องนี้อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ ความคิดนี้มีขึ้นตั้งแต่ยุคที่มีการโฆษณาสินค้า ทุกอย่างเกิดขึ้นจากการวางแผนการตลาด ผู้บริโภคจำนวนมากเลือกจ่ายแพงกว่า เพื่อซื้อแบรนด์มีระดับ โดยเชื่อว่าจะได้สินค้าที่มีคุณภาพสูงกว่า และบ่งบอกรสนิยมที่ดีกว่า

แล้วสินค้าแบรนด์ดังมีคุณภาพดีกว่าสินค้าทั่วไปจริงหรือ? เป็นไปได้ ในบางกรณีสินค้าที่แพงกว่าเป็นสินค้าที่ใช้วัสดุดีกว่าในการผลิต ทำให้ทนทาน และคุ้มค่าเงิน แต่ในหลายกรณี ก็เป็นการเปลืองโดยใช่เหตุ เพราะฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า ข้อดีของการซื้อสินค้าแบรนด์ดัง คือได้ของที่มีคุณภาพ แต่ข้อเสียคือการใช้เงินมากเกินความจำเป็น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่มีรายได้ไม่เพียงพอ จะทำให้ไม่เกิดการออม และใช้เงินอนาคตมากกว่าปกติ ทั้งจากเครดิตและเงินเก็บเกษียณอายุ

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินกล่าวว่า มูลค่าสินค้าขึ้นอยู่กับการตีความของผู้บริโภคเอง บางคนเลือกใช้เงินเดือนแทบทั้งเดือนไปกับกระเป๋า และรองเท้าจากแบรนด์แฟชั่นชั้นสูง ทั้งที่แบรนด์ธรรมดาก็สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้ พฤติกรรมการบริโภคเช่นนี้เกิดขึ้นกับสินค้าอีกหลายชนิด ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือ ไปจนถึงน้ำและอาหาร

อาหารเป็นอย่างแรกที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้เลือกแบรนด์ราคาถูกกว่า เมื่อต้องการตัดรายจ่าย ปัจจุบัน ห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ เริ่มมีแบรนด์น้ำ แบรนด์อาหารเป็นของตนเอง และราคาถูกกว่าสินค้าแบรนด์ดัง การเลือกเปลี่ยนไปซื้อสินค้าเหล่านี้จะทำให้ประหยัดรายจ่ายได้มาก เป็นการสร้างนิสัยการออมได้ดี

ล่าสุด มีการศึกษาพบว่า ผู้บริโภคไม่สามารถจำแนกเสื้อแบรนด์เนมจากเสื้อราคาถูกได้ หากมีลักษณะคล้ายกัน และไม่แสดงฉลากหรือโลโก้ แสดงให้เห็นว่ามูลค่าของสินค้าขึ้นอยู่กับความรับรู้ของผู้บริโภคเป็นหลัก และหลายครั้งที่ผู้บริโภคคิดไปเองว่าสิ่งหนึ่งดีกว่าอีกสิ่งหนึ่ง

สุดท้าย ถ้าผู้บริโภคลองพิจารณาสินค้าหลาย ๆ แบรนด์ดู จะพบว่าตนเองมีทางเลือกมากกว่าที่คิด และยังทำให้สามารถประหยัดเงินได้มากอีกด้วย

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog