กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา จังหวัดศรีสะเกษ คัดค้านรัฐบาลจ่ายเงินชดเชยราคายาง แนะใช้วิธีประกันราคา
กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา จังหวัดศรีสะเกษ คัดค้านรัฐบาลจ่ายเงินชดเชยราคายาง แนะใช้วิธีประกันราคา ระบุหากไม่ได้ที่เรียกร้อง พร้อมนำเครือข่ายร่วมชุมนุมใหญ่ ที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา 3 กันยายนนี้
นายภาคภูเบศ พวงมาลี ประธานเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรสวนยางพารา พร้อมด้วย เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เดินทางยื่นหนังสือข้อเรียกร้อง ผ่านนายโสภณ ดำนุ้ย ที่ปรึกษารองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ขอให้รัฐบาลประกันราคายางพารา แทนการชดเชยราคา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราทั่วประเทศ ป้องกันการขาดทุน และสูญเสียงบประมาณแผ่นดิน
นายภาคภูเบศ กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ในรูปแบบของการทำประกันราคายาง โดยกำหนดราคา
- ยางก้อนถ้วยที่กิโลกรัมละ 85- 90 บาท
- ยางแผ่นดิบ ชั้น 3 กิโลกรัมละ 100 บาท
- ยางแผ่นดิบ ชั้น 4 กิโลกรัมละ 58-90 บาท
- ยางรมควัน กิโลกรัมละ 104 บาท
ซึ่ง จังหวัดศรีสะเกษ มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนปลูกยาง จำนวน 2.8 แสนไร่ เป็นเงินกว่า 350 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมพื้นที่ปลูกยางที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน ดังนั้น หากรัฐบาลชดเชยราคายาง จะต้องจ่ายเงินชดเชยประมาณ 700 ล้านบาท
โดยเงินจำนวนนี้ หากรัฐบาลนำมาประกันราคายาง ในแบบซื้อมาขายไป จะทำให้เงินยังหมุนเวียนอยู่ในระบบ มากกว่าการชดเชยราคา และรัฐบาลไม่ต้องสูญเสียงบประมาณซ้ำซ้อน เพราะลงทุนครั้งเดียว แต่สามารถช่วยเกษตรกรได้อย่างถาวร
ทั้งนี้ หากรัฐบาล ไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้อง ทางเครือข่ายฯ ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ประมาณ 500 คน จะเดินทางไปสมทบกับกลุ่มชาวสวนยางพารา ที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ในวันที่ 3 กันยายน โดยจะรอฟังมติที่ประชุมใหญ่อีกครั้ง ก่อนเดินทางในวันที่ 2 กันยายนนี้
ด้านที่ปรึกษา รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ระบุว่า จะนำหนังสือข้อเรียกร้องนี้ ยื่นให้แก่รัฐบาล เพื่อพิจารณาโดยเร็ว